posttoday

กฎหมายควบคุมอาคาร ครอบคลุมเพียงพอหรือไม่ (จบ)

07 กุมภาพันธ์ 2562

สำหรับคุณสมบัติของผู้ที่จะมาทำการรื้อถอน ซึ่งในกฎหมายยังไม่มีการกำหนดคุณสมบัติเหล่านี้ไว้ แต่เจ้าพนักงานท้องถิ่นสามารถออกกฎหมายเกี่ยวข้องได้ว่า

เรื่อง ศ.ดร.อมร พิมานมาศ เลขาธิการ สภาวิศวกร

สำหรับคุณสมบัติของผู้ที่จะมาทำการรื้อถอน ซึ่งในกฎหมายยังไม่มีการกำหนดคุณสมบัติเหล่านี้ไว้ แต่เจ้าพนักงานท้องถิ่นสามารถออกกฎหมายเกี่ยวข้องได้ว่า ผู้ที่เข้ามาดำเนินการรื้อถอนได้นั้น ต้องเป็นผู้ประกอบการที่มีการขึ้นทะเบียน ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีข้อกำหนดให้ผู้ประกอบการทำการรื้อถอนมาขึ้นทะเบียน ตัวอย่างกรณีกรมทางหลวงชนบท เวลาจะจ้างใครให้มาทำงานให้ จะต้องมีการให้บริษัทหรือผู้ประกอบการเหล่านี้มาขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการกับกรมทางหลวงชนบทก่อน อย่างนี้เป็นต้น

ดังนั้น จึงอยากเสนอขอให้มีการ “ขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการรื้อถอนอาคาร” เพื่อให้เป็นมาตรการควบคุมที่เกี่ยวข้องในเรื่องของขั้นตอนการขออนุญาต ซึ่งจะมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่น ให้มีการจัดการขึ้นทะเบียน เวลาที่มีการอนุญาตก็จะให้ใช้ผู้ประกอบการที่ได้มีการขึ้นทะเบียนแล้ว การขึ้นทะเบียนมีข้อดีตรงที่ว่า ถ้าผู้ประกอบการรื้อถอนทำผิดสามารถพิจารณาเพิกถอนการขึ้นทะเบียนร่วมงานได้ เพราะฉะนั้นจึงถือเป็นการควบคุมผู้ประกอบการรื้อถอนอาคารได้ ที่ถือเป็นมาตรการในการกำกับดูแล ที่ผ่านมาสภาวิศวกรเคยมีการพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนท้องถิ่นและ กทม. และมีความคิดร่วมกันว่า ควรจะให้มีการทำการขึ้นทะเบียนและเกิดขึ้นโดยเร็ว

อย่างไรก็ตาม การขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการรื้อถอนอาคาร จะต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาการขึ้นทะเบียน ซึ่งแยกส่วนออกมาจากส่วนของผู้ขออนุญาตทำการรื้อถอนอาคาร กล่าวคือ เมื่อมีการดำเนินการโดยผู้ขออนุญาตทำการรื้อถอนอาคาร จะต้องมีการระบุผู้ที่รื้อถอนและต้องเป็นผู้ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนไว้เรียบร้อยแล้วไว้ด้วย ถ้าเป็นผู้รับเหมารื้อถอนอาคารที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ก็จะไม่สามารถได้รับอนุญาตจากท้องถิ่นให้มาดำเนินการรื้อถอนได้

เหล่านี้จึงเป็นจุดอ่อนในการรื้อถอนอาคารที่ปัจจุบันจะเป็นผู้ประกอบการใด ใครก็ได้ที่ประกาศตัวว่าเป็นผู้รับเหมารื้อถอนอาคาร และก่อให้เกิดปัญหาเรื่องการรื้อถอนตามมาในภายหลัง ประกอบกับผู้ประกอบการอาจจะไม่มีประสบการณ์ที่มากพอ และไม่มีเครื่องมืออุปกรณ์ที่ให้ความปลอดภัยเพียงพอ ทางสภาวิศวกรได้เสนอเรื่องการเพิ่มกฎระเบียบเรื่องการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการผู้รับเหมารื้อถอนอาคารนี้ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไข

