posttoday

สวนผักปัญญาชน ปลอดสารในแปลงมหา’ลัยสีเขียว

25 กุมภาพันธ์ 2560

วันนี้การปลูกผักปลอดสารพิษกินเอง ไม่ได้จำกัดเฉพาะการปลูกในเชิงธุรกิจ หรือในกลุ่มผู้ที่มีพื้นที่กว้างๆ เท่านั้น

โดย...กองบรรณาธิการโพสต์ทูเดย์

วันนี้การปลูกผักปลอดสารพิษกินเอง ไม่ได้จำกัดเฉพาะการปลูกในเชิงธุรกิจ หรือในกลุ่มผู้ที่มีพื้นที่กว้างๆ เท่านั้น แต่ยังสามารถปลูกได้ในพื้นที่อยู่อาศัยที่จำกัด ไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม คอนโดมิเนียม อพาร์ตเมนต์ หรือหอพัก ก็สามารถแบ่งปันพื้นที่มาปลูกสวนผักกินเองได้ รวมถึงพื้นที่ซึ่งเต็มไปด้วยชีวิตชีวา และพลังสดใสของวัยหนุ่มสาวอย่างในรั้วมหาวิทยาลัยก็เช่นกัน

“ฟาร์มผักสวนครัว” ที่จะพาไปชมวันนี้ ไม่ได้ติดอยู่ในกรอบที่ว่า ต้องเป็นกิจกรรมของสถาบันหรือคณะที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร แต่คือฟาร์มผักสวนครัวปลอดสาร ที่หวังให้เป็นอาหารหล่อเลี้ยงชุมชนในมหาวิทยาลัย

สวนผักบนหอพักมหิดล นัดกันเก็บผลผลิต

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ช่วงชีวิตตอนเป็นนิสิต นักศึกษา เป็นช่วงเวลาแห่งความสุข ขณะเดียวกัน ก็เป็นช่วงเวลาที่หลายคนอาจต้องเผชิญกับปัญหา และความเครียดมากมายเช่นกัน  ยังไม่นับว่าหลายคนต้องจากบ้านมาไกล มาใช้ชีวิตอยู่บนตึกหอพัก และฝากท้องไว้กับร้านค้า หรือเมนูยอดฮิตอย่าง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

สวนผักปัญญาชน ปลอดสารในแปลงมหา’ลัยสีเขียว สวนผักบนหอพักมหิดล

 

นักศึกษาพยาบาลก็เช่นกัน แม้จะเป็นผู้ที่เรียนรู้เกี่ยวกับดูแลรักษาพยาบาลผู้คน แต่ก็ใช่ว่าจะมีเวลาและโอกาสในการดูแลรักษาสุขภาพตัวเองนัก ทางเจ้าหน้าที่ ทีมงาน ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ จึงเกิดแนวคิดว่าอยากจะเปลี่ยนพื้นที่ว่างเปล่า อยู่ในบริเวณหอพักโรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ให้กลายเป็นสวนผัก เพื่อให้นักศึกษาได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องการปลูกผัก พึ่งตนเอง ได้มีเวลาสัมผัสธรรมชาติ และที่สำคัญคือได้มีอาหารดีๆไว้กิน

ศุภนุช มงคลพันธ์ หรือ “นุช” หัวหน้าโครงการสวนผักบนหอพัก เล่าให้ฟังว่า เดิมทีทางหอพักก็มีการทำกิจกรรมร่วมกับนักศึกษาอยู่บ้าง คือ ชวนกันปลูกผัก โดยมีกระถางใส่ แล้วให้เด็กนำขึ้นไปปลูกต่อบนหอพัก แต่ด้วยความที่เนื้อที่บนหอพักน้อย ประกอบกับเห็นว่ามีเนื้อที่ที่ถูกทิ้งว่างอยู่บริเวณหอพัก จึงคิดขยับขยายพื้นที่ลงมาปลูกผักกันด้านล่าง โดยเปิดรับสมัครนักศึกษาที่สนใจ ให้มาช่วยกันทำแปลง ปลูกผัก ดูแลรดน้ำ ที่สำคัญคือ มีการนัดกันเก็บผลผลิต และนำไปทำอาหารกินร่วมกันด้วย

