posttoday

ลุ้นรัฐเดินหน้าลงทุน เปิดทำเลทองอสังหาฯภาคใต้

07 พฤษภาคม 2559

จากเวทีสัมมนาสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยภาคใต้ปี 2559 ที่จัดโดยศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ สามารถฉายภาพทำเลทองในหลายจังหวัดภาคใต้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

โดย...สุกัญญา สินถิรศักดิ์

จากเวทีสัมมนาสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยภาคใต้ปี 2559 ที่จัดโดยศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ สามารถฉายภาพทำเลทองในหลายจังหวัดภาคใต้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น แม้ว่าปัจจุบันตลาดอสังหาริมทรัพย์ภาคใต้จะอยู่ในช่วงขาลง เป็นผลจากเศรษฐกิจโดยรวมและในท้องถิ่นจะชะลอตัว เพราะปัจจัยด้านราคาพืชผลการเกษตร เช่น ราคายาง และราคาปาล์มตกต่ำ และภาคการส่งออกทั้งยาง ปาล์ม และอาหารทะเลยังหดตัว แต่ก็ยังมีปัจจัยบวกที่จะส่งเสริมอสังหาริมทรัพย์ภาคใต้ในอนาคต โดยเฉพาะการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐและการลงทุนภาคเอกชน

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลมีแผนลงทุนโครงการคมนาคมขนส่งในหลายจังหวัดภาคใต้ โดยเฉพาะ จ.ภูเก็ต ที่มีการลงทุนที่โดดเด่นมาก จากการสำรวจของฝ่ายวิจัยศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ พบว่า มีโครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต รองรับผู้โดยสารจากเดิม 6.5 ล้านคน/ปี เป็น 12.5 ล้านคน/ปี ใช้งบประมาณ 5,147 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ต.ค. 2559 โครงการทางด่วนสายกะทู้-ป่าตอง ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย รวมระยะทาง 3 กม. คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2560 ใช้เวลา 48 เดือน แล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2564

นอกจากนี้ ยังมีโครงการทางรถไฟสายใหม่เพื่อการท่องเที่ยว เส้นทางสุราษฎร์ธานี-พังงา-ภูเก็ต ของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน ตามแนวเส้นทางใน 3 จังหวัด โครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดเบา เส้นทางท่าอากาศยานนานาชาติ จ.ภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 41 กม. ปัจจุบันอยู่ระหว่างการสำรวจพื้นที่

ขณะที่การลงทุนภาคเอกชน เช่น เซ็นทรัล เฟสติวัล ภูเก็ต เฟส 3 พื้นที่กว่า 3 แสนตารางเมตร (ตร.ม.) ของกลุ่มเซ็นทรัลพัฒนา มูลค่ารวมกว่า 2 หมื่นล้านบาท กำหนดเปิดให้บริการปี 2560 โครงการ บลู เพิร์ล พื้นที่กว่า 6.5 แสน ตร.ม. บนเนื้อที่ 150 ไร่ ของกลุ่มเดอะมอลล์ ใช้งบลงทุนราว 1 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะเปิดให้บริการภายในปี 2560 เช่นกัน

สำหรับโครงการลงทุนภาครัฐใน จ.สงขลา ยกตัวอย่างเช่น โครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับ 5 แยกนํ้ากระจาย (เกาะยอ) งบประมาณ 1,162 ล้านบาท เริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือน มี.ค. 2561 โครงการมอเตอร์เวย์ หาดใหญ่-สะเดา ช่วงที่ 1 เป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายหาดใหญ่-ชายแดนไทย-มาเลเซีย ระยะทาง 32 กม. โครงการโมโนเรล หาดใหญ่และสร้างทางเลี่ยงเมืองหาดใหญ่ ลงทุนมากกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท เป็นต้น

ขณะที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ก็มีโครงการภาครัฐที่น่าจับตามอง นั่นคือ โครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 1 กรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทาง 225 กม. มูลค่าการลงทุน 8.1 หมื่นล้านบาท และโครงการรถไฟทางคู่ เส้นทางนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 165 กม. วงเงิน 20,038 ล้านบาท และหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 90 กม. วงเงิน 9,437 ล้านบาท โครงการทางหลวงพิเศษหมายเลข 8 สายนครปฐม-สมุทรสงคราม-ชะอำ

โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายนครปฐม-สมุทรสงคราม-ชะอำ ระยะทางโดยรวม 134 กม. เบื้องต้นคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณ 3.33 หมื่นล้านบาท และยังมีโครงการของเอกชน เช่น บลูพอร์ต หัวหิน รีสอร์ท มอลล์ บนพื้นที่ 25 ไร่ ของกลุ่มเดอะมอลล์กรุ๊ปร่วมทุนกับกลุ่มลิปตพัลลภ ลงทุนกว่า 4,000 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ปลายปี 2559

สุรีรัตน์ ลัคนานิตย์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ กล่าวว่า การใช้จ่ายภาครัฐที่ทำได้ดีต่อเนื่องทั้งรายจ่ายประจำและลงทุนเป็นหนึ่งในปัจจัยบวกที่ยังกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นของภาคใต้ได้ ท่ามกลางราคาพืชผลการเกษตรและส่งออกที่ยังไม่ดี นอกเหนือจากที่ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ได้รายงานไปแล้วนั้น ยังมีอีกหลายโครงการของภาครัฐและเอกชนที่น่าจับตามอง เช่น โครงการใน จ.ภูเก็ต ของภาคเอกชน เดอะ เทอร์มินัล ของกลุ่มทุนจีนร่วมกับทุนไทย เป็นโครงการมิกซ์ยูส ประกอบด้วย คอนโดมิเนียม โรงแรม ห้างสรรพสินค้า โรงหนัง มูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะสร้างสีสันใหม่ๆ ให้กับ จ.ภูเก็ต ไม่น้อย

ส่วนโครงการของภาครัฐที่น่าสนใจ เช่น โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสงขลา ที่จะดันให้ 6 กลุ่มกิจการเป้าหมายขยายตัวมากขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมการเกษตร ประมง และกิจการที่เกี่ยวข้อง อุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องหนัง การผลิตเครื่องเรือน กิจการโลจิสติกส์ นิคมหรือเขตอุตสาหกรรม และกิจการสนับสนุนการท่องเที่ยว อีกทั้งยังมีโครงการนิคมอุตสาหกรรมเมืองยาง (Rubber City) ตั้งอยู่ในพื้นที่ระยะที่ 2/2 และ 3 ของนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ ที่ ต.ฉลุง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ขนาดพื้นที่ 1,218 ไร่ ก็เป็นที่น่าสนใจเช่นกัน

การลงทุนใหม่ๆ ในหลายจังหวัดภาคใต้ของทั้งภาครัฐและเอกชน จะพลิกโฉมทำเลทองแห่งใหม่ๆ ให้กับอสังหาริมทรัพย์ภาคใต้ได้ในอนาคต อย่างไรก็ตามหลายโครงการลงทุนภาครัฐยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น หากภาคเอกชนมองการจับจองพื้นที่ใหม่ ควรรอความชัดเจนและศึกษาโครงการที่ลงทุนอย่างรอบคอบ