posttoday

เปิดแผนพัฒนาเมือง ผลักดัน กทม.สู่มหานครแห่งเอเชีย

27 กรกฎาคม 2560

กทม.กำลังเริ่มกระบวนการปรับปรุงผังเมือง กทม. ครั้งที่ 4 เพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงหลายๆด้าน

โดย...วราพงษ์ ป่านแก้ว

กรุงเทพมหานคร (กทม.) กำลังเริ่มกระบวนการปรับปรุงผังเมือง กทม. ครั้งที่ 4 เพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม และแนวโน้มการพัฒนาเมือง นโยบายของภาครัฐ และความต้องการของประชาชน

การปรับปรุงผังเมืองจึงจำเป็นต้องเอาแผนยุทธศาสตร์ในด้านต่างๆ มาเป็นโจทย์ในการวางผังเมือง ไล่เรียงตั้งแต่แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตั้งแต่ปี 2560-2579 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่เริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2560-2564 ร่างผังภาค กทม.และปริมณฑล รวมถึงวิสัยทัศน์ของ กทม. เริ่มด้วยแผนใหญ่สุด คือ ยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ได้วางเป้าหมายในการพัฒนาระบบเมืองศูนย์กลางความเจริญของประเทศ โดยจัดระบบผังเมืองที่มีประสิทธิภาพและมีส่วนร่วม ส่งเสริมการพัฒนาเมืองน่าอยู่ ปลอดภัย จัดการสิ่งแวดล้อมเมืองอย่างเหมาะสม มีการจัดโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมและเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับศักยภาพ จัดระบบขนส่งสาธารณะทั้งในเขตเมืองและที่เชื่อมโยงเมืองศูนย์กลางทั่วประเทศ รวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตเมืองเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการ

ขณะที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ได้วางเป้าหมายในการส่งเสริมสนับสนุนให้ กทม.เป็นเมืองศูนย์กลางการติดต่อธุรกิจระหว่างประเทศ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการศึกษา การบริการด้านการแพทย์และสุขภาพระดับนานาชาติ ที่พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก เทคโนโลยีในการสื่อสาร และระบบคมนาคมมาตรฐานสูง โดยปรับปรุงและจัดให้มีศูนย์การขนส่งในเขตเมือง อาทิ บางซื่อ จัดระเบียบการใช้ประโยชน์ที่ดิน จัดเตรียมระบบสาธารณูปโภคสาธารณูปการ บริการทางสังคมและที่อยู่อาศัย ให้สอดคล้องกับความต้องการของประชากรเมืองที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งแก้ไขปัญหาจราจร ขยะ น้ำเสีย น้ำท่วม และมลภาวะทางอากาศ ตลอดจนการจัดทัศนียภาพของเมืองให้สวยงาม มีพื้นที่สีเขียวและสวนสาธารณะ

นอกจากนี้ ยังวางเป้าพัฒนาเมืองปริมณฑล (สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม และสมุทรสาคร) ให้เป็นเมืองศูนย์กลางการบริการธุรกิจและพาณิชย์ ศูนย์กลางการขนส่งและโลจิสติกส์ ศูนย์บริการด้านสุขภาพและการศึกษา และเมืองที่อยู่อาศัย โดยประสานการวางระบบโครงข่ายโครงสร้างพื้นฐาน ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ และบริการทางสังคม กับมาตรการทางผังเมือง ในการชี้นำให้การขยายตัวของเมืองเป็นไปอย่างมีแบบแผนและเหมาะสม

รวมทั้งการจัดสิ่งแวดล้อมเมืองให้เอื้อต่อการอยู่อาศัยการเดินทางและการขนส่งโดยสะดวกและปลอดภัย โดยเฉพาะการป้องกันน้ำท่วม-น้ำเสีย พร้อมทั้งการจัดให้มีพื้นที่สีเขียวเพื่อเป็นปอดและสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชุมชนเพิ่มขึ้นรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและกิจกรรมต่างๆ ทั้งการท่องเที่ยว อุตสาหกรรม ธุรกิจการค้า การคมนาคมขนส่ง และการเพิ่มขึ้นของประชากรเมือง

ด้านร่างผังภาค กทม.และปริมณฑล ได้กำหนดบทบาทให้ กทม.และปริมณฑลเป็นมหานครแห่งเอเชียภายในปี 2580 โดยจะพัฒนาไปสู่การเป็น “มหานครระดับโลก” ที่มีบทบาทเป็นประตูเชื่อมโยงระหว่างประเทศไทย ภูมิภาคเอเชีย และทวีปอื่นๆ ในโลก รวมถึงเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคใน 5 ด้าน ได้แก่ ด้านการคมนาคมขนส่ง ด้านการค้าและการบริการ ด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง ด้านการสาธารณสุขและการแพทย์ระดับโลก และด้านการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม

