posttoday

แนะวางผังคุม 'อีอีซี'หวั่นซ้ำรอย เมืองโตไร้ทิศทาง

09 พฤศจิกายน 2559

เป็นอีกหนึ่งโซนใหม่ ที่กำลังได้รับความสนใจมากขึ้น สำหรับ "พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก" หรืออีอีซี

โดย...สุกัญญา สินถิรศักดิ์

เป็นอีกหนึ่งโซนใหม่ ที่กำลังได้รับความสนใจมากขึ้น สำหรับ "พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก" หรืออีอีซี (Eastern Economic Corridor) หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2559 เห็นชอบหลักการโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ซึ่งการผลักดันให้ทั้ง 3 พื้นที่นี้เติบโตตามนโยบายที่ภาครัฐต้องการเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งเมียนมา กัมพูชา และเวียดนาม ควรมีพื้นที่จากการวางผังเมืองที่สอดคล้องกับคาแรกเตอร์ของเมืองที่กำลังจะเปลี่ยนไป

มณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ซึ่งตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่ดีที่สุดของภูมิภาคอาเซียน ทั้งในการเป็นศูนย์กลางการผลิต การค้า การส่งออก และการขนส่ง เป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมหลัก ด้านปิโตรเคมี พลังงาน และ ยานยนต์ และมีศักยภาพในการส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ มีความพร้อมด้านระบบคมนาคมขนส่ง ทางถนน รถไฟ ท่าเรือ สนามบิน และเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงท่าเรือน้ำลึกทวาย (เมียนมา)-กาญจนบุรีกรุงเทพฯ-แหลมฉบัง-มาบตาพุด- เชื่อมต่อกัมพูชาและเวียดนาม อีกทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลกและพื้นที่เกษตรกรรมชั้นดี

แผนพัฒนาอีอีซี 4 ด้านของรัฐบาล ประกอบด้วย 1.ด้านโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาเชื่อมโยงทั้งระบบสนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือสัตหีบ ท่าเรือแหลมฉบัง รถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ และมอเตอร์เวย์ 2.ด้านธุรกิจและอุตสาหกรรม พัฒนาอุตสาหกรรมอากาศยาน ปิโตรเคมีขั้นสูง ชีวภาพ  ยานยนต์อัจฉริยะอิเล็กทรอนิกส์ หุ่นยนต์ และเกษตรแปรรูป 3.ด้านการท่องเที่ยว พัฒนาเมืองท่องเที่ยวชั้นนำ และศูนย์ประชุมนานาชาติ (ไมซ์) 4.ด้านการพัฒนาเมือง  จัดเตรียมสาธารณูปโภค สาธารณูปการ พัฒนาเมืองใหม่ ศูนย์กลางการบริการธุรกิจนานาชาติและเขตปลอดภาษี

รังษี เหลืองวารินกุล ที่ปรึกษาคณะกรรมการผังเมืองและนิคมอุตสาหกรรม ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อีอีซี จะเป็นพื้นที่สำคัญของประเทศไทยที่ใช้ในการต่อสู้กับต่างประเทศโดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน จึงควรวางแผนพัฒนาเมืองในพื้นที่อีอีซีที่เป็นยุทธศาสตร์ระยะยาวเช่น 20 ปี เพื่อให้เมืองมีหลักในการเติบโตอย่างมีทิศทาง โดยที่ผ่านมาแต่ละชุมชนต่างฝ่ายต่างอยู่ไม่ได้เชื่อมโยงกัน แต่ผังเมืองสามารถทำให้พื้นที่เหล่านี้เชื่อมโยงกันเพื่อให้เกิดเป็นเมืองใหม่ได้

