posttoday

นวัตกรรมและเทรนด์การออกแบบบ้าน ตอบโจทย์ชีวิตสมัยใหม่จากญี่ปุ่น

08 กันยายน 2561

ในเรื่องของสถาปัตยกรรมและการออกแบบ ประเทศญี่ปุ่นนั้นนับว่าเป็นประเทศหนึ่งที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

โดย ธนพล บางยี่ขัน  

ในเรื่องของสถาปัตยกรรมและการออกแบบ ประเทศญี่ปุ่นนั้นนับว่าเป็นประเทศหนึ่งที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นที่จับตามองและยอมรับของคนทั่วโลกว่ามีเอกลักษณ์ มีคุณภาพ มีความสร้างสรรค์ และยังมีความสวยงาม

การเดินทางไปสัมผัสศึกษาและดูงานสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์น เจแปน ที่สร้างผ่านเทคโนโลยีการผลิตบ้านสำเร็จรูป (Prefabricated Houses) รวมถึงการออกแบบที่ลงตัวของเหล่านิสิตนักศึกษา​ครึ่งร้อยชีวิตจากสายวิศวกรรมโยธา และด้านการตลาดของเมืองไทย มีมุมที่น่าสนใจในการนำกลับมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทยในอนาคต

บ้านไร้ผนัง ดีไซน์ที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง

นวัตกรรมและเทรนด์การออกแบบบ้าน ตอบโจทย์ชีวิตสมัยใหม่จากญี่ปุ่น

ชาวญี่ปุ่นได้รับการอบรมเลี้ยงดูจากรุ่นสู่รุ่นให้เป็นผู้ที่มีความพัฒนาในเรื่องของความคิดสร้างสรรค์อยู่ตลอดเวลา รวมถึงได้เรียนรู้และค้นพบความสวยงามของงานศิลปะจากธรรมชาติ และขณะเดียวกันก็ได้พัฒนาสร้างสรรค์เทคโนโลยีอันชาญฉลาดเพื่อปรับปรุง ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมให้มีมากยิ่งขึ้น

จากจุดเริ่มต้นเมื่อ 14 ปีก่อน กับคำสบประมาทที่ว่า “สวยแล้วจะอยู่ได้หรือไม่นั้น”

วันนี้ มูจิ (MUJI) แบรนด์ไร้แบรนด์ ที่ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้ามากมายหลายชนิด ตั้งแต่ข้าวของเครื่องใช้ เสื้อผ้า อาหาร เฟอร์นิเจอร์ เครื่องสำอาง ไปจนถึงรถยนต์ ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าพวกเขาสามารถสร้างบ้านขายและทำได้ดีจนสร้างบ้านที่ปะยี่ห้อมูจิ ปีละ 300 หลัง ทั่วประเทศญี่ปุ่น

ด้วยจุดเด่นด้านดีไซน์เฉพาะตัวของ​มูจิ ​กับเทคโนโลยีการผลิตบ้านสำเร็จรูป (Prefabricated Houses) หรือการผลิตชิ้นส่วนมาจากโรงงานและนำมาประกอบที่ไซต์งาน ซึ่งจะทำให้ประหยัดทั้งเวลาก่อสร้าง ลดต้นทุน แถมยังไม่สกปรกเลอะเทอะ ทำให้ บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) นำคณะนักศึกษาจากสถาบันเอพีอะคาเดมี่ในกิจกรรมเอพี โอเพ่นเฮ้าส์ 2018 บินข้ามน้ำข้ามทะเลมาถึงประเทศญี่ปุ่นเพื่อดูงานกันถึงทะคะระซุกะ (Takarazuka) เมืองเล็กๆ ไม่ไกลจากโอซากา​อันเป็นที่ตั้งบ้านต้นแบบของมูจิ

สุสุมุ ซาโต้ จากแผนกปฏิบัติการพื้นที่อยู่อาศัย (Dwelling Space operation Division) จาก​​มูจิ พาชมบ้านตัวอย่าง เดอะ วินโดว์ เฮ้าส์ (The Windows House) เริ่มจากมุมนั่งเล่นริมหน้าต่างขนาดใหญ่ซึ่งถือเป็นไฮไลต์ตามชื่อของบ้าน อันมีขนาดใหญ่กว่าหน้าต่างทั่วไป อีกทั้งด้วยดีไซน์ที่ไร้กรอบทำให้หน้าต่างที่ใหญ่อยู่แล้วยิ่งดูใหญ่ขึ้น

