posttoday

ศูนย์ข้อมูลฯปรับทัพ เก็บบิ๊กดาต้าอสังหา

22 มิถุนายน 2561

หลังเกิดวิกฤตฟองสบู่เมื่อปี 2540 ทำให้รัฐบาล-ผู้ประกอบการหันมาให้ความสำคัญกับการจัดทำข้อมูลอสังหาฯ มากขึ้น

โดย...อรวรรณ จารุวัฒนะถาวร

ภาคอสังหาริมทรัพย์ถือเป็นธุรกิจที่สำคัญลำดับต้นๆ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งหลังจากเกิดวิกฤตฟองสบู่เมื่อปี 2540 ทำให้รัฐบาลรวมไปถึง ผู้ประกอบการหันมาให้ความสำคัญกับการจัดทำข้อมูลอสังหาฯ มากขึ้น

สุรชัย ดนัยตั้งตระกูล ประธานกรรมการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า ศูนย์ดำเนินการมากว่า 14 ปี ดำเนินการจัดทำและพัฒนาข้อมูลอสังหาฯ อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีแผนปรับรูปแบบองค์กรสู่องค์การมหาชน เพื่อให้องค์กรมีความคล่องตัวและสามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเพื่อให้สามารถสร้างรายได้เลี้ยงองค์กรได้ โดยในเดือน ก.ค.นี้จะมีการโอนพนักงานไปสังกัดธนาคารอาคารสงเคราะห์

ทั้งนี้ รูปแบบขององค์การมหาชนขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา ซึ่งต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐบาลก่อน จากนั้นถึงออกกฤษฎีกาจัดตั้งองค์กรเพื่อดำเนินงานโดยจะถามความสมัครใจพนักงานที่โอนย้ายมาสังกัดใหม่

อย่างไรก็ดี เนื่องจากศูนย์ข้อมูลได้รับมอบหมายจากกระทรวงการคลังให้ จัดทำฐานข้อมูลบ้านมือสองอยู่แล้ว ขณะที่ ตลาดบ้านมือสองซึ่งมีมูลค่าตลาดสูงแต่ไม่มีข้อมูล อีกทั้งยังไม่มีการควบคุมวิชาชีพนายหน้า ดังนั้นศูนย์ข้อมูลทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนนายหน้าอสังหาฯ โดยต่อไปนายหน้าจะต้องขึ้นทะเบียนเพื่อสร้างมาตรฐานในวิชาชีพ

ด้าน วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ ในฐานะรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์จะดำเนินการในรูปแบบคณะกรรมการควบคุมวิชาชีพนายหน้าอสังหาฯ ซึ่งนอกจากขึ้นทะเบียนแล้วยังจะช่วยยกระดับมาตรฐาน โดยอาจร่วมกับหน่วยงานต่างๆ จัดทำหลักสูตรมาตรฐานสำหรับอบรมต่อไป

นอกจากนี้ ศูนย์ข้อมูลฯ จะมีการลงนามร่วมมือกับกรมบังคับคดีเพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมการประมูลสินทรัพย์ ของกรมบังคับคดีผ่านระบบออนไลน์ในวันที่ 6 ก.ค.นี้ ปัจจุบันมีมูลค่าทรัพย์ถึง 2 แสนล้านบาท ซึ่งกรมบังคับคดีจะต้องออกเป็นกฎกระทรวงเพื่อกำหนดอำนาจหน้าที่การขายผ่านออนไลน์

"ความร่วมมือครั้งนี้จะทำให้ศูนย์ข้อมูลฯ มีข้อมูลอสังหาฯ มือสองมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมเพราะจะทราบซัพพลายและดีมานด์ที่แท้จริงในตลาด โดยในต่างประเทศบ้านมือสองแซงหน้าบ้านใหม่ และจากตัวเลขการโอนกรรมสิทธิ์ในปีที่ผ่านมาที่มีมูลค่าราว 6.7 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการโอนระหว่างบุคคลกับบุคคลถึง 40% นั่นหมายถึงการโอนบ้านมือสองถึง 2.5 แสนล้านบาท ดังนั้นฐานข้อมูลบ้าน มือสองจะเป็นประโยชน์สำหรับนักพัฒนาอสังหาฯ และประชาชนทั่วไป" วิชัย กล่าว

วิชัย กล่าวอีกว่า จากที่ศูนย์ข้อมูลฯได้จัดทำแอพพลิเคชั่น Self-Reporting เพื่อจัดเก็บรวบรวมข้อมูลโครงการที่อยู่อาศัยผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ล่าสุดมีการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือจัดทำข้อมูลอสังหาฯ ร่วมกับ 14 สมาคมด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย ซึ่งถือว่าเป็นการทำบิ๊กดาต้าอสังหาฯ ระดับชาติ

สำหรับข้อมูลที่ได้จากแอพจะนำมาประเมินผลรวมกับผลสำรวจของศูนย์โดยใช้เวลาเดือนครึ่ง คาดจะใช้ข้อมูลได้จริงในไตรมาส 4 ซึ่งจะทำให้มอง ทิศทางอสังหาฯ ได้กว้างมากขึ้น นอกจากจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติแล้ว ผู้ประกอบการจะพัฒนาโครงการตามความต้องการจริงมากกว่าใช้ความรู้สึกและคาดการณ์