ขณะที่ในภาคอุตสาหกรรมในยุคประเทศไทย 4.0 โรงงานต่างๆ สามารถเชื่อมต่อข้อมูลกันได้ด้วยระบบอินเทอร์เน็ต และพัฒนาด้านเทคโนโลยีมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ในอนาคต เมืองยุคใหม่ของอุตสาหกรรมจะไม่ได้มีเฉพาะคนแค่ 3 รุ่นเหมือนอดีต แต่จะเป็นคน 4 รุ่น นั่นคือ เด็ก วัยรุ่น คนวัยทำงาน และ ผู้สูงอายุ ซึ่งในฐานะหน่วยงานที่วางผังเมือง ก็ต้องศึกษากลุ่มเป้าหมายในพื้นที่นั้น จะพัฒนาเมืองเพื่อใคร พัฒนาให้ใคร ต้องกำหนดกลุ่มให้ชัดเจนในการออกแบบผังเมือง 1 เมือง เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้ประโยชน์จริง

ยกตัวอย่าง คนในภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เป็นคนวัยทำงาน 30-40 ปีเป็นหลัก ถ้าเมืองถูกยกระดับเป็นเมืองอุตสาหกรรม ก็ต้องให้น้ำหนักกับคนกลุ่มนี้ พร้อมวางผังเมืองให้ซ้อนไปถึงรุ่นลูกจะรองรับคนวัยทำงานในปัจจุบันอย่างไร จะรองรับรุ่นลูกของเขาอย่างไร และเมื่อเขาสูงอายุ จะรองรับกลุ่มคน วัยนี้อย่างไร เพื่อบ่มเพาะและเรียนรู้การอยู่ร่วมกันของคนในเมือง

ด้าน ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ประธานสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า เมืองในอนาคตไม่ได้มีเฉพาะประเทศไทย จะทำอย่างไร จะเชื่อมต่อกับประเทศอื่นอย่างไร และจะวางผังเมืองในพื้นที่ที่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างไรให้สอดคล้องทั้งด้านความเป็นอยู่และด้านเศรษฐกิจ พื้นที่ไหนต้องควบคุมพื้นที่ไหนต้องสนับสนุน โดยการวางผังเมืองยั่งยืนมี 2 ประเด็นหลัก คือ 1.มติด้านสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป และ 2.การวางผังเมืองที่ สอดรับกับการใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง ซึ่งที่ผ่านมาในเมืองใหญ่ไม่ได้วางผังเมืองตั้งแต่แรก ทำให้เกิดปัญหามาก

ขณะที่ พิชัย อุทัยเชฏฐ์ ผู้แทนจากกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า เมื่อมีนโยบายที่จะสนับสนุนให้เกิดเมืองใหม่ ควรมีการวางผังให้เติบโตแบบมีทิศทาง เพราะที่ผ่านมาหลายเมืองในประเทศไทยเติบโตแบบไร้ทิศทางมาก เพราะให้ความสำคัญกับผังเมืองน้อย และไม่พัฒนาเมืองตามกรอบของผังเมืองจริงจัง ทำให้หลายพื้นที่เมื่อมีคนเข้าไปอยู่อาศัยหนาแน่น ท้ายที่สุดก็ต้องมาเปลี่ยนสีผังเมืองซึ่งแบบนี้ไม่มีประโยชน์เลย โดยภาครัฐควรกำหนดขอบเขตของเมืองให้ชัดเจน เพื่อวางบทบาทฟังก์ชั่นของเมืองให้ แตกต่างกัน รวมถึงผังเมืองควรเป็น กรอบชี้นำสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ซึ่งที่ผ่านมาผังเมืองไม่เคยชี้นำได้ เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภคและสาธารณูปการมีกฎหมายของตัวเอง

ดังนั้นจากภาพรวมทั้งหมด วงการผังเมืองจึงมองว่าก่อนที่รัฐจะให้น้ำหนักกับการลงทุนด้านสาธารณูปโภค เพื่อหนุนให้เกิดเมืองเศรษฐกิจภาคตะวันออก รัฐควรมองการใช้ "ผังเมือง" เป็นเครื่องมือสำคัญวางกรอบเติบโต