posttoday

เทรนด์ออฟฟิศ 4.0 ยืดหยุ่นเจาะคนรุ่นใหม่

06 สิงหาคม 2561

ผลการศึกษาล่าสุดพบว่าคนทำงานต้องการรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่นแตกต่างจากวิถีเดิมของการทำงานแบบ 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น

ผลการศึกษาล่าสุดพบว่าคนทำงานต้องการรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่นแตกต่างจากวิถีเดิมของการทำงานแบบ 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น

*********************************

โดย...โชคชัย สีนิลแท้

ทั่วโลกต่างหันมาให้ความสนใจในอสังหาริมทรัพย์ขององค์กร หลังจากความต้องการเฟ้นหาพนักงานที่มีความรู้ความสามารถนั้นเปลี่ยนแปลงไป จากผลการศึกษาล่าสุดพบว่าคนทำงานต้องการรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่น ต่างจากวิถีเดิมของการทำงานแบบ 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น ซึ่งนับว่าล้าสมัยแล้ว ทุกคนจึงเริ่มมองหากลยุทธ์สำคัญท่ามกลางสงครามแห่งการแย่งชิงคนเก่ง หรือพนักงานที่มีความสามารถ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ธุรกิจต่างเริ่มนำรูปแบบการทำงานแบบใหม่ รวมไปถึงสำนักงานรูปแบบใหม่มาใช้มากขึ้น

โนเอล โค้ก ผู้อำนวยการใหญ่สเปซเซส (Spaces) ประจำประเทศไทย ไต้หวัน และเกาหลี กล่าวว่า การดึงดูด รักษา และสร้างความผูกพันต่อองค์กรให้กับพนักงานที่มีความสามารถนั้น ถือเป็นความท้าท้ายที่ส่งผลต่อธุรกิจทุกขนาด เนื่องจากประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานส่งผลโดยตรงต่อธุรกิจและเป็นที่ยอมรับกันว่าการออกแบบพื้นที่ทำงานได้อย่างเหมาะสม สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับพนักงานได้ โดยยกตัวอย่างเช่น ซัมซุง ได้เปิดสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ พร้อมความคิดที่ว่า

“ไอเดียที่ดีที่สุดจะไม่เกิดขึ้นหากนั่งจมอยู่หน้าจอคอมพ์” ซึ่งอาคารสำนักงานแห่งใหม่นั้นได้รับการออกแบบมาเพื่อจุดประกายความคิด ไม่ใช่เพียงแค่การสร้างความร่วมมือเท่านั้น และอาจได้เห็นนวัตกรรมใหม่ๆ จากกลุ่มคนที่มานั่งทำงานร่วมกัน

ที่ผ่านมามีคำถามว่า ทำอย่างไรหากพบว่าเจอพนักงานที่เหมาะสมกับงานแล้ว แต่บุคคลนั้นไม่ได้มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ที่มีสำนักงานตั้งอยู่ โดยปกติแล้วอาจโน้มน้าวให้เขาต้องโยกย้ายทั้งบ้านและครอบครัว ซึ่งล้าสมัยไปแล้ว

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเราต่างใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางยุคแห่งการปฏิวัติทางเทคโนโลยี ซึ่งส่งผลให้อุตสาหกรรมต่างๆ เริ่มเกิดความเปลี่ยนแปลง การก้าวสู่โลกดิจิทัลและการเชื่อมต่อที่เพิ่มขึ้นทำให้ทุกคนสามารถเดินทางไปที่ใดก็ได้ แต่ยังสามารถเข้าถึงระบบคลาวด์เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการแชร์และเข้าถึงข้อมูลได้อย่างปลอดภัยจากทุกที่

เทรนด์ออฟฟิศ 4.0 ยืดหยุ่นเจาะคนรุ่นใหม่

เทรนด์ต่างๆ นี้ชี้ให้เห็นถึงเหตุผลที่องค์กรธุรกิจชั้นนำในเกือบทุกวงการเริ่มนำกลยุทธ์การมอบพื้นที่ทำงานที่มีความยืดหยุ่นมาใช้มากขึ้น ทั้งยังช่วยเพิ่มข้อได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ช่วยดึงดูดเหล่าคนเก่งให้สนใจมาร่วมงานกับองค์กรเท่านั้น แต่ยังเป็นการรักษาคนภายในองค์กรไว้ได้ดีอีกด้วย ด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่เพียงหัวหน้าฝ่ายอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทที่จะต้องให้ความสนใจในเรื่องนี้เท่านั้น แต่หัวหน้าฝ่ายทรัพยากรบุคคลหลายบริษัทกำลังผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจังเช่นกัน

ทั้งนี้ หากพนักงานรักในการทำงานแต่ไม่อยากอยู่ในตัวเมือง ต้องการอยู่ต่างประเทศหรือท่องเที่ยวไปตามประเทศต่างๆ ก็จะไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป เพราะพวกเขาจะสามารถทำงานได้และก็ยังสามารถรักษาเขาเอาไว้ในองค์กรได้ต่อไป เพียงแค่มอบเครือข่ายพื้นที่ทำงานที่ครอบคลุมไปทั่วโลกอย่างแท้จริง นอกจากนี้พื้นที่การทำงานที่ยืดหยุ่นยังช่วยรักษาพนักงานที่อาจมีเหตุผลให้ต้องออกจากการเป็นพนักงาน เช่น พนักงานที่รับหน้าที่เป็นพ่อ แม่ และมีบุตรหลานต้องดูแล หรือพนักงานที่เข้าสู่วัยเกษียณ

อย่างไรก็ตาม การนำกลยุทธ์การมอบพื้นที่ทำงานที่ยืดหยุ่นจะช่วยลดระยะเวลาการเดินทาง ทำให้พนักงานที่มีบุตรหลานสามารถใกล้ชิดบุตรหลานและอยู่ใกล้กับพื้นที่ของศูนย์เด็กเล็กมากขึ้น นับเป็นการแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจขององค์กรในการรักษาพนักงาน อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้พนักงานที่มีอายุสามารถทำงานต่อได้โดยไม่ต้องเดินทางมาสถานที่นั้นจริงๆ

ขณะเดียวกันการแสดงจุดยืนขององค์กรที่แสดงออกให้พนักงานเห็นอย่างชัดเจน ซึ่งอาจพลิกให้องค์กรนั้นกลายเป็นผู้ได้เปรียบในสงครามการชิงคนเก่ง ทั้งยังส่งผลเชิงบวกต่อธุรกิจอีกด้วย โดยผู้นำในวงการธุรกิจหลายรายต่างระบุในผลการสำรวจพบว่า 89% เชื่อว่าการมอบพื้นที่การทำงานที่ยืดหยุ่นช่วยให้ธุรกิจเติบโตมากขึ้น 87% ช่วยเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ 83% ช่วยเพิ่มผลกำไรให้แก่องค์กร 82% ระบุว่า ทำให้องค์กรได้กลายเป็นที่รู้จักในกลุ่มตลาดใหม่ๆ และ 73% ย้ำว่าช่วยลดความเสี่ยงทางธุรกิจ

จะเห็นได้ว่าความสะดวกของสถานที่ การมีรูปแบบสื่อสารโทรคมนาคมหลายช่องทาง ประกอบกับสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพเป็นการผสมผสานที่จะช่วยกระตุ้นการทำงาน พร้อมนำไปสู่การสร้างสมดุลในชีวิตและการทำงานที่ดี จึงทำให้บริษัทต่างๆ สามารถรักษาพนักงานที่มีความสามารถ ทั้งยังช่วยสร้างความจงรักภักดีต่อองค์กร