แรงบันดาลใจจากบ้านหน้าต่างนี้มาจากบ้านคอตสโวล์ดส (Cotswolds) ประเทศอังกฤษ ซึ่งทำจากหินและสามารถมองออกไปยังภายนอก การให้ความสำคัญกับหน้าต่างขนาดใหญ่ของมูจิ ก็เพราะต้องการให้มองออกไปเห็นธรรมชาติภายนอกและขณะเดียวกันภายนอกก็สามารถมองเข้ามาเห็นภายในได้ด้วย

นวัตกรรมและเทรนด์การออกแบบบ้าน ตอบโจทย์ชีวิตสมัยใหม่จากญี่ปุ่น

“กระจกที่ใช้จะเป็นกระจก 3 ชั้น เพื่อความแข็งแรงและควบคุณอุณหภูมิภายใน โดยสามารถปรับแต่งขนาดและตำแหน่งของหน้าต่างได้ตามความพอใจ เช่น หากบ้านอยู่ใกล้กับภูเขาก็สามารถทำหน้าต่างให้มองเห็นภูเขาได้ชัด แต่จะต้องขึ้นอยู่กับดีไซน์ที่มูจิออกแบบมาด้วยซึ่งมีประมาณ 3-4 แบบ”​

อีกจุดเด่นที่สำคัญของบ้านหน้าต่าง คือการไม่มีผนังกั้นห้องแต่เปิดกว้าง ทำให้พื้นที่ห้องครัว ห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหารเชื่อมต่อกันหมด จนทำให้บ้านขนาด 100 ตร.ม. ดูกว้างขวาง รับกับหน้าต่างขนาดใหญ่ ที่ทำให้ทุกพื้นที่สามารถมองออกไปภายนอกได้

สุสุมุ อธิบายว่า การออกแบบบ้านที่ไม่มีผนังเป็นการตอบโจทย์ความต้องการของผู้อยู่อาศัยที่ปกติเมื่อเวลาผ่านไปก็อยากปรับเปลี่ยนพื้นที่ภายในบ้านตัวเอง ​ดังนั้น หากเป็นบ้านปกติที่กั้นห้อง ก็ต้องทุบทิ้งและทำใหม่ การออกแบบบ้านให้ไม่มีผนังจึงทำให้ผู้อาศัยสามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่ภายในบ้านได้เองเรื่อยๆ ขึ้นกับไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน ที่สำคัญเมื่อบ้านไม่มีผนังก็ทำให้คนในบ้านสามารถมองเห็นกันและกันได้มากขึ้น

ด้านความแข็งแรงทนทานนั้น โครงสร้างของบ้านมูจิสามารถรองรับแผ่นดินไหวได้เกินกว่าที่มาตรฐานของญี่ปุ่นกำหนดไว้ โดยตั้งแต่ก่อสร้างมาไม่มีบ้านของมูจิได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวเลย สุสุมุชี้ชวนให้ดูช่องว่างเหนือห้องนั่งเล่นที่เชื่อมไปถึงชั้นสอง พร้อมระบุว่า

“ไม่ได้ออกแบบมาเท่ๆ แต่มีประโยชน์ใช้งาน คือช่องดังกล่าวนอกจากจะเพิ่มความโปร่งเชื่อมระหว่างชั้นหนึ่งและชั้นสองของบ้านแล้ว ยังเป็นช่องทางควบคุมอุณหภูมิภายในบ้านจนบ้านทั้งหลังสามารถใช้เครื่องปรับอากาศเพียงแค่ 2 เครื่องเท่านั้น”

ถัดมาที่บ้านสไตล์เดอะ วู้ด เฮ้าส์ (The Wood House) ​ซึ่งยังคงดีไซน์ความเป็นมูจิ แต่ที่แตกต่างชัดเจนคือโครงไม้เปลือยที่โชว์ลวดลายธรรมชาติ โดยข้อดีของบ้านชนิดนี้คือไม่มีสนิม ไม่งอ มีอายุการใช้งานยาวนานกว่า 100 ปี แถมยังมีอุปกรณ์หรืออะไหล่ที่ให้มาพร้อมเปลี่ยนหรือซ่อมแซมได้ด้วยตัวเองเมื่อชำรุดเสียหาย