“ตอนนี้มีนักศึกษาที่สมัครเข้าร่วมโครงการ 7 คน และก็มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ มาร่วมด้วยช่วยกันทำอีก 12 คน แปลงผักเล็กๆ แห่งนี้เลยกลายเป็นเสมือนแปลงทดลอง ที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และที่พบปะพูดคุยกันทั้งของนักศึกษาและเจ้าหน้าที่”

สวนผักปัญญาชน ปลอดสารในแปลงมหา’ลัยสีเขียว

 

สำหรับเสียงสะท้อนจากนักศึกษาที่เป็นสมาชิกโครงการ บางคนบอกว่า แปลงผักแห่งนี้มีส่วนช่วยคลายเครียดได้มาก โดยเฉพาะวันที่ต้องเรียนหนักๆ อยู่ในห้องเรียนทั้งวัน เมื่อมีโอกาสได้มาอยู่กับพื้นที่สีเขียว ก็รู้สึกผ่อนคลายขึ้น อีกส่วนเห็นว่าการได้ปลูกผักกินเองทำให้รู้สึกชอบที่ได้กินอาหารดีๆ เพราะสนใจเรื่องสุขภาพอยู่แล้ว และเกิดความสนุกเพราะได้ร่วมกิจกรรมพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคนอื่นด้วย

Dome Organic Garden ปลูกผักไว้ใกล้โดม

ที่หน้าตึกโดม ณ วันนี้ ชอุ่มไปด้วยความเขียวขจีของสวนผักออร์แกนิก จากความคิดริเริ่มของผู้ช่วย ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขาเล่าถึง ที่มาของ Dome Organic Garden หรือโครงการแปลงไม้ประดับให้เป็นแปลงผักออร์แกนิกว่า เกิดจากความจริงเรื่องเกษตรกรรมของไทยในปัจจุบันใช้สารเคมีมากเกินไป จนเกิดสารพิษตกค้างในร่างกาย โดยเฉพาะสารพิษที่ได้รับจากผัก ซึ่งก่อให้เกิดโรคมะเร็ง สาเหตุการตายอันดับ 2 ของคนไทยรองจากอุบัติเหตุ เหตุนี้เกษตรกรรมไทยจึงน่าจะเปลี่ยนจากเกษตรเคมีเป็นเกษตรอินทรีย์ที่ดีต่อสุขภาพ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่มีสารเคมีตกค้าง และมีต้นทุนที่น้อยมาก 

จากความคิดที่อยากเปลี่ยนวิถีเกษตรกรรมเคมีสู่เกษตรปลอดภัยนี้เอง และคิดว่าไม่ต้องรอช้า หรือให้ใครเปลี่ยนก่อน เริ่มต้นที่ชุมชนธรรมศาสตร์ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ Dome Organic Garden ทดลองทำตั้งแต่ปลายปี 2558 ด้วยการเปลี่ยนพื้นที่บางส่วนของลานปรีดี พนมยงค์ ที่หน้าตึกโดม ริมแม่น้ำเจ้าพระยา จากที่เคยเป็นแค่ลานหิน มีพุ่มไม้ดอก เช่น ดอกเข็ม ต้นหนวดปลาหมึก และสนามหญ้าที่เห็นกันจนชินตา ตอนนี้กลายมาเป็นแลนด์มาร์คใหม่ด้วยการปรับพื้นที่ให้เป็นสวนผักออร์แกนิกแทน ผักชนิดแรกที่ปลูกคือ ผักบุ้ง ซึ่งได้ผลดี และยังได้รับความสนใจจากผู้ที่ผ่านไปผ่านมา โดยเฉพาะชาวต่างชาติที่เข้ามาร่วมปลูกผักด้วย รวมไปถึงบุคลากรในสถาบันและนิสิต ที่ต่างก็มาช่วยกันปลูกและดูแลแปลงผักของตนเอง

สวนผักปัญญาชน ปลอดสารในแปลงมหา’ลัยสีเขียว Dome Organic Garden มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

“เราเน้นที่การปลูกแนวความคิดของคนก่อน นั่นคือแค่ลงมือทำก็เปลี่ยนได้เลย ซึ่งเราก็หวังว่าจะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเกษตรกรไทย และเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ให้เปลี่ยนจากเกษตรเคมีเป็นเกษตรอินทรีย์ รวมถึงสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้บริโภคหันมากินผักอินทรีย์กันมากขึ้น ใช้พื้นที่ในบ้านมาปลูกผักอินทรีย์ซึ่งทำได้ง่ายมาก ขอเพียงแค่ลงมือทำเท่านั้น”