พร้อมกับเสนอเรื่องการบังคับใช้ภายหลังจากที่ได้รับใบอนุญาตจากท้องถิ่นให้ดำเนินการรื้อถอนไปแล้ว จะต้องมีวิธีการตรวจติดตามว่า ได้มีการดำเนินการไปตามที่ได้รับอนุญาตหรือไม่ โดยจะเป็นการสุ่มตรวจ เช่น มีนายตรวจไปติดตามตรวจดู กล่าวคือ ในการขออนุญาต ก่อนที่ทางผู้จะได้รับใบอนุญาตรื้อถอน จะต้องมีการออกแบบการรื้อถอนให้เรียบร้อยเสียก่อน แล้วในขั้นตอนการบังคับใช้ ในส่วนของท้องถิ่นจะต้องส่งคนเข้าไปตรวจ หรืออาจเรียกว่า นายตรวจ โดยตรวจในระหว่างการรื้อถอนแบบการสุ่มตรวจ ซึ่งจะมีความถี่มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของชุมชน ถ้าใกล้ชุมชน มีผู้สัญจรไปมามาก มีความเสี่ยงอยู่มาก ในระหว่างการรื้อถอนอยู่นั้น มีวิศวกรควบคุมอยู่ด้วยหรือไม่ มีเครื่องมือรื้อถอนตามที่ได้ขออนุญาตหรือไม่ หรือต้องขอเข้าไปดูในขั้นตอนการรื้อถอนว่าทำถูกต้องหรือไม่ แม้แต่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล จำเป็นต้องสุ่มตรวจ เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาและทำให้มีผู้เสียชีวิตได้

ขณะที่บทลงโทษของผู้กระทำผิดกับผู้ประกอบการรื้อถอนอาคาร ปัจจุบันมีกฎหมายอาญาทำหน้าที่ควบคุมดูแลอยู่แล้วในกรณีที่มีการรื้อถอนแล้วทำให้เกิดการเสียชีวิต แต่ถ้าเกี่ยวข้องกับ “วิศวกร” ที่เกี่ยวข้องโดยตรง จะมีกฎหมาย พ.ร.บ.วิศวกร ควบคุมอยู่ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องจรรยาบรรณวิศวกร ส่วนเจ้าของอาคารถ้ามีความผิด จะถูกระงับการรื้อถอนอาคารหรือแม้กระทั่งถอนใบอนุญาตไม่ให้รื้อถอน หรือถ้าในกรณีต่อไปมีเรื่องการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการรื้อถอนอาคาร สามารถที่จะถอดทะเบียนและไม่ต่อใบอนุญาตการขึ้นทะเบียนให้

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่ยังไม่มีบทกฎหมายเพิ่มเติมดังที่กล่าวมาในข้างต้น ท้องถิ่นจะต้องบังคับใช้อย่างเข้มงวดในการตรวจอย่างสม่ำเสมอ หรือถ้ากำลังผู้ตรวจไม่พอ ก็สามารถขอกำลังคนมายังสภาวิศวกรเพื่อส่งคนไปช่วยตรวจสอบ ส่วนประชาชนควรต้องระมัดระวังอย่างมาก เนื่องจากบริเวณใดก็ตามที่มีการรื้อถอน จะเป็นบริเวณพื้นที่ที่มีความเสี่ยงทั้งหมด และถือเป็นพื้นที่อันตราย ที่ไม่สามารถลดความเสี่ยงให้เป็นศูนย์ได้ ยิ่งอยู่ในพื้นที่ที่เครื่องจักรกำลังทำงานยิ่งเป็นอันตรายมาก ดังนั้นจึงไม่ควรเข้าไปอยู่ใกล้ และหลีกเลี่ยงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด

จึงสรุปได้ว่า ในกรณีถอดบทเรียนจากการรื้อถอนอาคารเก่าพังถล่ม เพื่อป้องกันปัญหาตามมาในอนาคต จึงควรมีการเพิ่มตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้มีความชัดเจน และเข้มงวด