posttoday

น้ำท่วมดันงานรับเหมาพุ่งจับตาราคาวัสดุจ่อขยับ

26 ตุลาคม 2553

หลังน้ำท่วมธุรกิจรับเหมาจะขยายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะผู้รับเหมารายย่อยที่เข้าไปรับงานปรับปรุงซ่อมแซม รวมถึงงานช่างประเภทต่างๆ....

หลังน้ำท่วมธุรกิจรับเหมาจะขยายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะผู้รับเหมารายย่อยที่เข้าไปรับงานปรับปรุงซ่อมแซม รวมถึงงานช่างประเภทต่างๆ....

โดย...สุกัญญา สินถิรศักดิ์

แม้หลายจังหวัดยังต้องเผชิญกับวิกฤตน้ำท่วมจนทำให้อาคารบ้านเรือนต่างได้รับความเสียหายในวงกว้าง แต่อีกมุมหนึ่งของวิกฤตมีโอกาสที่รออยู่หลังน้ำลดเมื่อถึงเวลาต้องฟื้นฟูเมือง บ้านเรือน ที่เสียหายจากกระแสน้ำ แน่นอนว่ารับเหมาก่อสร้างและวัสดุกลายเป็นธุรกิจที่จะได้รับประโยชน์ไปเต็มๆ และเริ่มปรากฏสัญญาณการปรับราคาขึ้นของวัสดุก่อสร้าง ด้วยปริมาณตามความต้องการใช้ที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต

ในเบื้องต้นมูลค่าความเสียหายในเชิงสิ่งปลูกสร้างเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง ซึ่งเป็นจุดแรกของอุทกภัยจะมีไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท และยังไม่นับรวมความเสียหายที่มีโอกาสเกิดขึ้นกับจังหวัดอื่นๆ ที่เสี่ยงกับภาวะน้ำท่วมในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

รับเหมาก่อสร้างงานเข้าหลังน้ำลง

แหล่งข่าวในธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ระบุว่า หลังน้ำท่วมธุรกิจรับเหมาจะขยายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะผู้รับเหมารายย่อยที่เข้าไปรับงานปรับปรุงซ่อมแซม รวมถึงงานช่างประเภทต่างๆ เช่น ช่างทาสี ช่างไม้ เป็นต้น

เช่นเดียวกับ วิโรจน์ เจริญตรา กรรมการผู้จัดการ บริษัท พรีบิลท์ ที่กล่าวว่า งานรับเหมามีแนวโน้มที่จะเติบโตตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอยู่ก่อนแล้ว ทั้งงานภาคเอกชน คอนโดมิเนียมเกิดใหม่ และงานของภาครัฐแต่เมื่อเกิดวิกฤตน้ำท่วมทำให้ต้องมีการปรับปรุงสิ่งปลูกสร้าง ระบบสาธารณูปโภค ถนนต่างๆ จึงเกิดงานก่อสร้างใหม่ๆ เข้ามาเป็นงานเร่งด่วน

น้ำท่วมดันงานรับเหมาพุ่งจับตาราคาวัสดุจ่อขยับ

“ผลกระทบดังกล่าวจะผลักดันให้ภาพรวมรับเหมาก่อสร้างสิ้นปีนี้เติบโตกว่าปีที่ผ่านมา ต่อเนื่องจนถึงปีหน้า ซึ่งคาดว่าจะได้เห็นตัวเลขการเติบโตไม่น้อยกว่า 20%”วิโรจน์ กล่าว

ราคาวัสดุจ่อขยับ-สินค้าขาดแคลน

ขณะที่ราคาวัสดุก่อสร้างจะปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นไปตามความต้องการการใช้งาน โดยจะเห็นได้ว่าวัสดุหลักอย่างคอนกรีตปรับราคาขึ้นแล้วประมาณ 10% ราคาเหล็ก ทองแดง ล้วนมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้น

อังสุรัสมิ์ อารีกุล อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูถัมภ์ กล่าวว่า หากประเมินเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางที่คาดว่ามูลค่าความเสียหายจากน้ำท่วมไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาทนั้นจะส่งผลให้ต้นทุนวัสดุก่อสร้างปรับตัวสูงขึ้น

โดยเฉพาะจังหวัดที่การเดินทางไม่สะดวก นอกจากจะต้องเผชิญกับต้นทุนราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับสูงขึ้นแล้ว อาจยังต้องเจอกับต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย

ส่วนงานก่อสร้างใหม่ที่แม้ว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะงานปรับปรุงต่างๆ ภายหลังจากที่น้ำลดลงแล้ว แต่ก็มีหลายงานก่อสร้างปัจจุบันทั้งในส่วนของภาครัฐและภาคเอกชนอาจต้องชะลอออกไปอย่างไม่มีกำหนด จากการเข้าพื้นที่งานก่อสร้างไม่ได้ ซึ่งต้องเจรจาขยายสัญญาการก่อสร้างออกไปชั่วคราว

สอดคล้องกับ วิบูล จันทรดิลกรัตน์ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน ที่ระบุว่า วัสดุก่อสร้าง เช่น อิฐมอญ อิฐแดง ที่มีแหล่งผลิตอยู่ในจังหวัดประสบภัยน้ำท่วม อาทิ สุพรรณบุรี อยุธยา และอ่างทอง เริ่มอยู่ในภาวะขาดตลาด ทั้งจากปัจจัยด้านความสามารถในการผลิตและการขนส่งไปยังพื้นที่ที่มีความต้องการใช้

น้ำท่วมดันงานรับเหมาพุ่งจับตาราคาวัสดุจ่อขยับ

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าผู้ประกอบการและผู้ค้าวัสดุก่อสร้างหลายรายคงจะไม่เอาเปรียบผู้บริโภคในการปรับราคาขึ้น เนื่องจากกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้ขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการอย่าเอาเปรียบผู้บริโภคด้วยการขึ้นราคา

แนะรัฐนำเข้าของนอกรับบาทแข็ง

อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยฯ ยังเสริมอีกว่า ภาครัฐควรอาศัยจังหวะค่าเงินบาทเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐและเงินยูโรแข็งค่าขึ้นเป็นโอกาสที่ดีในการเร่งสนับสนุนให้ผู้ประกอบการนำเข้าวัสดุก่อสร้างมาสต๊อกไว้ เพื่อรักษาระดับต้นทุนวัสดุก่อสร้างให้ใกล้เคียงเดิมจากประโยชน์ของส่วนต่างค่าเงิน

อย่างไรก็ตาม คุณวุฒิ ธรรมพรหมกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โฮมโปรดักส์ เซ็นเตอร์ กลับเห็นว่า ปัจจัยดังกล่าวไม่ได้เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้วัสดุก่อสร้างต้องปรับราคาขายสูงขึ้น ส่วนสินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการแข่งขันอย่างรุนแรงทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้นอย่าง เช่น โทรทัศน์ คาดว่าจะมีราคาขายที่ถูกลง

ส่วนการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศจะต้องคำนึงถึงความต้องการด้วย ไม่ได้หมายความว่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐที่แข็งค่าขึ้นนั้นจะเป็นผลให้ต้องเร่งนำเข้าวัสดุก่อสร้างต่างๆ มากขึ้นเสมอไป เพราะหากนำเข้าสินค้ามาโดยคำนึงถึงเรื่องราคาที่ถูก แต่ไม่ได้มีความต้องการ ก็จะกลายเป็นสต๊อกค้าง

เผย 3 ไตรมาสราคาวัสดุขยับ 1.1%

ทั้งนี้ จากการรายงานดัชนีราคาขายส่งวัสดุก่อสร้างรายไตรมาสของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ พบว่า ดัชนีรวมวัสดุก่อสร้างไตรมาส 3 ปี 2553 อยู่ที่ 141.1 ปรับขึ้น 1.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่ลดลง 0.4% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้ โดยวัสดุก่อสร้างประเภทเหล็กและผลิตภัณฑ์จากเหล็กปรับขึ้นมากที่สุด อยู่ที่ 4.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

รองลงมาเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา ปรับขึ้น 1.4% กระเบื้องและวัสดุประกอบ ปรับขึ้น 0.1% ส่วนดัชนีราคาซีเมนต์ในไตรมาส 3 ปีนี้ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 11.6% แต่เริ่มขยับขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้านี้แล้ว 1.9% เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์คอนกรีตที่ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 1.3% แต่ขยับขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้านี้แล้ว 0.3%

หากผลจากน้ำท่วมทำให้ราคาวัสดุขยับขึ้นจริง เท่ากับว่าเป็นการซ้ำเติมผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากวิกฤตน้ำท่วมที่ภาครัฐควรจะต้องเข้ามาดูแลไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้น