posttoday

ตรวจรับหลังคาด้วยตัวเอง

01 กุมภาพันธ์ 2561

การตรวจรับงานหลังคาในเบื้องต้นสำหรับเจ้าของบ้านเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ไม่ยากนัก

โดย...SCG Experience

การตรวจรับงานหลังคาในเบื้องต้นสำหรับเจ้าของบ้านเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ไม่ยากนัก โดยเริ่มจากการตรวจสอบความเรียบร้อยและรูปลักษณ์ภายนอกด้วยตาเปล่า ไปจนถึงแนวทางการตรวจสอบในจุดสำคัญที่ควรสังเกต ซึ่งเจ้าของบ้านควรถ่ายรูปจดบันทึกไว้เป็นหลักฐานเก็บไว้ เพื่อเปรียบเทียบกับงานที่แก้ไขแล้วในภายหลัง

ทำความรู้จักหลังคาบ้านก่อนตรวจสอบ

ก่อนจะเริ่มทำการตรวจสอบ เจ้าของบ้านควรศึกษารายละเอียดของงานหลังคาที่ผู้ออกแบบกำหนดไว้ เช่น วัสดุมุงหลังคาเป็นอะไร มีฉนวนกันความร้อนหรือไม่ ความชันของหลังคาเท่าใด รูปแบบของการติดตั้งเป็นอย่างไร ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถดูได้จากรายการประกอบแบบที่ระบุในแบบก่อสร้าง

พินิจความสวยงามของหลังคา

การตรวจสอบหลังคาที่ง่ายที่สุดในเบื้องต้นคือ การสังเกตความสวยงามของหลังคาด้วยสายตาตนเอง กระเบื้องหลังคาควรมุงได้แนวระดับ ไม่แอ่นหรือยุบ ติดตั้งอย่างเรียบร้อย ไม่เผอยออกมา สีของกระเบื้องสม่ำเสมอ ไม่ร้าว บิ่น หรือแตกหักเสียหาย ไม่มีรอยคราบสกปรกของน้ำปูน อุปกรณ์ยึดติดหลังคาอยู่ในสภาพดี ตลอดจนแนวฝ้าชายคาเรียบตรงขนานกับตัวบ้าน ไม่บิดเบี้ยวหรือแอ่นตัว โดยเฉพาะหากเป็นฝ้าระแนงไม้ บริเวณรอยต่อเข้ามุมควรเสมอกันแผ่นต่อแผ่นอย่างเป็นระเบียบ

บริเวณตะเข้รางและช่วงรอยต่อบริเวณรางน้ำเชิงชาย เป็นอีกจุดที่ต้องสังเกตว่ามีเศษปูนเข้าไปติดหรือไม่ เพราะอาจขวางทางระบายน้ำจนทำให้หลังคารั่วได้ นอกจากนี้ อย่าลืมสังเกตแนวกระเบื้องบริเวณชายคาว่าได้ระดับ ไม่ตกหรือย้อยลง (สามารถแก้ไขได้โดยการยกแผ่นกันนกขึ้น ให้ได้แนวความชันเดียวกับแผ่นกระเบื้องแถวอื่น)

ตรวจรับหลังคาด้วยตัวเอง

 

หลังคาดีต้องไม่รั่วซึม

ปัญหาที่พบบ่อยที่สุดคือ "การรั่วซึม" ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เจ้าของบ้านควรตรวจสอบจุดเสี่ยงที่ทำให้หลังคารั่วซึม ทั้งตามรอยต่อหลังคาและผืนหลังคาบ้าน โดยเฉพาะบริเวณครอบสันหลังคาและตะเข้สันซึ่งจะมี "ครอบ" เป็นตัวปิดรอยต่อระหว่างหลังคา 2 ผืน หากเป็นระบบครอบหลังคาแบบเปียกที่ใช้ปูนยึดครอบกับกระเบื้อง ควรตรวจสอบปูนยึดครอบว่ามีการเสื่อมสภาพ เกิดรอยแตกร้าวหรือไม่ กรณีเป็นระบบครอบหลังคาแบบแห้ง (Drytech System) ควรสังเกตว่าครอบกระเบื้องมีการมุงได้แนวดี ไม่เห็นปลายแผ่นยางสีดำโผล่ออกมา

อีกจุดหนึ่งที่มักเกิดปัญหารั่วซึมคือ บริเวณแนวรอยต่อกระเบื้องหลังคาชนผนัง กรณีใช้ปูนปั้นหรือปีกนก ค.ส.ล. ควรตรวจดูสภาพว่าไม่เกิดการแตกร้าว มีขนาดปีกที่ยื่นคลุมหลังคาอย่างเพียงพอเหมาะสม รวมถึงระยะห่างจากกระเบื้องไม่สูงจนเกินไป ซึ่งเสี่ยงต่อการรั่วซึมในภายหลังได้

หลังคามิดชิด กันสัตว์เข้าบ้าน

สัตว์ขนาดเล็ก เช่น นก หนู แมลง กระรอก ค้างคาว อาจเล็ดลอดเข้ามาทางช่องหลังคาได้ง่าย ดังนั้น เราจึงควรปิดช่องต่างๆ ให้มิดชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณเชิงชาย ควรมีการติดตั้งแผ่นกันนกสำเร็จรูป หรือจะใช้ไม้ตัดตามรูปลอนกระเบื้องก็ได้ รวมถึงบริเวณชายคาภายนอกบ้านที่เป็นฝ้าระแนงไม้ตีเว้นร่อง หรือฝ้าแผ่นเรียบที่มีรูระบายอากาศ ควรมีการติดตั้งมุ้งลวดกันแมลง (ยกเว้นเป็นรุ่นที่ออกแบบช่องระบายอากาศสำหรับกันแมลงอยู่แล้ว)

หนึ่งในข้อสำคัญที่เจ้าของบ้านควรตระหนักก็คือ การแก้ไขปัญหาบนหลังคาที่มุงเสร็จเรียบร้อยแล้วนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น ในการเลือกผู้รับเหมาหรือการซื้อบ้านกับโครงการ ควรคำนึงถึงเรื่องการรับประกันผลงานเป็นสำคัญ และหากเป็นไปได้ไม่ว่าจะเป็นบ้านในโครงการ หรือบ้านที่สร้างเอง ควรตรวจสอบงานหลังคาตั้งแต่ขั้นตอนการติดตั้งโครงหลังคา ซึ่งอาจต้องอาศัยบริการจากผู้เชี่ยวชาญโดยตรง เพราะถือเป็นเรื่องทางวิศวกรรมโครงสร้าง เพื่อให้ขั้นตอนการมุงหลังคาเป็นไปอย่างราบรื่น ปลอดภัย และเป็นการลดความเสี่ยงของปัญหาซึ่งอาจตามมาดังที่ได้กล่าวถึงนั่นเอง