posttoday

เมืองอัจฉริยะ "บ้านฉาง" ต้นแบบสมาร์ทซิตี้ รองรับเออีซี

28 สิงหาคม 2560

เมืองใหม่อัจฉริยะบ้านฉาง เป็น 1 ใน 7 โครงการเมืองอัจฉริยะและพลังงานสะอาดที่ผ่านการคัดเลือกจากโครงการสนับสนุนการออกแบบเมืองอัจฉริยะ

โดย...ทีมข่าวอสังหาริมทรัพย์

เมืองใหม่อัจฉริยะบ้านฉาง เป็น 1 ใน 7 โครงการเมืองอัจฉริยะและพลังงานสะอาดที่ผ่านการคัดเลือกจากโครงการสนับสนุนการออกแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities-Clean Energy) โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ร่วมกับมูลนิธิอาคารเขียวไทย เพื่อสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานส่วนท้องถิ่น มหาวิทยาลัย องค์กรเอกชน ร่วมโครงการออกแบบและพัฒนาเมืองที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนารูปแบบ และโครงสร้างของเมือง

ด้วยความที่บ้านฉาง เป็นหนึ่งในพื้นที่ยุทธศาสตร์ของโครงการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้ก้าวสู่ยุค 4.0 เมืองอัจฉริยะ หรือสมาร์ทซิตี้ จึงตอบโจทย์การไปสู่อุตสาหกรรมยุคใหม่ ทำให้เมืองใหม่อัจฉริยะบ้านฉางมีความน่าสนใจกับการเป็นเมืองหนึ่งที่รองรับอีอีซี

ขวัญชัย ลีเผ่าพันธุ์ กรรมการบริหาร บริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี ผู้นำเสนอแนวคิดเมืองใหม่อัจฉริยะบ้านฉาง กล่าวว่า แนวคิดดังกล่าวบริษัทได้นำเสนอกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและเทศบาลบ้านฉาง เมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากมองว่าที่ผ่านมาพื้นบริเวณใกล้เคียง อ.บ้านฉาง คือ มาบตาพุด ซึ่งเป็นที่ตั้งของหลากหลายอุตสาหกรรม ส่งผลให้เกิดมลภาวะเป็นพิษ สิ่งแวดล้อมไม่ดี จึงต้องการแก้ไขปัญหาด้วยการสร้างเมืองอัจฉริยะขึ้นมา

ทั้งนี้ ได้นำแนวคิดไปเสนอหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เทศบาลตำบลบ้านฉาง เป็นต้น ซึ่งเทศบาลได้เสนอที่ดินบริเวณบ้านพยูน หมู่ 4 เขต ต.บ้านฉาง จำนวน 1,885 ไร่ ที่ยังมีระบบนิเวศที่ดี ปัจจุบันเป็นพื้นที่เกษตรกรรมของประชาชนในพื้นที่ และพื้นที่รกร้างบางส่วน โดยมีผู้ครอบครองพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 60 ราย

เมื่อไปสำรวจพบว่าพื้นที่ดังกล่าวเหมาะสำหรับการสร้างเป็นเมืองใหม่มาก เพราะอยู่ในทำเลที่ดีมีความพร้อมด้านโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานและการคมนาคมที่สมบูรณ์ เช่น ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 (มอเตอร์เวย์) สนามบินอู่ตะเภา ท่าเทียบเรือน้ำลึกมาบตาพุด โครงการรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก เป็นต้น โดยตั้งเป้าหมายจะสร้างให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของบ้านฉาง และให้เป็นเมืองแห่งอนาคตที่จะมีบทบาทภายใต้เขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาค ตะวันออก (Eastern Economic Corridor) เพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจระหว่างภูมิภาคอาเซียนและภูมิภาคอื่นของโลก

เมืองใหม่อัจฉริยะบ้านฉางจะเป็นศูนย์กลางของธุรกิจ พร้อมการลงทุนยุคใหม่สําหรับภาคเอกชน เพื่อรองรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของภาครัฐ โดยชู 3 ประเด็นหลัก คือ 1.เมืองใหม่ที่พัฒนาบนพื้นที่สีเขียว สามารถออกแบบระบบสาธารณูปโภคได้ใหม่ทั้งหมด ตามมาตรฐานที่ต้องการ 2.เป็นเมืองที่เกิดจากความต้องการของท้องถิ่น และความร่วมมือของประชาชน และ 3.เป็นเมืองที่สมบูรณ์ มีประชากรทุกสาขาอาชีพ มีการพักอาศัยและประกอบธุรกิจเป็นเมืองภายใต้การบริหารของเทศบาลตำบลบ้านฉาง ที่ในอนาคตจะกลายเป็นต้นแบบให้เทศบาลอื่นสามารถนำไปใช้ได้