“จุดเริ่มต้นที่สำคัญคือเราไม่ได้บังคับให้ไปเอาเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานใดมาปลูกหรือดูแล แต่เราจัดเป็นแปลงขนาดย่อมแล้วประกาศเชิญชวนคนที่สนใจ อาจารย์ เจ้าหน้าที่ นิสิตมาลงชื่อปลูกผักกัน โดยมหาวิทยาลัยจะไม่เก็บค่าที่หรือหักผลผลิตใดๆ เลย ขอเพียงแค่อย่าใช้สารเคมี และต้องเป็นเกษตรอินทรีย์เท่านั้น” 

อาจารย์ปริญญา บอกด้วยว่า หลังจากปลูกผักและเห็นผลดีแล้ว จะจัดให้มีวันกินผัก โดยการชวนกันมากินผักในวันเก็บเกี่ยว เบื้องต้นคาดว่าจะเป็นวันที่ 6 หรือ 13 มี.ค.นี้ ซึ่งทุกคนก็จะได้เก็บผักมากินกันสดๆ อย่างผักบุ้งก็เก็บมาแล้วนำมาผัดมากินกันเลย เพื่อเทียบให้เห็นกันชัดๆ ว่าผักที่ซื้อจากตลาดกับผักที่ปลูกกินเองนั้นมีรสชาติและความอร่อยต่างกันมากเพียงใด

สวนผักปัญญาชน ปลอดสารในแปลงมหา’ลัยสีเขียว ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

 

นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดที่จะขยายผลไปถึงการจัดบูธเล็กๆ ให้บริการคนที่มาชมและทดลองกินผักจากแปลงที่เราปลูก และอาจเปิดตลาดผักและอาหารปลอดสารพิษ เป็นสินค้าเกษตรอินทรีย์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และจะชักชวนชุมชนรอบเกาะรัตนโกสินทร์ หรือชุมชนย่านฝั่งธน ให้ร่วมกันนำผักมาขายหรือแลกเปลี่ยนกัน จนกลายเป็นตลาดขายอาหารและสินค้าปลอดสารเคมี

“แปลงผักของธรรมศาสตร์ ไม่ใช่แปลงผักที่มีไว้ปลูกผักโชว์ แต่มีเพื่อจะเชิญชวนให้เปลี่ยนจากเกษตรเคมีเป็นเกษตรอินทรีย์ด้วยการลงมือทำ เพื่อสร้างความสนใจ ความตระหนัก และกระแสของผู้คนที่ต้องการจะเปลี่ยนขึ้นมา โดยหวังว่ากระแสที่เกิดขึ้นนั้นจะเป็นส่วนสำคัญที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงต่อไป คือเปลี่ยนผู้บริโภคให้รับรู้ว่าการปลูกผักมันง่ายมาก และมันอร่อยกว่า เมื่อกระแสผู้บริโภคเติบโต กระแสจากทางด้านผู้ผลิตก็จะตามมาในที่สุด” อาจารย์ปริญญาทิ้งท้าย

ต้นแบบสวนผักดาดฟ้า แหล่งอาหารดีของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

มาที่ฟากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ประสบความสำเร็จจากโครงการสวนผักคนเมือง ภายใต้การดูแลของพาสินี สุนากร รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีทางอาคาร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ริเริ่มทำสวนเล็กๆ บนดาดฟ้าหลังจากน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 และหลังจากที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในปี 2555 จึงเป็นจุดเริ่มต้นโครงการสวนผักบนหลังคา โดยใช้พื้นที่บนดาดฟ้าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ที่มีการทำวิจัยการปลูกพืชพันธุ์อยู่แล้ว เป็นพื้นที่เป้าหมายแรกของโครงการ

มาวันนี้ สวนผักบนดาดฟ้า ได้เพิ่มขึ้นอีก 2 อาคาร คือดาดฟ้าชั้น 4 ของอาคารสำนักหอสมุด เป็นการเปิดพื้นที่ให้นิสิตนักศึกษาสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เพื่อเข้าไปช่วยดูแลและใช้เป็นสถานที่พักผ่อน อีกแห่งหนึ่งคือดาดฟ้า ชั้น 5 อาคารวิทยบริการ ซึ่งนับเป็นสวนดาดฟ้าต้นแบบแปลงสาธิตสำหรับให้บุคคลภายนอกได้เข้ามาศึกษา รวมถึงใช้เป็นพื้นที่ให้ทดลองทำจริงสำหรับกลุ่มนิสิตหรือบุคคลภายนอกที่เข้ามาเรียนรู้

