posttoday

เร่งกฎหมายวิชาชีพการประเมินราคาทรัพย์สิน ผ่าน ครม. ชุดก่อนบังคับใช้โดยเร็ว

02 ตุลาคม 2562

สมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินฯ แจงปม 'สินเชื่อเงินทอน' ประเมินราคาทรัยพ์ฯสูงเกินจริง ปัจจัยหลักธปท.ออกมาตรการ LVT ทำอสังหาฯชะงัก พร้อมจัดงานประชุมสภานักประเมินราคาแห่งอาเซียน ครั้งที่ 22

สมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินฯ แจง 'สินเชื่อเงินทอน' ประเมินราคาทรัยพ์ฯสูงเกินจริง ปัจจัยหลักธปท.ออกมาตรการ LVT ทำอสังหาฯชะงัก พร้อมจัดงานประชุมสภานักประเมินราคาแห่งอาเซียน ครั้งที่ 22

นายกิตติ พัฒนพงศ์พิบูล ประธานสมาคมผู้ประเมินราคาแห่งอาเซียน เปิดเผยว่า สมาคมผู้ประเมินราคาแห่งอาเซียนThe ASEAN Valuers Association (AVA) ก่อตั้งในปี 2524 ปัจจุบันมี ประเทศสมาชิก 8 ประเทศในอาเซียนและลาว และพม่า มีสถานะเป็นผู้สังเกตการณ์

สำหรับ AVA จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การพัฒนามาตรฐาน การนำเทคโนโลยี่ใหม่ๆ มาใช้ รวมถึงการแก้ปัญหาด้านการประเมินค่าทรัพย์สินของประเทศสมาชิก

นอกจากนี้ ยังเชื่อมโยงกับสมาคมผู้ประเมินค่าในภูมิภาคอื่นๆ อย่างเช่น เกาหลี ญี่ปุ่น หรือสมาคมในทวีปยุโรป ในการแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อนำความรู้ใหม่ๆ มาพัฒนามาตรฐานให้กับประเทศสมาชิก

"ในปีนี้ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นประธานอาเซียน สมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย จึงใช้โอกาสนี้เสนอต่อ AVA เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม สภานักประเมินราคาแห่งอาเซียน ครั้งที่ 22 ขึ้นในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 20-22 ตุลาคม 2562 ที่โรงแรมดุสิตธานี พัทยา ซึ่งผมได้รับเกียรติให้เป็นประธานสภานักประเมินราคาแห่งอาเซียนในระหว่างปี-2562-2563 นี้อีกด้วย" นายกิตติกล่าว

สำหรับการประชุมในครั้งนี้ จะเป็นโอกาสสำคัญต่อการผลักดันให้ไทยได้ยกระดับวิชาชีพการประเมินราคาทรัพย์สิน จากที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายควบคุมวิชาชีพการประเมินราคาทรัพย์สิน และไม่มีหน่วยงานตามกฎหมายที่จะกำกับดูแลมาตรฐานการประเมินราคา ประเทศไทยจึงได้เกิดปัญหาจากการประเมินราคาอยู่บ่อยครั้งตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

โดยทางสมาคมได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับมาร่วมประชุม เพื่อให้เห็นถึงความสำคัญในการมีกฎหมายควบคุมมาตรฐาน และพัฒนาการด้านต่างๆ ของการประเมินราคาทรัพย์สินในแต่ละประเทศสมาชิก AVA

นายกิตติ กล่าวว่า วิชาชีพการประเมินราคามีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ถ้าการประเมินขาดมาตรฐานที่ดี หรือมีปัญหาด้านจริยธรรมมีการประเมินราคาที่สูงเกินไปหรือต่ำเกินไปโดยไม่มี กฎหมายควบคุมก็จะเกิดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศไทย ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือ ช่วงก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศในปี 2540 ได้มีการประเมินราคาหลักประกันที่สูงเกินจริง จนทำให้ ธนาคารเกิดความเสียหาย และเกิดเป็นปัญหาต่อระบบสถาบันการเงินและระบบเศรษฐกิจของประเทศครั้งใหญ่

"กรณีล่าสุด คือ การประเมินราคาหลักประกันที่อยู่อาศัยที่สูงเกินจริงหรือที่เรียกกันว่า สินเชื่อเงินทอน จนธนาคารแห่งประเทศไทยต้องออกแนวนโยบายในการกำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย หรือมาตรการ LTV จนเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อยู่ภาวะชะลอตัวอยู่ในขณะนี้ ซึ่งปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นจากการที่เราไม่มีเครื่องมือในการกำกับดูแล เหมือนวิชาชีพอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น แพทย์ สถาปนิก หรือวิศวกรจึงควรที่จะต้องเร่งผลักดันกฎหมายวิชาชีพการประเมินราคาทรัพย์สินซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีชุดที่แล้วให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว" นายกิตติ กล่าว

นายวราพงษ์ เกียรตินิยมรุ่ง นายกสมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย (VAT)กล่าวว่า สมาคมฯได้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2529 เป็นผลจากการเข้าเป็นสมาชิกกับ "สมาคมผู้ ประเมินราคาทรัพย์สินแห่งอาเซียน" จากมติดังกล่าวประเทศไทยในฐานะสมาชิกจึงต้องดำเนินการจัดตั้ง "สมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย" ขึ้นเพื่อทำหน้าที่ประสานงานกับสมาคมผู้ประเมินราคาทรัพย์สินแห่งอาเซียน

โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมการผลิตบุคลากรด้านการประเมินมูลค่าทรัพย์สินกำหนดและพัฒนามาตรฐานการประกอบวิชาชีพประเมินมูลค่าทรัพย์สิน ร่วมมือและประสานงานกับสมาคมผู้ประเมินราคาทรัพย์สินแห่งอาเซียนและสถาบันที่มีวัตถุประสงค์คล้ายคลึงกันทั้งภายในและภายนอกประเทศ

ด้วยพันธกิจพัฒนาและปรับปรุงมาตรฐานสำหรับการประกอบวิชาชีพประเมินมูลค่าทรัพย์สินสู่ระดับสากล สร้างความเชื่อมั่นต่อสมาชิกและผู้ใช้บริการในวิชาชีพประเมินมูลค่าทรัพย์สิน สมาคมจึงมีความประสงค์ในการผลักดันให้เกิดกฎหมายวิชาชีพการประเมินราคาทรัพย์สิน ซึ่งบทสรุปจากการประชุมสภานักประเมินราคาแห่งอาเซียน ครั้งที่ 22 นี้ จะนำไปสู่การผลักดันกฎหมายวิชาชีพการประเมินราคาทรัพย์สินในประเทศไทยให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป