posttoday

วัสดุก่อสร้างจ่อขึ้นราคา

20 เมษายน 2559

เมกาโฮม ชี้วัสดุก่อสร้างส่อขึ้นราคา-ขาดตลาด หลังอสังหาฯ เร่งลงทุน เตรียมงบ 2,000 ล้านผุดสาขาใหม่ ตั้งเป้าโต 50%

เมกาโฮม ชี้วัสดุก่อสร้างส่อขึ้นราคา-ขาดตลาด หลังอสังหาฯ เร่งลงทุน เตรียมงบ 2,000 ล้านผุดสาขาใหม่ ตั้งเป้าโต 50%

นางสุพรศรี นาคธนสุกาญจน์ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการและบริหารกลุ่มสินค้า บริษัท เมกา โฮม เซ็นเตอร์ เปิดเผยว่า แนวโน้มราคาวัสดุก่อสร้างไตรมาส 2/2559 คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาเหล็กเส้นและเหล็กข้ออ้อยที่จะมีการปรับราคาขึ้นราว 5% พร้อมทั้งเริ่มขาดแคลนสินค้า เนื่องจากความต้องการของผู้รับเหมาและเจ้าของโครงการอสังหาริมทรัพย์มีเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ เป็นผลมาจากความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและนโยบายของรัฐบาล ส่งผลให้ภาคอสังหาริมทรัพย์เริ่มฟื้นตัว และมีการเดินหน้าการลงทุนอีกครั้งหลังการประกาศเลือกตั้งของรัฐบาล รวมถึงเทรนด์ผู้เกษียณอายุราชการที่เริ่มเข้าสู่ธุรกิจก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ให้เช่ามากขึ้น

ขณะที่ภาพรวมตลาดวัสดุก่อสร้างและของตกแต่งบ้านปี 2559 คาดว่าจะมีมูลค่าอยู่ที่ 4 แสนล้านบาท เติบโตขึ้นจากปีก่อน 3-5% แบ่งเป็น ตลาดโมเดิร์นเทรด อาทิ โฮมโปร เอสบี อินเด็กซ์ มูลค่า 2 แสนล้านบาท ส่วนอีกตลาดหนึ่งคือ ตลาดเทรดดิชั่นแนล มูลค่า 2 แสนล้านบาท แบ่งออกเป็น ศูนย์ค้าวัสดุก่อสร้าง อาทิ เมกาโฮม ไทยวัสดุ ดูโฮม มีมูลค่า 1.3 แสนล้านบาท และ ร้านจำหน่ายวัสดุทั่วไป 7 หมื่นล้านบาท

สำหรับในปี 2559 บริษัทตั้งเป้าหมายยอดขายอยู่ที่ 6,400 ล้านบาท เติบโตขึ้นราว 50% จากปีก่อนที่อยู่ที่ 4,400 ล้านบาท โดยไตรมาส 1/2559 บริษัทมียอดขายอยู่ที่ 1,400 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้น 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และคาดว่าในปี 2560 จะมียอดขายแตะระดับ 1 หมื่นล้านบาท

นางสุพรศรี กล่าวอีกว่า แผนการลงทุนในปีนี้บริษัทจะใช้เงินลงทุน 2,000 ล้านบาท เพื่อขยายสาขาเพิ่มอีก 4 สาขา ใช้เงินลงทุนราว 500 ล้านบาท/สาขา จากปัจจุบันที่มีอยู่จำนวน 7 สาขา ซึ่งแผนการขยายสาขาจะเน้นพื้นที่บริเวณชายแดนของประเทศไทย เพื่อรองรับการเปิดเสรีเขตเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ที่มีลูกค้าจากประเทศเพื่อนบ้านมาซื้อสินค้าจากประเทศไทย

“เป้าหมายระยะยาว 5 ปี ของบริษัท (2558-2562) มีแผนขยายสาขาเพิ่มขึ้นเป็น 20 แห่ง ใน 3 รูปแบบ ได้แก่ 1.พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล 2.พื้นที่ใกล้นิคมอุตสาหกรรม 3.พื้นที่จังหวัดชายแดน” นางสุพรศรี กล่าว

ทั้งนี้ จากการเก็บข้อมูลการซื้อสินค้าของผู้บริโภคพบว่า ปริมาณการใช้จ่ายต่อบิลของผู้บริโภคทั้ง 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.เจ้าของโครงการ 2.ช่างผู้รับเหมา และ 3.เจ้าของบ้านและร้านค้ารายย่อย มีอัตราการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อบิลเฉลี่ยลดลงราว 5-10% เนื่องจากผู้บริโภคไม่สต๊อกสินค้าเหมือนที่ผ่านมา ส่วนปริมาณความถี่ในการซื้อยังคงที่