ในขั้นตอนต่อไปจะดำเนินการจัดรูปที่ดินโดยได้เสนอเรื่องไปยังกรมโยธาธิการและผังเมืองแล้ว และได้รับความเห็นชอบในระดับหนึ่ง คาดว่าจะดำเนินการขออนุญาตให้แล้วเสร็จภายในปลายปี 2560 ซึ่งเชื่อว่าเมื่อมีการจัดรูปที่ดินแล้วจะสามารถเพิ่มมูลค่าให้ที่ดินในทำเลดังกล่าวถึง 5-10 เท่าตัว โดยปัจจุบันราคาที่ดินอยู่ที่ 7-8 แสนบาท/ตารางวา

ขณะเดียวกันจะมี​การพัฒนาเทคโนโลยีกับองค์กรภาคเอกชน เช่น การพัฒนาระบบข้อมูลเปิด (Open Data) ให้คนเข้าถึง กิจกรรมที่เกิดขึ้นในแหล่งธุรกิจและรองรับการเติบโตของประชากรในอนาคต มีการผลิตและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพจากระบบผลิตไฟฟ้าและความร้อนร่วมและระบบผลิตจากโซลาร์ฟาร์ม และบริการรถไฟฟ้าสาธารณะที่ให้บริการแก่คนทุกกลุ่ม (Universal Design)

รวมถึงการสนับสนุนการเดินทางด้วยทางเดินเท้าและทางจักรยานภายในเมืองที่ประหยัดพลังงานและส่งเสริมสุขภาวะแก่ผู้อยู่อาศัย โครงสร้างพื้นฐานใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ IoT และโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนําแสง บรอดแบนด์เพื่อการติดต่อสื่อสารและบริหารจัดการอย่างทั่วถึงแก่ผู้รับบริการ ทุกกลุ่มทุกเวลา ให้มีฟรีไว-ไฟ ที่มีไว-ไฟความเร็วสูงให้ใช้ในย่านธุรกิจและท่องเที่ยวในเมือง และการควบคุมการจราจรและบริหารจัดการด้วยนวัตกรรม OCR : Optical Character Recognition และยังเป็นระบบรักษาความปลอดภัยของเมืองด้วย

เมืองอัจฉริยะ "บ้านฉาง" ต้นแบบสมาร์ทซิตี้ รองรับเออีซี

สิทธิศักดิ์ ปฐมวารี นักผังเมืองอาวุโสของบริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดรูปที่ดินทั้งหมดต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปี ต้องมีการออกโฉนดที่ดินใหม่ ซึ่งเจ้าของที่ดินทุกแปลงจะมีส่วนร่วมในการพัฒนาที่ดินด้วย โดยแต่ละแปลงอาจจะนำมาใช้บางส่วน หรือตั้งแต่ 10% ขึ้นไป แล้วแต่ความเห็นชอบของคณะกรรมการจัดรูปที่ดิน ทั้งนี้ที่ดินทั้งหมดจะมีบางส่วนที่มีหน้ากว้างติดทะเลประมาณ 2 กิโลเมตร คาดว่าจะใช้งบในการพัฒนาเมืองใหม่อัจฉริยะ ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท

 

งบประมาณจะมาจาก 2 ส่วนด้วยกัน คือ 1.จากการจัดตั้งในรูปแบบของสหกรณ์ ที่เจ้าของที่ดินจะมีส่วนร่วมด้วย และสามารถแสวงหาผลกำไรในการลงทุนจากการพัฒนาเมืองใหม่นี้ 2.การระดมทุนของภาคเอกชน ด้วยการนำเสนอให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนในส่วนของที่พักอาศัยแนวราบเท่านั้น เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมให้ดีและเพื่อไม่ให้เกิดความต่างระดับทางเศรษฐกิจ ที่ผ่านมาได้เสนอไปยังกลุ่มซีพี ที่คาดว่าน่าจะให้บริษัท ซี.พี.แลนด์ เข้ามาพัฒนา และบริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ที่รับเรื่องไว้พิจารณาแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีบริษัทอสังหาฯ ในท้องถิ่นให้ความสนใจอีกหลายราย รวมไปถึงบริษัท อีสเทอร์น สตาร์เรียล เอสเตท ด้วย อีกทั้งยังมีกลุ่มนักลงทุนจากเกาหลีก็สนใจเข้ามาลงทุน รวมไปถึงญี่ปุ่นที่เจรจาผ่านสถานทูต โดยให้ความสนใจที่จะเชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูงจากสนามบินอู่ตะเภาไปยังเมืองใหม่อัจฉริยะนี้ด้วย แต่ทั้งนี้ยังไม่ได้เจรจาในรายละเอียดว่าจะให้ลงทุนในส่วนไหนบ้าง

เมื่อรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนอีอีซี จะยิ่งส่งเสริมให้โครงการเมืองใหม่อัจฉริยะบ้านฉางมีความเป็นไปได้มากขึ้น และทำให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในโครงการทั้งเจ้าของที่ดินและหน่วยงานต่างๆ มีความมั่นใจ และพร้อมที่จะผลักดันโครงการให้เป็นรูปธรรม คาดว่าจะใช้ระยะเวลาพัฒนาทั้งโครงการประมาณ 5 ปี