posttoday

บ้านหาร 2 แห่งอนาคต ก้าวสู่สมาร์ทโฮม-สมาร์ทเซฟวิ่ง

05 พฤศจิกายน 2560

กระแสความตื่นตัวในเรื่องของการประหยัดพลังงานเริ่มมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น

โดย...อรวรรณ จารุวัฒนะถาวร

กระแสความตื่นตัวในเรื่องของการประหยัดพลังงานเริ่มมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ซึ่งแรกๆ จะเห็นกันในรูปแบบของเครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดไฟหรือที่เรียกกันว่า ฉลากเบอร์ 5 แต่ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์หลากหลายประเภทที่มีการพัฒนาให้เป็นสินค้าประหยัดพลังงาน รวมทั้งที่อยู่อาศัยสีเขียว

ทั้งนี้ ทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้มีการริเริ่ม “บ้านหาร 2 บ้านแห่งอนาคต” หรือ Smart Home Smart Saving โดยส่วนหนึ่งมาจากการดำเนินงานภายใต้โครงการ DR100 ซึ่งเป็นโครงการนำร่องด้านการจัดการกำลังไฟฟ้าสูงสุดในภาคประชาชน

สำหรับระบบดังกล่าวเป็นการนำเอาเทคโนโลยีระบบโครงข่ายไฟฟ้าสมาร์ทกริดมาช่วยบริหารจัดการความต้องการไฟฟ้าของผู้ใช้ ในช่วงเวลาต่างๆ หรือเพื่อลดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการจัดการวิกฤต และเสริมความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมโครงการแล้ว 100 ครัวเรือน จากตัวแทน 4 ภูมิภาค 5 จังหวัด ได้แก่ 1.กรุงเทพมหานครและปริมณฑล 2.ระยอง 3.เชียงใหม่ 4.นครราชสีมา 5.ประจวบคีรีขันธ์

ประหยัดไฟด้วย DR100

อย่างไรก็ดี หลายคนสงสัยว่า การทำงานของ DR100 จะช่วยอะไรที่จะทำให้บ้านประหยัดงานได้อย่างไรนั้น ต้องบอกว่าระบบนี้ทำงานผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตซึ่งได้เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ที่ติดตั้งไว้ในภายในบ้าน และสั่งงานด้วยแท็บเล็ต ซึ่งมีหน้าที่แสดงผลการใช้ไฟฟ้าที่ผู้ใช้ไฟสามารถข้อมูลการใช้ไฟฟ้า และตั้งค่าการใช้งานได้ตามต้องการไม่ว่าจะเป็น การใช้แอร์ พัดลม ไฟฟ้าแสงสว่าง ฯลฯ

สำหรับระบบดังกล่าวจะช่วยแสดงให้เจ้าของบ้านทราบว่า คุณใช้ไฟฟ้าไปแล้วกี่หน่วย ทำให้ทราบค่าไฟพีกที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือนได้ อีกทั้งสามารถกำหนดโควตาการใช้ไฟฟ้าที่ต้องการในแต่ละเดือนได้มีระบบการแจ้งเตือนใน เฟซบุ๊ก แมสเสจ เมื่อถึงกำหนดของโควตาที่ตั้งไว้

โดยทั้งนี้แต่ละบ้านสามารถใช้ฟังก์ชั่นที่ทางโครงการจัดเตรียมให้ ผ่านทางแท็บเล็ตที่แต่ละบ้านจะได้รับจากการเข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะช่วยให้เจ้าของบ้านบริหารจัดการการใช้พลังงานภายในบ้านได้สะดวกยิ่งขึ้น กับ 4 ฟังก์ชั่นการใช้งาน ได้แก่

1.Monitor ช่วยให้เจ้าของบ้านทราบว่าปัจจุบันใช้พลังงานไปเท่าไรแล้ว รวมไปถึงทราบ อุณหภูมิและความชื้นของห้องที่ติดตั้งอุปกรณ์

2.Control ช่วยให้เจ้าของบ้านสามารถ ควบคุมการทำงานของเครื่องปรับอากาศได้ผ่านแอพพลิเคชั่น

3.Home Pad ช่วยสรุปข้อมูลการใช้พลังงานของบ้านในเดือนที่ผ่านมาว่า ใช้พลังงานเป็นลำดับเท่าไรเมื่อเทียบกับบ้านอื่นๆ ใช้เวลาไปกี่ชั่วโมง วันที่ใช้พลังงานสูงสุดคือวันที่เท่าไร เป็นต้น

4.Energy Quota ช่วยให้เจ้าของบ้านสามารถตั้งเกณฑ์ได้ว่า เดือนนี้จะใช้พลังงานกี่ยูนิตแล้วทางหน้าแอพพลิเคชั่นจะแสดงค่าพลังงาน ณ ปัจจุบัน เป็นเปอร์เซ็นต์เทียบค่าที่ตั้งไว้

ส่วนอุปกรณ์ที่ต้องติดตั้งเพื่อรองรับการทำงานในระบบดังกล่าวประกอบด้วย

1.เซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิและความชื้น พร้อมตัวส่งสัญญาณควบคุมเครื่องปรับอากาศ 2.มิเตอร์วัดพลังงานไฟฟ้า 3.เกตเวย์ เชื่อมต่อกับเราเตอร์เพื่อรับส่งข้อมูลกับระบบบริหารจัดการพลังงาน 4.แท็บเล็ต เพื่อใช้ในการแสดงผลข้อมูลและควบคุมการทำงานของเครื่องปรับอากาศที่เข้าร่วมโครงการ

