posttoday

แสนสิริผนึกบีซีพีจี ชูบล็อกเชนซื้อขายไฟฟ้า

23 สิงหาคม 2561

แสนสิริ จับมือ บริษัท บีซีพีจี ในการนำระบบแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้ารูปแบบใหม่แบบเพียร์ทูเพียร์ ด้วยการทำธุรกรรมโดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้กับโครงการที่พักอาศัย

โดย..อรวรรณ จารุวัฒนะถาวร

กระแสรักษ์โลกเป็นเทรนด์ที่ทุกภาคส่วนเริ่มหันมาตระหนักและให้ความสำคัญ ซึ่งในส่วนของภาคที่อยู่อาศัยนอกเหนือวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาเสริมระบบ เพื่อให้การอยู่อาศัยมีความสะดวกสบายแล้ว ยังสามารถนำไปสู่การอยู่อาศัยที่ยั่งยืนด้วย

ทั้งนี้ แนวทางการใช้พลังงานทางเลือก ไม่ว่าจะเป็นพลังงานลม พลังงานจากแสงอาทิตย์ ล้วนเป็นพลังงานสะอาดที่เริ่มมีการนำมาใช้กันมากขึ้น เพราะนอกจากเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้วยังประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาว

อุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ เปิดเผยว่า แสนสิริ จับมือ บริษัท บีซีพีจี ในการนำระบบแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้ารูปแบบใหม่แบบเพียร์ทูเพียร์ (Peer-to-Peer) ด้วยการทำธุรกรรมโดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้กับโครงการที่พักอาศัยเป็นครั้งแรกในไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยนำร่องโครงการทาวน์สุขุมวิท 77 หรือ ที 77 ก่อนขยายไปในเฟสต่อไป ทั้งนี้จะเริ่มมีการซื้อขายไฟฟ้าอย่างเป็นทางการในเดือน ก.ย. 2561

ความร่วมมือในครั้งนี้ ทางบีซีพีจีเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด ทั้งอุปกรณ์และระบบแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน โดยโครงการที 77 ใช้เงินลงทุนประมาณ 30-50 ล้านบาท ซึ่งจะมีการติดตั้งระบบพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคามีกำลังการผลิตติดตั้ง 635 กิโลวัตต์ แบ่งสัดส่วนการใช้เป็น 54 กิโลวัตต์ สำหรับฮาบิโตะมอลล์ 413 กิโลวัตต์ สำหรับโรงเรียนนานาชาติบางกอกเพรพ และ 168 กิโลวัตต์ สำหรับพาร์ค คอร์ท คอนโดมิเนียม รวมถึงโรงพยาบาลฟันในโครงการ นอกจากนั้นยังติดตั้งระบบนี้ในโรงงานผลิตแผ่นคอนกรีตสำเร็จรูปของแสนสิริด้วยกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้า 150 กิโลวัตต์

ขณะเดียวกัน ทางบริษัทได้มีการลงนามความร่วมมือเพื่อต่อยอดโครงการติดตั้งระบบแลกเปลี่ยนซื้อขายพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ผ่านอินเทอร์เน็ตในโครงการใหม่ราว 30 โครงการ ซึ่งจะมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้ารวม 2 เมกะวัตต์ ภายในปี 2564 ภายใต้แผนพัฒนาชุมชนพลังงานสีเขียวอัจฉริยะ

“ที่ผ่านมาแสนสิริมุ่งมั่นและให้ความสำคัญกับการสร้างชุมชนที่พักอาศัยอย่างยั่งยืนภายใต้แนวทางที่ชาญฉลาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และประหยัดพลังงาน โดยหนึ่งในเป้าหมายของแสนสิริ คือการนำพลังงานทดแทนมาใช้ในทุกโครงการ ภายใต้ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการพลังงานเพื่ออนาคต” อุทัยกล่าว

อย่างไรก็ดี ระบบดังกล่าวจะส่งผลดีต่อลูกบ้าน ซึ่งจะได้เป็นผู้ผลิตและผู้บริโภคในเวลาเดียวกัน ซึ่งลูกบ้านจะประหยัดค่าไฟฟ้าต่อหน่วยได้ถึง 15% และมีส่วนร่วมดูแลสิ่งแวดล้อมโดยการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ จากกำลังการผลิตพลังงานสะอาดถึง 20% ของปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ใช้ทั้งหมดในโครงการ ที 77 ช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 530 ตัน/ปีโดยประมาณ

สำหรับเฟสต่อไปจะมีการขยายทั้งโครงการแนวราบและคอนโด รวมทั้งพื้นที่ส่วนกลาง เช่น คลับเฮาส์ ของโครงการแสนสิริเพื่อประหยัดรายจ่ายจากค่าไฟ และในอนาคตจะพัฒนาแพลตฟอร์มเพิ่มเพื่อรองรับโครงการจัดสรรเดิมและโครงการใหม่ โดยอาจหาพันธมิตรในการให้ไฟแนนซ์กับลูกบ้านเพื่อติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป เช่น บ้านเดี่ยวจะมีค่าใช้จ่ายในการติดตั้งราว 1 แสนบาท/ยูนิต สามารถคืนทุนได้ใน 7 ปี แต่ในอนาคตจะถึงจุดคุ้มทุนเร็วขึ้นอยู่ที่ 4-5 ปี จากราคาต้นทุนติดตั้งถูกลง

ด้าน บัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี กล่าวว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงครึ่งปีหลังจะมีการบันทึกกำไรพิเศษจากการขายสินทรัพย์ประเภทโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 2 โครงการ กำลังการผลิต 27.60 เมกะวัตต์ ให้กับกองทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ โครงการ Nikaho จำนวน 13.2 เมกะวัตต์ และ Nagi 14.40 เมกะวัตต์ มูลค่า 3,000 ล้านบาท ซึ่งจะมีการบันทึกกำไรพิเศษจากการขายสินทรัพย์เข้ามาในครึ่งปีหลังของปีนี้

ทั้งนี้ บริษัทยังคงมั่นใจรายได้รวมในปีนี้จะเติบโตตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 15-20% จากการดำเนินงานในธุรกิจเดิมตามแผน และการเข้าลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการเจรจาเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าในต่างประเทศเพิ่ม ซึ่งมีการศึกษาและเจรจาอยู่หลายดีล แต่คาดจะสรุปในเร็วๆ นี้ 2-3 ดีล กำลังการผลิตรวมราว 100 เมกะวัตต์ ซึ่งเงินทุนจะมาจากกระแสเงินสดและการกู้ยืมจากสถาบันการเงิน โดยงบลงทุนรวมในปีนี้บริษัทตั้งไว้ที่ 1 หมื่นล้านบาท จะใช้ในการเข้าซื้อกิจการและขยายกำลังการผลิตธุรกิจเดิม ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) แล้วจำนวน 400 เมกะวัตต์ และคาดว่าในปี 2562 จะสามารถ COD ครบ 600 เมกะวัตต์