posttoday

4 จังหวัดเขตศก.พิเศษ รับอานิสงส์ประเทศเพื่อนบ้านบูม

19 มีนาคม 2559

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ได้ลงพื้นที่สำรวจ 4 จังหวัดดังกล่าวที่จุดเด่นแตกต่างกันไปตามลักษณะเศรษฐกิจท้องถิ่นและประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้เคียง

โดย...สุกัญญา สินถิรศักดิ์

หลังจากอสังหาริมทรัพย์ ทำเลทองเคยนำเสนอผลการสำรวจอสังหาริมทรัพย์เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จ.ตาก และสระแก้วของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์แล้ว อีก 4 จังหวัด ได้แก่ จ.สงขลา หนองคาย มุกดาหาร และตราด ซึ่งอยู่ในกลุ่มเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ระยะที่ 1 เช่นเดียวกับตาก และสระแก้ว ก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน โดยล่าสุดศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ได้ลงพื้นที่สำรวจ 4 จังหวัดดังกล่าวที่จุดเด่นแตกต่างกันไปตามลักษณะเศรษฐกิจท้องถิ่นและประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้เคียง


สงขลาค้าขายชายแดนสูงสุด

จ.สงขลา เป็นจังหวัดสำคัญของไทยในภาคใต้ตอนล่าง มีด่านสะเดา และด่านปาดังเบซาร์เป็นด่านทางบกที่มีมูลค่าการค้าสูงสุดอันดับหนึ่งและอันดับสองของไทย ซึ่งทั้งสองด่านอยู่ใกล้ท่าเรือปีนังและท่าเรือกลางของมาเลเซีย มีการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย-มาเลเซีย ผ่านทางปาดังเบซาร์ มีฐานการผลิตในพื้นที่ เช่น อุตสาหกรรมแปรรูปยางพารา อาหารทะเล และอิเล็กทรอนิกส์

เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลามีโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นโครงการเร่งด่วน ได้แก่ การก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 บริเวณ ต.นาทับ อ.จะนะ โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเชื่อมท่าเรือสองฝั่งทะเลเข้าด้วยกัน (ทะเลอันดามันและทะเลอ่าวไทย) หรือโครงการสะพานเศรษฐกิจ (Land Bridge) โดยจะมีการก่อสร้าง “ท่าเรือน้ำลึกปากบารา” ที่ จ.สตูล ร่วมด้วย เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าสู่ทวีปยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา และเพิ่มขีดความสามารถให้กับท่าเรือสงขลาเดิมให้เรือขนาดใหญ่เทียบท่าได้เพิ่มมากขึ้น

การประกาศให้ อ.สะเดา เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทำให้มีผู้สนใจซื้ออาคารพาณิชย์และบ้านเดี่ยวบริเวณใกล้ด่านชายแดนสะเดาอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมามีชาวจีนสัญชาติมาเลเซียสนใจซื้อด้วยเงินสด และมีการลงทุนสร้างโครงการอาคารชุดใกล้ด่านชายแดนสะเดาในปัจจุบัน


หนองคายเมืองน่าอยู่คนเกษียณ

จ.หนองคาย เป็นจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 เป็นสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งแรกของไทย เชื่อมต่อ อ.เมืองหนองคาย กับบ้านท่านาแล้ง นครหลวงเวียงจันทน์ เมืองหลวงของลาว มีระยะทางห่างกันเพียง 20 กม. เปิดใช้ตั้งแต่ปี 2537 ปัจจุบันมีรถโดยสารระหว่างประเทศ วิ่งเส้นทางหนองคาย-เวียงจันทน์ และหนองคาย-วังเวียงเปิดให้บริการด้วย โดยเขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.หนองคาย มีศักยภาพในการลงทุนค้าระหว่างประเทศ การท่องเที่ยว และการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ

รัฐบาลมีแผนลงทุนโครงการพัฒนาสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “โครงการความร่วมมือรถไฟไทย-จีน” เส้นทางหนองคาย-ขอนแก่น-นครราชสีมา-แก่งคอย-ฉะเชิงเทรา-ศรีราชา-มาบตาพุด ระยะทาง 873 กม. และเป็นจังหวัดที่ได้รับการจัดอันดับจากนิตยสาร Modern Maturity ของสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 2544 ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับผู้สูงอายุชาวอเมริกันอันดับที่ 7 ของโลก ซึ่งหนองคายจึงสามารถพัฒนาเป็นที่พักอาศัยของนักลงทุนทั้งไทยและ
ต่างชาติ รวมทั้งเป็นศูนย์โลจิสติกส์ และทำกิจกรรมพาณิชยกรรม การค้าระหว่างประเทศ ท่องเที่ยว การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ


มุกดาหารศูนย์กระจายสินค้า

จ.มุกดาหาร มีสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 เชื่อมต่อมุกดาหารกับแขวงสุวรรณเขต ประเทศลาว เป็นประตูการค้าเส้นทางเศรษฐกิจตะวันตกตะวันออก ซึ่งเริ่มจากเมียนมา ผ่านไทย-ลาวและสิ้นสุดที่เวียดนาม โดยการค้าขายส่วนใหญ่ในมุกดาหารจะเป็นธุรกิจตัวแทนจำหน่ายสินค้าไปยังประเทศลาว แต่หลังจากที่เปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) แล้ว ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะขายตรงไปยังประเทศลาว ไม่ผ่านตัวแทนจำหน่าย มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของมุกดาหาร

ปัจจัยดังกล่าวทำให้การค้าชายแดน จ.มุกดาหารไม่ขยายตัวเท่าที่ควร นอกจากนั้น โรงงานอุตสาหกรรมผู้ผลิตสินค้าก็ได้เข้าไปลงทุนโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศลาว เพื่อให้ได้สิทธิพิเศษทางภาษีกับประเทศยุโรปและอเมริกา มุกดาหารเป็นเมืองผ่านของสินค้าส่งออกไปยังลาว เวียดนาม และจีน จึงเหมาะที่จะตั้งคลังสินค้า เป็นศูนย์กระจายสินค้ามากกว่าเป็นที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมผลิตสินค้า


ตราดศูนย์กลางท่องเที่ยวภูมิภาค

จ.ตราด เป็นจังหวัดชายฝั่งทะเลทางภาคตะวันออกของประเทศไทย มีอาณาเขตติดต่อกับ อ.ขลุง จันทบุรี และประเทศกัมพูชา 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพระตะบอง จังหวัดโพธิสัต และจังหวัดเกาะกง โดยตราดมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นศูนย์กลางการค้าส่ง ขนส่งต่อเนื่องระหว่างประเทศ และศูนย์กลางให้บริการการท่องเที่ยวระดับภูมิภาค มีด่านชายแดนบ้านหาดเล็ก เป็นจุดผ่านแดนถาวร เชื่อมต่อกับจังหวัดเกาะกง ประเทศกัมพูชา มีที่ตั้งอยู่บนแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ อยู่ห่างท่าเรือแหลมฉบับ ประมาณ 340 กม. และห่างจากท่าเรือสีหนุวิลล์ ในประเทศกัมพูชา ประมาณ 250 กม.

ทั้งนี้ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเกาะกง กัมพูชา ปัจจุบันมีการลงทุนจากต่างชาติ เช่น โรงงานรถยนต์เกาหลี (Hyundai) โรงงานผลิตลูกวอลเลย์บอล (Mikasa) และผลิตสายไฟในรถยนต์ (Yazak) จากญี่ปุ่น ฯลฯ เข้ามาลงทุน

โดยสรุปแล้วเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในแต่ละจังหวัดอยู่ในบางพื้นที่ติดชายแดนของจังหวัดนั้นๆ และการพัฒนายังไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่ตั้งไว้เดิม เนื่องจากการประสานงานและทำความเข้าใจระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนยังมีช่องว่างอีกมาก ผู้สนใจลงทุนจึงต้องพิจารณาให้รอบคอบ