posttoday

นวัตกรรมอยู่อาศัย ยกระดับเมืองน่าอยู่

10 กันยายน 2560

การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมในด้านต่างๆ มาใช้ในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยกลายเป็นสิ่งที่ทุกบริษัทให้ความสนใจ

การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมในด้านต่างๆ มาใช้ในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยกลายเป็นสิ่งที่ทุกบริษัทให้ความสนใจ เพื่อนำมาใช้ตอบโจทย์การอยู่อาศัยของผู้บริโภคที่หลากสไตล์มากขึ้น ขณะที่อีกด้านหนึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นสู่การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้นวัตกรรมด้านต่างๆ ช่วยให้เมืองสะดวก ประหยัด ปลอดภัย และน่าอยู่มากยิ่งขึ้น

บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น เป็นอีกค่ายที่ได้ให้ความสำคัญในการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาพัฒนากระบวนการการทำงาน เพื่อช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและยกระดับคุณภาพอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ของประเทศไทย รวมถึงการลงทุนในกระบวนการค้นคว้าและพัฒนา (R&D) เพื่อที่จะเดินหน้าสู่เป้าหมายนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนเพื่อสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของผู้อยู่อาศัยและชุมชนโดยรอบ

สำหรับโครงการวิสซ์ดอม วัน-โอ-วัน ของแมกโนเลีย เป็นโครงการอสังหาฯ มิกซ์ยูส บนแนวรถไฟฟ้าสายสุขุมวิท ที่ได้รับการคัดเลือกเป็น 1 ใน 7 โครงการเมืองต้นแบบอัจฉริยะ (Smart Cities-Clean Energy) ซึ่งจัดโดยกระทรวงพลังงาน ร่วมกับมูลนิธิอาคารเขียวไทย มีจุดเด่นในเรื่องระบบนิเวศสังคมดิจิทัลที่สมบูรณ์แบบและครบวงจรเพื่อพัฒนาเมืองของชุมชน สู่เมืองอัจฉริยะตามเจตนารมณ์ของภาครัฐ เป็นเมืองต้นแบบที่สามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ลดการใช้พลังงาน และลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สิ่งเหล่านี้เป็นความมุ่งมั่นที่จะทำให้การดำเนินงานของบริษัทเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมภายใต้นโยบายนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (Sustainnovation)

ล่าสุด แมกโนเลียได้ร่วมกับบริษัทหุ้นส่วน Obodroid พัฒนานวัตกรรมหุ่นยนต์อัจฉริยะเพื่อรักษาความปลอดภัย และระบบดูแลที่จอดรถอัตโนมัติ โดยหุ่นยนต์ รปภ.มีความสูงราว 150 เซนติเมตร แม้จะไม่สามารถไล่จับผู้ร้ายได้ แต่สามารถส่งสัญญาณแจ้งเหตุ บันทึกภาพ และติดตามเป้าหมาย เพื่อที่จะช่วยผู้คนในเหตุฉุกเฉินได้ โดยเตรียมเปิดตัวต่อสาธารณะในไตรมาส 4 ปีนี้ และจะเริ่มใช้งานหุ่นยนต์ที่โครงการวิสซ์ดอม อเวนิว รัชดา-ลาดพร้าว ขณะเดียวกันยังมีแผนที่จะพัฒนาระบบดูแลที่จอดรถอัตโนมัติและหุ่นยนต์บัตเลอร์ในอนาคต เพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของสังคม และความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมเข้าไว้ด้วยกัน

เช่นเดียวกับ บริษัท แสนสิริ ที่ได้ประกาศเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการอยู่อาศัยไปก่อนหน้านี้ เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ด้าน “พร็อพเพอร์ตี้ เทคโนโลยี” อย่างเต็มรูปแบบรายแรกของไทย โดยได้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ ทั้งในการดำเนินธุรกิจ การพัฒนาโครงการและบริการ สำหรับลูกค้า อาทิ  “Delivery Robot” หุ่นยนต์ที่สามารถส่งอาหารหรือสิ่งของถึงหน้าประตูห้องของลูกบ้าน โดยทั้งนี้ได้มีนำร่องใช้ในโครงการ เดอะ โมนูเมนต์ สนามเป้า เป็นโครงการแรกในช่วงปลายปีนี้ เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ และสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกบ้านในยุคดิจิทัล