บ้านหาร 2 แห่งอนาคต ก้าวสู่สมาร์ทโฮม-สมาร์ทเซฟวิ่ง

พลังงานทางเลือกใหม่

 

นอกจากนี้ ยังมีสมาร์ทโซลาร์รูฟท็อป ซึ่งเป็นพลังงานทางเลือกใหม่ที่จะช่วยลดผลกระทบจากการใช้พลังงานไฟฟ้าในประเทศซึ่งปัจจุบันมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในภาวะที่ก๊าซธรรมชาติ เชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้ามีแนวโน้มจะหมดจากอ่าวไทยในระยะ 10 ปีข้างหน้า

ในส่วนของหลักการทำงานของโซลาร์รูฟท็อป ก็คือ การนำแผงโซลาร์ รูฟท็อป มาติดตั้งบนหลังคา เมื่อโซลาร์ รูฟท็อป ได้รับพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์จะสามารถผลิตไฟฟ้ากระแสตรงไปยังเครื่องแปลงไฟฟ้า และแปลงไฟฟ้าเป็นกระแสสลับและส่งไปยังเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน โดยมีแบตเตอรี่เป็นที่เก็บพลังงานจากโซลาร์รูฟท็อป

ทั้งนี้ สามารถติดตั้งได้กับหลังคาทุกประเภท ได้แก่ หลังคากระเบื้องซีแพคโมเนีย หลังคาลอนคู่ หลังคาคอนกรีต หลังคาเมทัลชีท และหลังคากระเบื้องแบบเรียบ ยกเว้นหลังคาที่ใช้โครงไม้หลังคาสังกะสี และหลังคาที่มีร่มเงาปกคลุมตลอดทั้งวัน

สำหรับผู้ใช้งานในครัวเรือนสามารถใช้แผงขนาดตั้งแต่ 10-295 วัตต์ ราคาตั้งแต่หลักร้อยบาทขึ้นไป โดยผู้สนใจสามารถขอรับคำปรึกษากับสำนักงานพลังงานจังหวัดเพื่อขอรับการสนับสนุนด้านความรู้หรืองบประมาณในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ระดับครัวเรือนหรือในระดับชุมชน ซึ่งนอกจากจะช่วยลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าในแต่ละเดือนแล้วยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ที่อยู่อาศัยสีเขียว

สำหรับบ้านที่น่าอยู่ไม่ใช่แค่เพียงปลอดภัยเท่านั้น แต่ต้องอยู่อาศัยได้อย่างสบายขณะเดียวกันต้องประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่น บ้าน Ellis Residence ในประเทศสหรัฐอเมริกา บ้านที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน LEED Platinum (Leadership in Energy and Environmental Design) เกณฑ์สำหรับการประเมินอาคารเขียวที่นิยมใช้ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งเป็นบ้านที่มีแนวคิดในการรักษาสิ่งแวดล้อมและออกแบบให้สามารถใช้พลังงานจากธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการใช้พลังงานได้ถึง 70%

ทั้งนี้ บ้านดังกล่าวออกแบบให้มีความโปร่งโล่งสบายน่าอยู่ อากาศถ่ายเทสะดวก และสามารถรับแสงเข้ามาภายในบ้านได้อย่างไม่ต้องเปิดไฟในกลางวันให้สิ้นเปลืองนัก และยังมีระบบการทำงานของแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองในบ้านซึ่งช่วยประหยัดการใช้ไฟฟ้าส่วนรวมได้อีกด้วย

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ช่วยให้เป็น บ้านหาร 2 ก็คือ การใช้ผลิตภัณฑ์ประหยัดพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นการใช้หลอดไฟแอลอีดี ที่สามารถประหยัดไฟได้ถึง 85% เนื่องจากมีประสิทธิภาพการให้แสงสว่างที่ระดับสูงถึง 80-120 ลูเมน/วัตต์ ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และมีอายุการใช้งานยาวนานกว่า 1.5 หมื่นชั่วโมง

ส่วนการใช้เครื่องปรับอากาศแบบอินเวอร์เตอร์ ที่จะช่วยประหยัดไฟได้ถึง 30% เนื่องจากเป็นระบบที่ควบคุมอุณหภูมิภายในห้องปรับอากาศให้คงที่และสอดคล้องกับภาระการปรับอากาศจริงด้วยการปรับเปลี่ยนรอบการหมุนของคอมเพรสเซอร์ รวมทั้งการเลือกผลิตภัณฑ์ที่ได้ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 เป็นต้น

ขณะเดียวด้วยแนวนโยบาย Energy 4.0 ของกระทรวงพลังงาน ได้มีเป้าหมายลดการใช้พลังงานภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งในจำนวนนั้นคือ ภาคพลังงานครัวเรือนที่มีเป้าหมายลดลง 4 ล้านตัน/ปี ภาคพลังงานในอาคารกำหนดลดลง 1 ล้านตัน/ปี ซึ่งเป้าหมายเหล่านี้คือตัวผลักดันให้ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมในการประหยัดพลังงานควบคู่กับส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก

ทั้งนี้ ทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยประหยัดพลังงานของประเทศได้ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หันมาใช้อุปกรณ์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพในการประหยัดพลังงานสูง ซึ่งจะนำสู่บ้านหาร 2 ได้โดยไม่ยาก