posttoday

พลิกกลยุทธ์ "พฤกษา โฮลดิ้ง" ตีฝ่าวงล้อม สร้างอาณาจักรใหม่

22 กุมภาพันธ์ 2559

พฤกษา เรียลเอสเตท ปรับตัวครั้งใหญ่ด้วยการประกาศขอถอนหุ้นออกจากตลาด พร้อมกับการจัดตั้ง บริษัทโฮลดิ้ง

โดย...วราพงษ์ ป่านแก้ว

บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท ปรับตัวครั้งใหญ่ด้วยการประกาศขอถอนหุ้นออกจากตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พร้อมกับการจัดตั้ง บริษัทโฮลดิ้งภายใต้ชื่อบริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง โดยจะเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท ด้วยการแลกหุ้นกับบริษัท โฮลดิ้ง ก่อนที่จะนำบริษัทโฮลดิ้ง เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แทน

หากทุกอย่างเดินไปตามขั้นตอนที่วางไว้ในเดือน พ.ย. 2559 บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จะถือกำเนิดขึ้นพร้อมกับเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในวงการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็ไม่น่าจะผิดนัก

ทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท ได้อธิบายไว้ในเอกสารรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยระบุว่า เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการสร้างธุรกิจที่ยั่งยืนและมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยใน 5 ปีข้างหน้าบริษัทจะมุ่งเน้น 3 กลยุทธ์หลัก คือ 1.การคงความเป็นผู้นำในตลาดอสังหาฯ เพื่ออยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้ระดับต่ำถึงปานกลาง (Value) 2.การเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดที่อยู่อาศัยระดับบน (Premium)

3.การหาโอกาสในการดำเนินธุรกิจใหม่ๆ โดยมุ่งเน้นธุรกิจที่มีความสามารถในการสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง (Recurring Income) ที่มั่นคงและยั่งยืน โดยอาจเป็นธุรกิจที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญอย่างธุรกิจอสังหาฯ เพื่อขาย หรือธุรกิจใหม่ที่อาจไม่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจอสังหาฯ ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาโอกาสทางการลงทุนในหลายธุรกิจ

ทั้งนี้ หากเป็นกรณีที่ธุรกิจใหม่เป็นธุรกิจที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญไม่เทียบเท่าธุรกิจอสังหาฯ บริษัทมีแนวทางที่จะเปิดโอกาสในการหาผู้ร่วมทุนทางธุรกิจหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพิ่มเติม ซึ่งการปรับโครงสร้างกิจการให้เป็นบริษัทโฮลดิ้งจะทำให้บริษัทสามารถดำเนินการตามกลยุทธ์ที่วางไว้ได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ

การปรับตัวครั้งใหญ่ของบริษัท พฤกษา บ่งชี้ให้เห็นอะไรบางอย่างที่ทำให้แม้แต่บริษัทใหญ่ยังต้องปรับตัวเพื่อตีฝ่าวงล้อมธุรกิจเพื่อสร้างอาณาจักรใหม่

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า หลังจากปี 2540 เป็นต้นมา การแข่งขันในธุรกิจอสังหาฯ โดยเฉพาะจากผู้ประกอบการรายใหญ่มีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ และจะรุนแรงยิ่งขึ้นเมื่อมีผู้เล่นรายใหม่ที่ไม่ธรรมดา อย่างกลุ่มเบียร์สิงห์ เบียร์ช้างที่มีเงินทุนพร้อมสรรพเข้ามาร่วมเป็นคู่แข่งขันด้วย พร้อมด้วยการพัฒนาที่หลากหลายครบวงจรกว่า ทั้งที่อยู่อาศัย ศูนย์การค้า โรงแรม อาคารสำนักงาน สามารถต่อยอดธุรกิจสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันได้ดีกว่าบริษัทที่พัฒนาที่อยู่อาศัยเพียงอย่างเดียว

ขณะเดียวกัน การแข่งขันในตลาดที่อยู่อาศัยที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว ทำให้ความต้องการในตลาดที่อยู่อาศัยยังมีอยู่อย่างจำกัด การเติบโตของบริษัทใหญ่เป็นไปอย่างยากลำบากด้วยฐานรายได้ที่สูง อย่างบริษัท พฤกษา มีรายได้ปี 2558 อยู่ที่ 5.1 หมื่นล้านบาท มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 7,670 ล้านบาท จึงต้องแสวงหาช่องทางขยายรายได้ในทางกว้างมาเพิ่มเติมรายได้ในทางลึก เพื่อให้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในแต่ละปี นอกจากนี้ยังเป็นการปรับโครงสร้างองค์กรในการบริหารธุรกิจที่แตกต่างออกไปให้เกิดความคล่องตัวยิ่งขึ้น

“เป็นเรื่องปกติที่บริษัทขนาดใหญ่จะเปลี่ยนมาเป็นโฮลดิ้ง เพื่อขยายการเติบโตออกไปในวงกว้าง ไม่จำกัดตัวอยู่แค่การเติบโตในทางลึก ซึ่งในกรณีของพฤกษาต้องการขยายออกจากธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย อาจเป็นธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่สนใจอยู่แล้ว อย่างเช่น โรงพยาบาล โรงแรม หรือขยายไปในธุรกิจใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยทำมาก่อน เช่น น้ำมัน ไอที ก็อาจไปได้”มานพ พงศทัต อาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็น

ที่น่าจับตา นอกจากธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยที่พฤกษาวางเป้าหมายจะยังคงเป็นผู้นำตลาดในกลุ่มกลาง-ล่าง และขยายตลาดเพิ่มเติมในกลุ่มบน ธุรกิจใหม่ที่พฤกษาต้องการจะแตกตัวออกไปมีแนวโน้มไปทางธุรกิจใดบ้าง หากดูจากกรรมการที่เป็นกุนซือของบริษัท อาทิ พิสิฐ ลี้อาธรรม ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดุลย์ จันทนจุลกะ เลอศักดิ์ จุลเทศ สมประสงค์ บุญยะชัย วิเชียร เมฆตระการ ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อนุสรณ์ แสงนิ่มนวล วีระชัย งามดีวิไลศักดิ์ ก็พอจะเดาทางได้ไม่ยาก