สวนผักปัญญาชน ปลอดสารในแปลงมหา’ลัยสีเขียว พาสินี สุนากร สวนผักบนดาดฟ้า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

อาจารย์พาสินี เล่าว่า ตอนนี้มีหลายอาคารในมหาวิทยาลัยที่สนใจจะทำสวนดาดฟ้า ซึ่งก็จะช่วยดูแลในส่วนของการวางผังออกแบบจัดสวน และหาพันธุ์ผักที่เหมาะสมต่อการปลูกบนดาดฟ้า เพราะมีต้นทุนดำเนินการไม่มากนัก แต่ละอาคารก็จะจัดการกันเองโดยเปิดให้บุคลากรที่สนใจเข้ามาร่วมปลูกผักด้วยกัน

“ผลผลิตจากที่เราปลูกมีการนำไปใช้เป็นอาหารภายในโรงอาหารของสถาบัน และนอกจากจะใช้เป็นพื้นที่เสริมในหลักสูตรการสอนแล้ว ยังเป็นพื้นที่ในการทำกิจกรรมเสริมให้กับบุคลากรในสถาบันด้วย โดยเฉพาะกลุ่มแม่บ้านที่มีการส่งไปอบรมเรื่องการปลูกผักอินทรีย์ แล้วมาช่วยดูแลแปลงผักบนดาดฟ้านี้ด้วย ซึ่งแม่บ้านถือเป็นกลุ่มหลักที่ดูแล แล้วอาจารย์และนิสิตก็จะมาช่วยดูแลเสริมด้วย”

พื้นที่สวนดาดฟ้า ยังใช้เป็นพื้นที่แปลงสาธิตให้กับผู้ที่มาเข้าเรียนในหลักสูตรการปลูกผักอินทรีย์ของมหาวิทยาลัย อีกทั้งยังมีการขยายผลโดยกลุ่มผู้ที่เข้ามาเรียน คือนำผลจากการทดลองจริง ผลจากการเรียนภายในหลักสูตร ไปดำเนินการเตรียมแผนการทำสวนผักคนเมืองหลังเกษียณ บางคนก็นำไปต่อยอด ปลูกภายในบ้าน และจัดเตรียมพื้นที่ไว้เป็นโครงการในเชิงธุรกิจอีกด้วย

อาจารย์พาสินี เล่าว่า ในต่างประเทศมีการสนับสนุนเรื่องของการทำสวนบนดาดฟ้าอย่างจริงจัง เนื่องจากมีแนวคิดว่าพื้นที่ดาดฟ้าทำให้เกิดการแผ่รังสีความร้อน ทำให้เมืองเกิดความร้อน ที่เรียกว่าเกาะความร้อนเมือง ซึ่งมีสาเหตุจากดาดฟ้าเป็นหลัก ในต่างประเทศ เช่น โตเกียว ญี่ปุ่น นิวยอร์ก แคนาดา สิงคโปร์ มีการบังคับกันเป็นกฎหมายว่าถ้าคุณมีดาดฟ้าอาคารขนาดใหญ่ บางทีก็จะกำหนดไว้เลยว่าขนาดพื้นที่ 1,000 ตารางเมตรขึ้นไป จะต้องมีพื้นที่เป็นสวนดาดฟ้า หรือโซลาร์เซลล์ ในบางประเทศก็มีการเพิ่มมาตรการจูงใจอย่างเช่นที่สิงคโปร์ รัฐบาลจะให้การสนับสนุนงบประมาณบางส่วนสำหรับทำสวนดาดฟ้าด้วย แต่ในบ้านเรายังไม่มีกฎหมายหรือข้อบังคับในส่วนนี้     

