posttoday

แสนสิริเล็งออกไอซีโอลุ้นกฎหมายไทยเปิดช่องระดมทุน เร่งสร้างสตาร์ทอัพลุยพร็อพเทค

23 มิถุนายน 2561

สิริ เวนเจอร์ส เกาะติดรัฐไฟเขียวออกกฎหมายเปิดทาง อสังหาฯ ระดมทุนผ่านสกุลเงินดิจิทัลรับเทรนด์ตลาดโลกมาแรง

สิริ เวนเจอร์ส เกาะติดรัฐไฟเขียวออกกฎหมายเปิดทาง อสังหาฯ ระดมทุนผ่านสกุลเงินดิจิทัลรับเทรนด์ตลาดโลกมาแรง

นายจิรพัฒน์ จันทร์เจิดศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยี บริษัท สิริ เวนเจอร์ส เปิดเผยว่า ปัจจุบันสกุลเงินดิจิทัล หรือคริปโทเคอเรนซี ถูกนำมาใช้มากขึ้นในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาได้นำมาซื้อขายที่อยู่อาศัยกันแล้ว ขณะที่ในสวีเดนมีการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในการจัดเก็บโฉนดที่ดินแล้ว ขณะที่ในไทยยังต้องรอเวลาเนื่องจากอยู่ระหว่างพิจารณากฎหมายออกมาเพื่อควบคุม ซึ่งบริษัทมีการเตรียมความพร้อมแล้วหากตลาดและกฎหมายเปิดให้ดำเนินการได้

"บริษัทได้เร่งปรับตัวสู่โกลบอล คอนเนกติ้ง แพลตฟอร์ม ที่มีการนำพร็อพเทคสตาร์ทอัพไทย ออกไปต่างประเทศ และนำสตาร์ทอัพจากเมืองนอกมาไทย เนื่องจากมีนวัตกรรมหลากหลายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะสังคมผู้สูงอายุเกิน 55 ปี จะมีสัดส่วน 20% ใน 3 ปี จะต้องจับ เทรนด์การสร้างบ้านเพื่อรับกับกลุ่มลูกค้านี้ที่ใหญ่ขึ้นจะเป็นเช่นใด" นายจิรพัฒน์ กล่าว

ปัจจุบันบริษัทร่วมลงทุนระหว่างแสนสิริและธนาคารไทยพาณิชย์ เพื่อทำการวิจัยและลงทุนทางด้านพร็อพเทคอย่างเต็มรูปแบบใน 4 ด้าน ได้แก่ พร็อพเทค ลิฟวิ่งเทค คอนสตรัคชั่นเทค และเฮลท์ แอนด์ เวลเนสเทค โดยได้นำมาเปิดตัวในงาน TechSauce Global Summit 2018 ในประเทศไทย คือ นวัตกรรม "Wind Turbine" เพื่อใช้ในที่พักอาศัย จาก Semtive สตาร์ทอัพ ผู้พัฒนากังหันลมสำหรับที่พักอาศัยในสหรัฐ ที่บริษัทได้เข้าไปร่วมลงทุนด้วยงบประมาณ 15 ล้านบาท โดยไตรมาส 3 ของปีนี้จะเปิดตัวในโครงการบ้านแนวราบ อาทิ คณาสิริ พระราม 2 และโครงการคอนโดมิเนียมไฮไรส์ของแสนสิริหลายโครงการ เพื่อให้ลูกบ้านควบคุมการใช้ไฟฟ้า ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและส่งเสริมให้เกิดการแบ่งปันการใช้พลังงานไฟฟ้าร่วมกันในชุมชน ซึ่งจะเป็นพลังงานทางเลือกที่มาเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์

"พลังงานลมจะเหมือนกับพลังงานแสงอาทิตย์ คือเริ่มใช้ที่พื้นที่ส่วนกลาง คลับเฮาส์ หลังคาของอาคารชุดที่มาดูแลไฟฟ้าพื้นที่ส่วนกลาง เพื่อให้ต้นทุนต่อกิโลวัตต์ต่ำ แม้ว่าการใช้พลังงานลมวันนี้อาจไม่คุ้มทุน แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ดีขึ้นระยะเวลาคืนทุนจะสั้นลง" นายจิรพัฒน์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาบริษัทได้มีการเข้าไปลงทุนในสตาร์ทอัพแล้วจำนวน 5-6 รายแล้ว อาทิ ฟาร์มเชล์ฟ วินด์ เทอร์ไบน์ เทคโนโลยีสั่งการด้วยเสียงหรือเอไอ เทคโนโลยีโฮมออโตเมชั่น หุ่นยนต์แสนดี เทคโนโลยีเอไอในการวางแผนก่อสร้าง เทคโนโลยีเออาร์/วีอาร์ สำหรับควบคุมคุณภาพงานก่อสร้าง

ด้าน นายชอน เดฮ์พานาฮ์ รองประธานบริหารฝ่ายพันธมิตรและนวัตกรรม บริษัท ปลั๊กแอนด์เพลย์ สตาร์ทอัพระดับโลกิ ซึ่งเป็นพันธมิตรกับบริษัท กล่าวว่า ปัจจุบันพร็อพเทคมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว แต่บริษัทไทยมีการนำมาใช้ในการดำเนินธุรกิจค่อนข้างช้า