นวัตกรรมอยู่อาศัย ยกระดับเมืองน่าอยู่

 

นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญในการพัฒนาด้านอินโนเวชั่น เพื่อการอยู่อาศัยใหม่ ได้มีการสร้างสรรค์นวัตกรรมบ้านภายใต้ชื่อ “Cooliving Designed Home” มีทั้งหมด 5 ฟังก์ชั่น ได้แก่ 1.Solar Attic ระบบพัดลมและช่องระบายอากาศใต้หลังคา เพื่อช่วยลดความร้อนใต้หลังคา 2.Breeze Panel ช่องระบายลมในตัวบ้าน ช่วยถ่ายเทและระบายอากาศในตัวบ้าน 3.Shading Screen ระแนงกันแดดที่ออกแบบโดยดูจากทิศทางของบ้าน 4.Texture Wall ผนังบ้านดีไซน์พิเศษที่มีพื้นผิวที่ช่วยลดความร้อนจากแสงแดดที่ตกกระทบพื้นผิว และ 5.UV Shield สีชนิดพิเศษช่วยกันความร้อน

ขณะที่บริษัท เอ็น.ซี.เฮ้าส์ซิ่ง ได้เริ่มรุกสู่ตลาดนวัตกรรมที่อยู่อาศัย ผ่านแนวคิด NCXT (NC Cross Innovation & Home Technology) ที่จะนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาเสริมเพื่อตอบสนองพฤติกรรมของผู้ซื้อ ประกอบด้วย 1.Smart Eco เป็นกระบวนการออกแบบดีไซน์เริ่มตั้งแต่ฟังก์ชั่น และสถาปัตยกรรมภายในภายนอกด้วยนวัตกรรมการเชื่อมโยงบ้านให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีรูปแบบการดีไซน์รองรับระบบบ้านเย็น ควบคุมอุณหภูมิ และคุณภาพอากาศด้วยระบบ Active Airflow และ Solar Roof System และ 2.Smart Care การอยู่อาศัยอย่างปลอดภัยสูงสุด มีพัฒนาการรักษาความปลอดภัยสู่ Security 

System ในชีวิตทรัพย์สินและสุขภาพ โดยจะผนวกนวัตกรรมเพื่อการอยู่อาศัยที่ดี ทันสมัย สะดวก รองรับยูนิเวอร์แซล ดีไซน์ ที่ห่วงใยด้านสุขภาพของคนในครอบครัว เตรียมพร้อมก่อนวัยเกษียณอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี

ด้าน นอร์ติส กรุ๊ป บริษัทที่พัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทน รวมถึงนวัตกรรมต่างๆ ที่ช่วยประหยัดพลังงาน ได้มีการเปิดตัว “โซลาร์ลาบ็อกซ์” เทคโนโลยีมอนิเตอร์การใช้ไฟฟ้าภายในบ้านแบบเรียลไทม์ ซึ่งนวัตกรรมที่ช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยให้รู้พฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าอย่างง่ายดาย และลดการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างยั่งยืน หลังจากประสบความสำเร็จกับ “โซลาร์ลา” แอพพลิเคชั่นจำลองการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์ ที่ช่วยคำนวณทั้งค่าใช้จ่าย ความประหยัด และความคุ้มทุน โดยปัจจุบันมียอดดาวน์โหลดแล้วกว่า 3 หมื่นราย ครอบคลุมพื้นที่กว่า 500 อำเภอทั่วประเทศไทยแล้ว

ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวในการนำนวัตกรรมต่างๆ มาใช้ เพื่อการอยู่อาศัยที่สะดวก ประหยัด ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น