posttoday

ซ่อมบ้าน สร้างสุข (2)

01 กุมภาพันธ์ 2560

แนวทางการฟื้นฟูบ้านหลังน้ำลดครั้งที่แล้วให้มีการตรวจสอบสภาพก่อนเข้าบ้าน

โดย...SCG

แนวทางการฟื้นฟูบ้านหลังน้ำลดครั้งที่แล้วให้มีการตรวจสอบสภาพก่อนเข้าบ้าน แนวทางต่อมาคือตรวจสอบสภาพคัตเอาต์ สะพานไฟ หรือเบรกเกอร์ ซึ่งหากแผงสวิตช์คัตเอาต์ถูกน้ำท่วมถึง ให้ตรวจสอบด้วยสายตาว่า มีสภาพสมบูรณ์ ไม่มีน้ำ ไม่มีคราบสนิมหรือเศษดินติดอยู่ สายต่อลงดินมีสภาพสมบูรณ์

ทั้งนี้ ก่อนการปรับปรุงแก้ไขจะต้องตรวจสอบเต้ารับและสวิตช์ที่ติดตั้งบนผนังในส่วนที่โดนน้ำท่วมขัง สังเกตจากคราบน้ำตามผนัง ให้ถอดฝาครอบ พิจารณาว่าอยู่ในสภาพสมบูรณ์หรือไม่ มีน้ำมีคราบสนิม หรือเศษดินติดอยู่ภายในหรือไม่ หากมีน้ำคราบสนิม หรือเศษดินค้างอยู่ภายในให้เปลี่ยนอุปกรณ์เต้ารับและสวิตช์ไฟฟ้า โดยผู้มีความรู้ทางด้านช่างหรือช่างผู้เชี่ยวชาญ

หลอดไส้และหลอดตะเกียบ ให้ถอดหลอดออกจากโคม แล้วดำเนินการตรวจสอบขั้วหลอดว่าเปียกชื้นหรือไม่ถ้าเปียกชื้นให้เช็ดทำความสะอาดให้แห้งก่อนแล้วจึงใส่กลับเข้าที่เดิม (หลอดตะเกียบมักจะมีวงจรไฟฟ้าอยู่ด้านในฐานหลอด การไล่ความชื้นอาจจะต้องใช้เวลานานกว่าหลอดไส้)

หลอดฟลูออเรสเซนต์ หรือหลอดนีออน ส่วนใหญ่จะมีฝาปิดครอบ ให้ดำเนินการถอดฝาครอบออกและถอดหลอดไฟอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ เช่น สตาร์ทเตอร์บัลลาสต์อิเล็กทรอนิกส์ออกมาเช็ดทำความสะอาดให้แห้ง แล้วจึงใส่กลับเข้าที่เดิม

หากที่บ้านมีคัตเอาต์หรือเบรกเกอร์ย่อย เฉพาะปลั๊กไฟและแสงสว่างให้ทดลองเปิดทีละตัวพร้อมกับสังเกตว่ามีฟิวส์ขาด เบรกเกอร์ตัดมีกลิ่น หรือประกายไฟเกิดขึ้น ให้ปิดคัตเอาต์ตัวนั้น พร้อมทั้งทำเครื่องหมายและจดบันทึกไว้ด้วย และติดต่อช่างผู้ชำนาญการเข้ามาดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขต่อไป

หลังจากเปิดคัตเอาต์ทั้งหมดแล้ว ให้จัดทำป้ายเขียนว่าจ่ายไฟแล้วมาแขวนไว้อย่างชัดเจน เพื่อเป็นการเตือนให้ผู้อื่นรับทราบว่า ขณะนี้ได้มีการเปิดกระแสไฟฟ้าแล้ว จากนั้นให้ไปดูมิเตอร์ไฟหน้าบ้านว่าหมุนหรือไม่ อาจต้องรอสักพักโดยการจดตัวเลขหรือถ่ายรูปไว้ หากไม่เคลื่อนไหวแสดงว่า ไม่น่าจะมีไฟฟ้ารั่ว แต่หากมิเตอร์หมุน ถึงแม้จะหมุนช้าๆ แสดงว่า มีไฟฟ้ารั่ว ให้ติดต่อช่างผู้ชำนาญการเข้ามาดำเนินการ