ทั้งนี้ ผังภาค กทม.และปริมณฑลได้วางเป้าหมายการพัฒนาเมืองรองรับการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ เช่น ด้านประชากรและสังคม ซึ่งคาดว่า กทม.และปริมณฑลจะมีประชากรอยู่อาศัย (รวมประชากรแฝง) สูงขึ้นถึง 18 ล้านคนเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันเป็นจำนวนประมาณ 1.9 ล้านคน โดยจะมีประชากรวัยชรา (อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป) เพิ่มขึ้นจาก 2 ล้านคนเป็น 5 ล้านคน คิดเป็น 28% ของประชากรทั้งหมดจึงจำเป็นต้องจัดเตรียมการให้บริการแก่ประชากรวัยชรา นอกจากนี้จะมี ประชากรแฝงกลางวันที่เข้ามาเรียนและทำงาน จำนวนสูงถึง 8 แสนคน/วัน และนักท่องเที่ยวเกิน 100 ล้านคน/ปี ทำให้มีความจำเป็นต้องเตรียมการให้บริการสาธารณะให้เพียงพอ

ขณะที่ด้านเศรษฐกิจจะต้องเตรียมพื้นที่รองรับการเติบโตของเศรษฐกิจ ทั้งสาขาปฐมภูมิ ที่เน้นเกษตรกรรมคุณภาพสูงเพื่อการส่งออกและสร้างความมั่นคงให้กับเมือง ในพื้นที่ จ.ปทุมธานีนครปฐม สมุทรสาคร สาขาทุติยภูมิ วางเป้าหมายการผลิตสินค้าเชิงนวัตกรรมและสินค้าสร้างสรรค์ที่มีมูลค่าสูง ในพื้นที่สมุทรปราการ ปทุมธานี สมุทรสาคร และสาขาตติยภูมิ คือการพัฒนาภาค กทม.และปริมณฑลให้เป็นฐานของสำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาค การขนส่ง การให้บริการสาธารณะ และการค้าการบริการสำหรับประชาชน

ด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน จะจัดสรรประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินแต่ละประเภทตามฐานการผลิตทางเศรษฐกิจและสังคม โดยในปี 2580 พื้นที่ชุมชนและสิ่งปลูกสร้างจะเพิ่มขึ้น 36.1% และพื้นที่อุตสาหกรรมจะเพิ่มขึ้น 4.8% ในขณะที่พื้นที่เกษตรกรรมจะลดลง 24.1% จากพื้นที่ในปัจจุบัน

ด้านวิสัยทัศน์ของ กทม. 2575 ได้กำหนดให้ กทม.เป็นมหานครแห่งเอเชียเช่นเดียวกับร่างผังภาค กทม.และปริมณฑล โดยกำหนดจากความคิด และความต้องการของประชาชน โดยใน 20 ปีข้างหน้า เมือง กทม.จะก้าวขึ้นเป็น “มหานครแห่งเอเชีย” เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมในทวีปเอเชีย และในภูมิภาคอาเซียน

ทั้งนี้ วิสัยทัศน์ของ กทม. 2575 ได้กำหนดบทบาทของ กทม.ไว้ในหลายๆ ด้าน เช่น มหานครปลอดภัย คือเป็นมหานครที่ปลอดมลพิษ ปลอดอาชญากรรม และยาเสพติด ปลอดอุบัติเหตุ ปลอดภัยพิบัติ เป็นมหานครสีเขียว ที่มีพื้นที่สาธารณะ มีพื้นที่สีเขียวในสัดส่วนที่เหมาะสมกับขนาดพื้นที่และจำนวนประชากร เป็นมหานครที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน ที่ประหยัดพลังงาน ใช้พลังงานที่สะอาดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ ยังเป็นมหานครสำหรับทุกคน ทุกชนชั้น ทุกอาชีพ ทุกเพศ ทุกวัย และทุกสถานภาพ อยู่ร่วมกันอย่างเสมอภาคและสมานฉันท์ เกื้อกูลซึ่งกันและกัน เป็นมหานครกะทัดรัด โดยปรับเปลี่ยนโครงสร้างผังเมืองจากเมืองโตเดี่ยวรวมศูนย์ ไปเป็นมหานครที่ประกอบด้วยเมืองขนาดเล็ก กะทัดรัด จำนวนหลายเมืองทั้งใน กทม. และในจังหวัดใกล้เคียงกัน เชื่อมโยงสนับสนุนซึ่งกันและกัน เชื่อมต่อกันโดยรถไฟฟ้าทันสมัย เป็นต้น

แผนต่างๆ ที่จะกำหนดบทบาท หน้าที่ของ กทม.และปริมณฑลในอนาคต แม้จะถูกมองว่าเป็นแผนที่เขียนขึ้นบนกระดาษ และมักจะนำมาสู่ภาคปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริงได้น้อยมาก แต่สำหรับการปรับปรุงผังเมือง กทม.รอบนี้ ได้เริ่มคิดถึงกระบวนการมีส่วนร่วมของกลุ่มองค์กรต่างๆ ที่จะนำแผนต่างๆ มาทำให้เกิดเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้กทม.ไม่ใช่แค่เมืองในฝันบนแผ่นกระดาษอีกต่อไป