นวัตกรรมและเทรนด์การออกแบบบ้าน ตอบโจทย์ชีวิตสมัยใหม่จากญี่ปุ่น

นับเป็นการออกแบบที่ผสมผสานระหว่างบ้านโบราณของญี่ปุ่น และเทคโนโลยีการเชื่อมต่อสมัยใหม่ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง คือระบบการสร้างบ้านสำเร็จรูป ขณะที่รายละเอียดต่างๆ ทั้งการจัดวางพื้นที่และอุปกรณ์ภายในยังคล้ายคลึงกับแบบ เดอะ วินโดว์ เฮ้าส์ โดยเฉพาะปรัชญาการออกแบบ “One Room House” ที่ไร้ผนังกั้นห้อง โดยใช้เฟอร์นิเจอร์ หรือฉากกั้นห้องแบบลอยตัวเพื่อแบ่งพื้นที่การใช้งาน และให้ผู้ใช้ปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการ

สุสุมุ กล่าวว่า ราคาก่อสร้างบ้านขนาด 100 ตร.ม. ไม่รวมที่ดินอยู่ที่ประมาณ 7 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นราคาที่ถูกเมื่อเทียบกับคุณภาพที่ได้ โดยสาเหตุที่ทำให้ราคาไม่แพงเพราะการก่อสร้างแบบ​ Prefabricated House คือวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ถูกตัดมาจากโรงงานพอดีทั้งไม้ เหล็ก ท่อ ฯลฯ ทำให้สามารถประกอบที่หน้างานได้รวดเร็ว​จนประหยัดเวลา

สำหรับระยะเวลาการก่อสร้างรวมทั้งหมดแค่ 11 เดือน โดยขั้นตอนที่นานที่สุดคือการออกแบบที่จะต้องพูดคุยกับผู้อยู่อาศัยเพื่อให้ออกแบบตรงกับความต้องการโดยใช้เวลา 5 เดือน ส่วนการเตรียมวัสดุใช้เวลาเพียงแค่เดือนกว่า และการประกอบใช้เวลาแค่ 4 เดือนเท่านั้น

วันรุ่งขึ้น คณะนักศึกษาจากสถาบันเอพีอะคาเดมี่เดินทางมายัง The Parkhouse Oikos Mikunigaoka ของบริษัท Mitsubishi Jisho Residence อันเป็นบริษัทในเครือ Mitsubishi Estate Group และ NIPPO อันเป็นโครงการต้นแบบของ BIO Net Initiative หรือการดีไซน์ที่พัฒนาที่อยู่อาศัยให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งสามารถคว้ารางวัลมากมายทั้งGood Design Award of 2015 และ Excellence Prize of the BiodiversityAction Grand Prize 2015

รูปแบบของระบบดังกล่าวจะยึดหลักปกป้องรักษาพื้นที่เดิม เน้นใช้พันธุ์ไม้ของญี่ปุ่น เชื่อมต่อระบบสิ่งแวดล้อม ลดการใช้ยาฆ่าแมลงโดยใช้วัสดุวู้ดชิปเข้ามาช่วย ทีมงานจะเข้ามาศึกษาดูระบบนิเวศเดิมในพื้นที่ว่ามีสัตว์อะไร ต้นไม้อะไร และรักษาระบบนิเวศไม่ให้ได้รับผลกระทบ

บริเวณโดยรอบจึงยังคงความเป็นธรรมชาติ การลดการใช้สารเคมีพร้อมมีกิมมิคเป็นบ้านนกที่สะท้อนให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันของคนและธรรมชาติ ซึ่งเป็นจุดที่คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก

ไฮไลต์สำคัญคือ ENEFARM นวัตกรรมประหยัดพลังงานที่ติดตั้งอยู่ในทุกห้อง ซึ่งระบบพลังงานนี้ใช้เซลล์เชื้อเพลิงที่สกัดไฮโดรเจนจากก๊าซหุงต้ม และผสานเข้ากับออกซิเจนในอากาศเพื่อสร้างพลังงานไฟฟ้า และยังนำความร้อนที่ได้จากการผลิตไฟฟ้ามาใช้ประโยชน์ เช่น ทำน้ำร้อนให้ห้องครัว ห้องน้ำ อีกด้วย

ระบบนี้นอกจากจะช่วยประหยัดค่าไฟค่าก๊าซในชีวิตประจำวันแล้วยังสามารถช่วยลดการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อีกทางหนึ่งด้วย

ทั้งหมดเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงแนวการออกแบบและนวัตกรรม เทคโนโลยี ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการก่อสร้างที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน

มองเสน่ห์สถาปัตยกรรม โมเดิร์น เจแปน

นวัตกรรมและเทรนด์การออกแบบบ้าน ตอบโจทย์ชีวิตสมัยใหม่จากญี่ปุ่น

ย้อนกลับไปในปี 2557 สถาปัตยกรรมสไตล์ญี่ปุ่น ได้ถูกนำมาถอดรหัสให้คนไทยรับรู้ผ่านโชอิจิโระ โทบะ หัวหน้าฝ่ายออกแบบ และเทตสึยะ โอคุสะ ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบ (นานาชาติ) บริษัท มิตซูบิชิ จิโช เซคเคอิ ในงานสัมมนา “Every InchMatters” ที่กรุงเทพฯ

ทีมดีไซเนอร์ของบริษัท มิตซูบิชิจิโช เซคเคอิ ซึ่งเป็นบริษัทสถาปนิกมืออาชีพแถวหน้าของโลก เปิดเผยถึง 8 แนวคิดการออกแบบของญี่ปุ่น ที่สามารถผสานกับไลฟ์สไตล์การอยู่อาศัยของคนไทย เพื่อให้เกิดความสุขของการใช้ชีวิตในมิติใหม่ภายใต้การใช้งานได้อย่างคุ้มค่าสูงสุด

1.Japanese Traditional Design-Spirit of Simplicity

น้อยแต่มาก เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่สะท้อนแนวคิดการออกแบบสถาปัตยกรรมของญี่ปุ่น เกิดจากการผสานระหว่างความคิดสร้างสรรค์และขนบประเพณีได้อย่างลงตัว ก่อให้เกิดการออกแบบที่เรียบง่ายทั้งรูปทรงและการใช้งานกลมกลืนกับธรรมชาติ สีสันไม่ฉูดฉาด

2.Engawa-Inside Out, Outside In

เป็นการออกแบบที่เน้นการเชื่อมโยงพื้นที่ภายนอกและภายในให้มีความสัมพันธ์ที่ต่อเนื่องกัน ทำให้พื้นที่ในร่มและกลางแจ้ง อย่างเช่น พื้นที่ของสวนธรรมชาติ ปราศจากสิ่งขวางกั้น เป็นการเพิ่มพื้นที่ภายในบ้านให้กว้างขึ้นอีกด้วย

3.Kohji & Shoji

เป็นการนำ Grid & Line มาประยุกต์ในงานการออกแบบบ้าน ช่วยให้มุมมองการจัดตำแหน่งแนวผนัง หน้าต่าง ประตู ก่อให้เกิดงานดีไซน์ที่มีความลงตัว ความเรียบร้อย และมีความสมดุลมากขึ้น โดย Kohji หมายถึงจังหวะ เส้นไม้ระแนงที่ซ้ำกันต่อเนื่องแบบเป็นจังหวะ และ Shoji หมายถึง หน้าต่างหรือประตูบานเลื่อนที่อยู่คู่กับเสื่อทาทามิ

4.Wabi Sabi-Incomplete Beauty

หลักการออกแบบภายใต้ความงามที่ไม่สมบูรณ์ เป็นการให้ความสำคัญกับรายละเอียดในอีกมิติ อาทิ ความไม่คงทนถาวร ไม่ยึดติดในคติแบบแผน แต่ช่วยทำให้พื้นที่นั้นๆ มีเสน่ห์ที่โดดเด่นอย่างเป็นเอกลักษณ์

5.Space Planning

เลย์เอาต์ห้องของคนญี่ปุ่นมีการแบ่งแยกสัดส่วนระหว่าง Public Space และ Private Space อย่างชัดเจน โดยส่วน Public Space มักอยู่ด้านหน้าของแปลนห้อง และ Private Space นำไปไว้อยู่ในสุดของห้องเพื่อความเป็นส่วนตัวของเจ้าของบ้าน

6.Functional Design Detail

คนญี่ปุ่นใส่ใจในทุกรายละเอียด จึงทำให้อุปกรณ์อย่างหนึ่งมีฟังก์ชั่นการทำงานได้หลากหลาย อาทิ การติดตั้ง CDU (Condensing Unit) ของเครื่องปรับอากาศหรือฮีตเตอร์ ในการปล่อยความร้อนในห้องน้ำ ทำให้ผู้อาศัยสามารถตากผ้าในห้องได้

7.Appealing Curve

เป็นการใช้เส้นโค้งเพื่อให้ความรู้สึกถึงความน่าค้นหาและการรอคอยเพื่อค้นพบอะไรบ้างอย่าง

8.Light & Shadow

เทคนิคการให้แสงและเงา เพื่อชวนค้นหา ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นแรงดึงดูดที่สำคัญในการดึงผู้คนให้สนใจและอยากเข้าไปค้นหาคำตอบในตัวงานว่ามีความสวยงามมากน้อยเพียงใด