เบื้องหลังฟาร์มผักสวนครัวในรั้วมหาวิทยาลัย นั้นคือพื้นที่แห่งการเรียนรู้ คือห้องเรียนที่มีชีวิต วรางคนางค์ นิ้มหัตถา แห่งเครือข่ายสวนผักคนเมือง แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. เล่าว่า ในต่างประเทศทั้งโซนอเมริกาและยุโรปเรื่องนี้ไปไกล มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่มีฟาร์มผักสวนครัว ด้วยพลังของนักศึกษาที่มีความเข้มแข็ง ตระหนักถึงปัญหาเรื่องความมั่นคงทางอาหาร การใช้สารเคมีในการเพาะปลูก การทำเกษตรที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  การศึกษาได้สร้างความตระหนักให้พวกเขา ว่ารอช้าไม่ได้ ต้องลงมือเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง

อย่างเช่น นักศึกษาเอกด้านสิ่งแวดล้อมที่มหาวิทยาลัยแบรนดีส์ Brandies สหรัฐอเมริกา หลังจากที่เรียนวิชาเกี่ยวกับความยั่งยืนและเรื่องความเป็นธรรมด้านอาหาร ก็เกิดแรงบันดาลใจที่จะลงมือเปลี่ยนแปลงทำให้ผู้คนทั้งในมหาวิทยาลัยและชุมชนรอบข้าง ได้เรียนรู้เรื่องการผลิตอาหารแบบยั่งยืน และสามารถเข้าถึงอาหารที่ดี มีคุณภาพ จึงช่วยกันทำชมรมเกษตร Brandeis Farmers Club ในมหาวิทยาลัยขึ้น โดยขอใช้พื้นที่บริเวณดาดฟ้าของมหาวิทยาลัยที่ว่างอยู่มาปลูกผัก มหาวิทยาลัยเองก็ให้การสนับสนุนเรื่องนี้เป็นอย่างดี คือไม่เพียงให้พื้นที่เท่านั้น แต่ยังให้ทุนสนับสนุน 1 ล้านบาทเพื่อพัฒนาแปลงด้วย และยังได้ความช่วยเหลือจากกลุ่ม Green City Growers ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการทำเกษตรในเมืองที่ Boston มาช่วยให้คำแนะนำเรื่องการออกแบบและทำสวนผักบนดาดฟ้า

สวนผักแห่งนี้ใช้ลังที่ใส่น้ำมาทำเป็นแปลงอยู่บนพื้นที่ 1,500 ตารางฟุต มีนักศึกษาในชมรม รวมถึงอาสาสมัครมาช่วยกันลงมือ ลงแรงทำ ผลผลิตที่ได้ ทางกลุ่มวางแผนว่าจะนำไปขายที่ตลาดนัดเกษตรกร บางส่วนจะส่งให้กับสมาชิกผักที่จ่ายเงินล่วงหน้า และบางส่วนก็จะบริจาคให้กับธนาคารอาหาร และกลุ่มคนจนในชุมชน

วรางคนางค์ บอกว่า ในประเทศไทยก็มีมหาวิทยาลัยหลายแห่งเริ่ม สนใจเรื่องนี้ แม้ส่วนใหญ่เป็นความคิดริเริ่มของอาจารย์ และบุคลากร รวมถึงมุ่งเน้นงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเป็นหลัก ถ้าจะพัฒนาให้เกิดผลยั่งยืน และสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง ต้องอาศัยพลังของนักศึกษาและไม่ได้จำกัดอยู่เพียงคณะด้านการเกษตร และมีพื้นที่ปลูกเป็นรูปธรรม เป็นห้องเรียนมีชีวิต ให้คนรุ่นใหม่เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง เป็นการลงมือทำแบบหวังผล  ให้เกิดพื้นที่อาหารสำหรับผู้คน ชุมชนในมหาวิทยาลัย รวมถึงชุมชนรอบข้าง ทั้งยังคิดให้ไปไกลเกินกว่าตัวเอง เผื่อแผ่ถึงคนด้อยโอกาส คนยากไร้ในสังคม และไม่ได้จำกัดเพียงแค่คณะ สาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร เรื่องอาหารที่ดีนั้นมีความหมายกับชีวิตของทุกคน

ฟาร์มผักสวนครัวในมหาวิทยาลัย คือการใช้ประโยชน์พื้นที่สาธารณะอันว่างเปล่า เพื่อสร้างอาหารกายที่ดีมีคุณค่าสำหรับทุกคนแล้ว และยังเป็นอาหารของหัวใจอีกด้วย เพราะคือการหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งมิตรภาพระหว่างเพื่อนที่ช่วยแบ่งปันกิน