posttoday

ก.ล.ต.จับมือ ตลท.-ส.นักวิเคราะห์ ตั้งเป้าผลิต 100 บทวิเคราะห์คุณภาพใน 3 ปี คาดเริ่มเผยแพร่ไตรมาส 4 ปีนี้

25 มิถุนายน 2562

น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต. ให้ความสำคัญกับการทำให้ตลาดทุนมีข้อมูลที่เพียงพอสำหรับผู้ลงทุนเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน บทวิเคราะห์หลักทรัพย์ที่จัดทำโดยผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ถือเป็นข้อมูลสำคัญที่ผู้ลงทุนสามารถใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเงินระยะยาวได้ อย่างไรก็ดี จำนวนบทวิเคราะห์ในปัจจุบันมักกระจุกตัวในหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ ดังนั้น มติคณะกรรมการ ก.ล.ต. เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2562 อนุมัติการสนับสนุนโครงการจัดทำบทวิเคราะห์สำหรับผู้ลงทุนร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยมีเป้าหมายเพิ่มบทวิเคราะห์ในอุตสาหกรรม ทั้ง 2 หน่วยงานจึงมอบหมายให้สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA)เป็นผู้บริหารจัดการโครงการ โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ (บล.)เป็นผู้จัดทำบทวิเคราะห์หลักทรัพย์ของบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่ไม่ได้รับความสนใจในการจัดทำบทวิเคราะห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทที่ยังไม่เคยได้รับการจัดทำบทวิเคราะห์มาก่อน

น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต. ให้ความสำคัญกับการทำให้ตลาดทุนมีข้อมูลที่เพียงพอสำหรับผู้ลงทุนเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน บทวิเคราะห์หลักทรัพย์ที่จัดทำโดยผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ถือเป็นข้อมูลสำคัญที่ผู้ลงทุนสามารถใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเงินระยะยาวได้ อย่างไรก็ดี จำนวนบทวิเคราะห์ในปัจจุบันมักกระจุกตัวในหลักทรัพย์ขนาดใหญ่

ดังนั้น มติคณะกรรมการ ก.ล.ต. เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2562 อนุมัติการสนับสนุนโครงการจัดทำบทวิเคราะห์สำหรับผู้ลงทุนร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยมีเป้าหมายเพิ่มบทวิเคราะห์ในอุตสาหกรรม ทั้ง 2 หน่วยงานจึงมอบหมายให้สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA)เป็นผู้บริหารจัดการโครงการ โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ (บล.)เป็นผู้จัดทำบทวิเคราะห์หลักทรัพย์ของบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่ไม่ได้รับความสนใจในการจัดทำบทวิเคราะห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทที่ยังไม่เคยได้รับการจัดทำบทวิเคราะห์มาก่อน

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลท.กล่าวว่า การจัดทำบทวิเคราะห์หลักทรัพย์ในปัจจุบันยังกระจุกตัวและไม่ครอบคลุมหลักทรัพย์คุณภาพที่มีอยู่อีกเป็นจำนวนมาก ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงได้หารือกับสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (สมาคมบล.) และ ก.ล.ต. เพื่อพัฒนาโครงการจัดทำบทวิเคราะห์สำหรับผู้ลงทุน ภายใต้ 3 เป้าหมาย คือ ครอบคลุม ขยายให้มีบทวิเคราะห์หลักทรัพย์ในกลุ่มหลักทรัพย์ที่น่าสนใจแต่ยังไม่มีบทวิเคราะห์ที่ครอบคลุม

เช่น หุ้นในดัชนีหุ้นยั่งยืน (SETTHSI) หุ้นในธุรกิจ Well-being หุ้นในอุตสาหกรรมที่น่าสนใจ หุ้นปัจจัยพื้นฐานดี คุณภาพ ส่งเสริมบทวิเคราะห์คุณภาพได้มาตรฐานของสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน เป็นข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจลงทุน และ เข้าถึง เผยแพร่บทวิเคราะห์ผ่าน media platform ต่าง ๆ ทั้งช่องทางของกลุ่มตลาดหลักทรัพย์และพันธมิตร รวมทั้งยังมีแผนจัดทำแหล่งรวมศูนย์บทวิเคราะห์และข้อมูลเกี่ยวกับหลักทรัพย์ดังกล่าว และจัดสัมมนาเพื่อให้ผู้ลงทุนได้มีโอกาสรับฟังข้อมูล และเข้าถึงข้อมูลจากบทวิเคราะห์หลักทรัพย์ได้เพิ่มขึ้น

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน กล่าวว่า โครงการดังกล่าว สมาคมนักวิเคราะห์ฯ จะเป็นผู้บริหารจัดการโครงการ และจะมีการคัดเลือกทีมวิจัยจากบริษัทหลักทรัพย์ที่มีคุณภาพพร้อมเข้ามารับช่วงการผลิตบทวิเคราะห์ตามแนวทางที่สมาคมฯ กำหนด จากนั้นสมาคมฯ จะเป็นผู้ตรวจทานควบคุมคุณภาพให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานก่อนนำส่งเข้าสู่ IAA Consensus เพื่อให้ผู้สนใจเข้าใช้ประโยชน์กันต่อไป

ทั้งนี้ คุณสมบัติของทีมวิจัยจาก บล. ผู้ร่วมโครงการต้องมีทีมงานนักวิเคราะห์ที่มีใบอนุญาต และปฏิบัติหน้าที่ด้านวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานไม่ต่ำกว่า 4 คน เพื่อให้มีความยั่งยืนที่จะดำเนินการรับช่วงผลิต รวมทั้งต้องมีกระบวนการตรวจทานควบคุมคุณภาพภายในทีมวิจัยก่อนส่งออกบทวิเคราะห์ และเป็นสมาชิกของสมาคมนักวิเคราะห์ฯ เพื่อให้สามารถมีโอกาสเข้าร่วมการติดตามพัฒนาความรู้และแนวทางการปฏิบัติงานที่ทันสถานการณ์

สำหรับโครงการจัดทำบทวิเคราะห์สำหรับผู้ลงทุนจะดำเนินการต่อเนื่อง 3 ปี โดยผลิต 100 บทวิเคราะห์ แบ่งเป็น 40 บทวิเคราะห์ในปีแรก และเพิ่มขึ้นในปีที่ 2-3 เป็น 70 และ 100 บทวิเคราะห์ตามลำดับ นอกจากนี้จะมีการเขียนบทวิเคราะห์รายงานความคืบหน้า ในทุกไตรมาส และจะเผยแพร่บทวิเคราะห์ผ่านช่องทางต่าง ๆ ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ก.ล.ต. IAA สำนักวิจัย และ บล. ผู้ผลิตบทวิจัยต่อไป โดยคาดว่าเริ่มเผยแพร่ในไตรมาส 4 ปี 2562