posttoday

เอกชนพอใจเกณฑ์ธปท.คุมกู้สินเชื่อซื้อบ้าน

10 พฤศจิกายน 2561

เอกชนพอใจเกณฑ์ธปท.คุมกู้สินเชื่อซื้อบ้าน กำจัดปัจจัยแวดล้อมการเก็งกำไร

เอกชนพอใจเกณฑ์ธปท.คุมกู้สินเชื่อซื้อบ้าน กำจัดปัจจัยแวดล้อมการเก็งกำไร

จาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกํากับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า มาตรการที่ ธปท.ออกดูแลความเสี่ยงการปล่อยกู้สินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นมาตรการเชิงป้องกันความเสี่ยงและสร้างมาตรฐาน แต่เพื่อไม่ให้มาตรการกระทบกับระบบ จึงได้ปรับปรุง ทั้งเลื่อนการใช้เพื่อให้ปรับตัว การผ่อนปรนเกณฑ์สัญญาที่ 2 ให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์คนเมือง ยกเว้นท็อปอัพของประกันและเอสเอ็มอี รวมทั้งคำนึงถึงประชาชนที่ทำสัญญาซื้อขายแล้วก่อนออกเกณฑ์ใหม่

ทั้งนี้ ได้ประเมินผลกระทบเบื้องต้น พบว่า ในแต่ละปีจะมีการปล่อยสินเชื่อใหม่ประมาณ 1 แสนสัญญา มูลค่า 3 แสนล้านบาท โดยพบว่าเกือบ 90% ของสัญญา เป็นการกู้สัญญาแรกที่มูลค่าต่ำกว่า 10 ล้านบาท กลุ่มนี้ไม่ถูกกระทบเลย ส่วนกลุ่มที่กระทบโดยตรงมี 6% ซึ่งเป็นคนกู้บ้านสัญญาที่ 3 ขึ้นไปในทุกมูลค่ารวมทั้งคนที่กู้ซื้อบ้าน 10 ล้านบาทขึ้นไปก็อยู่กลุ่มนี้ ขณะที่อีก 7% เป็นผู้กู้สัญญาที่ 2 และราคาบ้านต่ำกว่า 10 ล้านบาท อาจต้องปรับตัวบ้าง

ณัฐพล ลือพร้อมชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า การปรับปรุงเกณฑ์ที่ผ่อนปรนมากขึ้นเป็นผลดีกับผู้บริโภค ช่วยคุ้มครองคนที่ต้องการซื้ออยู่จริง อย่างเกณฑ์บ้านสัญญาที่ 2 ให้ดาวน์เหลือ 10% ถ้าสัญญาแรกผ่อนเกิน 3 ปี เป็นเกณฑ์ที่ฉลาดมากในการแยกคนกู้บ้านที่จำเป็นกับเก็งกำไรออกจากกัน ซึ่งการเลื่อนออกไป 3 เดือนก็เหมาะสม เพราะธนาคารต้องปรับระบบคอมพิวเตอร์รองรับเกณฑ์ใหม่ด้วย

“เชื่อว่าเกณฑ์ที่ออกมาน่าจะเป็นธนาคารทำงานได้ง่ายขึ้น ส่วนดีมานด์เทียมเข้ามาได้ยากขึ้น เพราะต้องใช้ต้นทุนสูงมาก เข้าใจว่าเกณฑ์ครั้งนี้เป็นเกณฑ์แรกที่ออกมาเพื่อดูว่าสามารถกำจัดปัจจัยแวดล้อมการเก็งกำไร รวมทั้งสินเชื่อเงินทอนได้หรือไม่ เพราะคนที่ฉวยโอกาสเห็นว่ายุ่งยากอาจจะไปลงทุนทางอื่น เป็นเรื่องที่ดี เพราะสุดท้ายไม่ควรมองบ้านที่อยู่อาศัยเพื่อการลงทุนเป็นหลัก” ณัฐพล กล่าว

อธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า มาตรการที่ออกมาในครั้งนี้ถือว่าไปคุมเข้มบ้านจัดสรรทั้งๆ ที่ตลาดบ้านจัดสรรไม่มีการเก็งกำไร ผู้ซื้อต้องการอยู่อาศัยจริง ซึ่งเดิมที่อยู่อาศัยแนวราบ บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ อาคารพาณิชย์ กำหนดให้วางเงินดาวน์ 5% คอนโดมิเนียม 10% แต่เกณฑ์ใหม่กลับระบุว่า สินเชื่อที่อยู่อาศัยสัญญาที่ 2 ซึ่งไม่ได้แยกว่าเป็นที่อยู่อาศัยประเภทแนวราบแนวสูง ซึ่งเท่ากับว่าผู้ที่ขอสินเชื่อซื้อบ้านสัญญาที่ 2 จะต้องจ่ายเงินดาวน์เพิ่มเป็น 10% ขณะที่ระยะเวลาก่อสร้างหรือผ่อนดาวน์มีเพียง 6-7 เดือนเท่านั้น เมื่อเทียบกับคอนโดที่มีระยะเวลาผ่อนดาวน์นาน 1-2 ปี หรือมากกว่านั้น

อย่างไรก็ตาม ธปท.ถือว่ารับฟังผู้ประกอบการอยู่บ้าง โดยปรับแก้กฎเกณฑ์ตามที่ขอไปพอสมควร อาทิ การยืดเวลาประกาศใช้มาตรการไปเป็นวันที่ 1 เม.ย. 2562 ยกเว้นคนที่ทำสัญญาก่อนวันที่ 15 ต.ค. 2561 แต่กรณีสัญญากู้หลังที่ 3 กำหนดจ่ายเงินดาวน์ 30% ถือว่าเหนือความคาดหมาย แต่เชื่อว่า ธปท.ต้องการสกัดนักเก็งกำไรในตลาดอสังหาฯ

อธิป กล่าวต่อว่า มาตรการที่ ธปท.ออกมานี้เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดอย่างแน่นอน แต่จะมากหรือน้อยยังไม่สามารถระบุได้ เนื่องจากตลาดอสังหาฯ มีปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อตลาดหลายประการ โดยเฉพาะ 1.ภาวะเศรษฐกิจซึ่งเชื่อในปี 2562 เศรษฐกิจจะไม่ได้ดีนักจากภาคการส่งออกที่ลดลงจากสงครามการค้าโลก การท่องเที่ยวลดจากนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงไปจำนวนมาก 2.ยอดปฏิเสธสินเชื่อ
ที่ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคซื้อบ้านได้ ซึ่งหากธนาคารเข้มงวดมากก็จะทำตลาดอสังหาฯ ชะลอได้ 3.อัตราดอกเบี้ยในปี 2562 ที่คาดการณ์ว่าจะปรับขึ้นประมาณ 0.50% ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการซื้อของผู้บริโภคลดลงประมาณ 4%