posttoday

10 ขั้นตอนก่อสร้างบ้านน่ารู้

05 กรกฎาคม 2561

การปลูกบ้านหรือสร้างบ้านใหม่นั้นมีขั้นตอนมากมายซึ่งหากเจ้าของบ้านทำความเข้าใจได้ในภาพรวมก็จะสามารถรับทราบเกี่ยวกับตัวงานและความคืบหน้าของงานก่อสร้างบ้าน

โดย...เอสซีจี เอ็กซ์พีเรียนซ์ 

การปลูกบ้านหรือสร้างบ้านใหม่นั้นมีขั้นตอนมากมาย ซึ่งหากเจ้าของบ้านทำความเข้าใจได้ในภาพรวมก็จะสามารถรับทราบเกี่ยวกับตัวงานและความคืบหน้าของงานก่อสร้างบ้าน ทั้งยังอาจมีส่วนร่วมในการตัดสินใจบางอย่างได้ด้วย ทั้งนี้ลำดับการก่อสร้างที่เจ้าของบ้านควรทราบสามารถแบ่งเป็น 10 ขั้นตอน ดังต่อไปนี้

1.เตรียมพื้นที่ในขั้นตอนแรก ผู้รับเหมาจะเข้าเตรียมพื้นที่ที่หน้างาน โดยกำหนดจุดวางและขนย้ายเครื่องมืออุปกรณ์ พร้อมจัดเตรียมสถานที่พักสำหรับคนงาน หากในพื้นที่ก่อสร้างมีบ้านเดิมอยู่จะต้องรื้อถอนออกก่อน ส่วนกรณีเป็นที่ดินเปล่าจะมีการขอน้ำและไฟฟ้าชั่วคราวสำหรับใช้ในการก่อสร้าง

2.งานวางผังอาคาร เมื่อเตรียมพื้นที่เรียบร้อยจะเริ่มวางผังแนวอาคาร ซึ่งเป็นการกำหนดตำแหน่งเสาเข็มตามแบบ อาจมีการเปลี่ยนแปลงหรือปรับระยะให้เหมาะสมตามหน้างาน เช่น ต้องการเลี่ยงแนวต้นไม้ใหญ่ เป็นต้น โดยผู้รับเหมาจะนำเสนอแนวทางแก้ไขให้ผู้ออกแบบเซ็นชื่อรับรองเพื่อดำเนินการก่อสร้างต่อไป

3.งานเสาเข็ม โดยทั่วไปมักจ้างบริษัทรับเหมางานเสาเข็มโดยเฉพาะ ซึ่งทางผู้ออกแบบจะสำรวจหน้างานและกำหนดมาแล้วว่าบ้านแต่ละหลังเหมาะจะใช้เสาเข็มประเภทใด

4.งานฐานรากโครงสร้างชั้นล่างเริ่มที่ฐานรากและเสาตอม่อ จากนั้นจึงขึ้นโครงสร้างชั้น 1 ซึ่งประกอบด้วย คานคอดิน เสา คาน และพื้นชั้นล่าง กรณีเป็นโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กอาจใช้พื้นหล่อในที่ทั้งหมด หรือเป็นพื้นหล่อในที่ร่วมกับพื้นคอนกรีตสำเร็จรูป ทั้งนี้ส่วนของงานหล่อเทคอนกรีตจะต้องอาศัยเวลาบ่มคอนกรีตตามมาตรฐานด้วย

5.งานโครงสร้างชั้นสอง โครงหลังคาและโครงสร้างงานระบบสุขาภิบาลงานโครงสร้างชั้นสองจะทำเช่นเดียวกับโครงสร้างชั้นล่าง ทั้งเสา คาน อะเส (คานหลังคา) และอาจมีงานหล่อชิ้นส่วนตกแต่ง เช่น บัว กันสาด ขอบปูนด้วย ส่วนงานโครงหลังคาก็จะเริ่มต้นในช่วงนี้ เช่นเดียวกันกับงานระบบประปาและสุขาภิบาล (ถังเก็บน้ำใต้ดิน ท่อน้ำทิ้ง และถังบำบัด) ซึ่งต้องติดตั้งให้สมบูรณ์เพื่อเตรียมเดินท่อเข้าภายในบ้าน

6.งานมุงหลังคาและโครงสร้างบันได ถัดจากเรื่องโครงสร้างจะเป็นงานติดตั้งวัสดุมุงหลังคาเพื่อสร้างร่มเงาให้ทำงานได้สะดวก ในช่วงนี้จะเริ่มหล่อโครงสร้างบันไดคอนกรีตเสริมเหล็ก หรือติดตั้งบันไดเหล็กตามที่แบบระบุ และอาจเก็บงานโครงสร้างในส่วนอื่นๆ ให้พร้อมก่อนเริ่มงานก่อผนัง

10 ขั้นตอนก่อสร้างบ้านน่ารู้

7.งานก่อผนังติดตั้งวงกบไม้ประตู-หน้าต่าง และงานระบบไฟฟ้า-ประปา เมื่อมุงหลังคาเรียบร้อย ก็จะเริ่มก่อผนังอิฐพร้อมหล่อเสาเอ็น-คานเอ็น หรือติดตั้งระบบผนังเบา และเดินท่องานระบบไฟฟ้าประปาที่ต้องฝังผนัง รวมถึงติดตั้งวงกบไม้สำหรับประตูหน้าต่างให้เรียบร้อย

8.งานฉาบผนังและงานติดตั้งฝ้าเพดาน ในงานฉาบผนังก่ออิฐจะต้องจับปุ่ม จับเซี้ยม หรืออาจขึงลวดกรงไก่เ พื่อฉาบผนังให้เรียบสม่ำเสมอ ส่วนผนังเบาจะต้องฉาบเก็บรอยต่อระหว่างแผ่นผนังให้เรียบเนียน เตรียมพร้อมก่อนการปิดผิว (ผนังต้องได้ดิ่ง-ฉากทุกพื้นที่ ซึ่งต้องอาศัยความละเอียดของช่าง) สำหรับฝ้าเพดานจะกำหนดที่ระดับความสูงตามแบบ โดยติดตั้งโครงคร่าวและปิดด้วยวัสดุฝ้า เช่น แผ่นยิปซัม แผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์ เป็นต้น รวมถึงติดตั้งระบบไฟฟ้า โคมไฟ และช่องเซอร์วิสไปพร้อมกัน

9.งานวัสดุตกแต่งพื้นผิว ติดตั้งอุปกรณ์ ติดตั้งประตู-หน้าต่าง และงาน Built-In เป็นขั้นตอนที่ต้องอาศัยความประณีตของช่างเพื่อให้ได้ งานที่เรียบร้อยสวยงาม ประกอบด้วยงานวัสดุตกแต่งผนังและพื้น (เช่น ทาสี ฉาบปูนแต่งผิวผนัง ทำผิวพื้นหินขัด กรวดล้างทรายล้าง ปูกระเบื้อง ไม้ปาร์เกต์ ไม้ลามิเนต เป็นต้น) งานระบบแสงสว่างและติดตั้งดวงโคมพร้อมสวิตช์ไฟ ปลั๊ก และติดตั้งเครื่องปรับอากาศ งานติดตั้งบานประตู หน้าต่าง เข้ากับวงกบที่เตรียมไว้ งาน Built-In  (เช่น ตู้เสื้อผ้า ชั้นวางของ เคาน์เตอร์ครัว เป็นต้น) งานติดตั้งวัสดุอุปกรณ์ สุขภัณฑ์ในห้องน้ำ และอุปกรณ์เครื่องครัว นอกจากนี้ยังมีงานสวนและทางเดินรอบบ้านซึ่งอาจเริ่มทำในช่วงนี้หรือจะทำหลังบ้านสร้างเสร็จก็ได้

10.ทำความสะอาดและตรวจความเรียบร้อยในการเก็บงาน ช่างจะเก็บรายละเอียดทุกส่วน เช่น งานทาสี การตรวจสอบงานระบบต่างๆ ซึ่งในช่วงนี้เจ้าของบ้านควรเข้ามาตรวจสอบด้วยตัวเอง หากถ้าเจอข้อผิดพลาดควรแจ้งช่างเพื่อทำการแก้ไขให้เรียบร้อย จากนั้นจึงค่อยทำความสะอาดก่อนจะส่งมอบงานให้เจ้าของบ้าน

ลำดับขั้นตอนตามที่กล่าวมา ในทางปฏิบัติอาจมีการสลับหรือซ้อนทับกันบางส่วน รวมถึงอาจมีการแยกย่อยเพิ่มเติมขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น การขนส่งวัสดุหน้างาน ความถนัดของช่าง/ผู้รับเหมา ปัจจัยสภาพคล่องทางการเงิน ปัญหาแรงงานช่าง สภาพลมฟ้าอากาศที่ไม่อำนวย เป็นต้น ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนหน้างานตามความเหมาะสม

Tip : เจ้าของบ้านควรตรวจสอบสัญญา การรับประกันผลงานของทั้งผู้รับเหมาและตัวผลิตภัณฑ์สินค้า รวมถึงการติดตั้งวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ตามที่ระบุในเอกสาร เพื่อรับรองคุณภาพการก่อสร้างและตัวสินค้าให้ได้ตามมาตรฐาน