posttoday

7ยุทธศาสตร์ฝ่าวิกฤต ธุรกิจรับสร้างบ้านปีวอก

28 มกราคม 2559

ตลาดรับสร้างบ้านที่คาดว่าจะยังขยายตัว ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มบ้านระดับไฮเอนด์ 10 ล้านบาทขึ้นไป

โดย...สุกัญญา สินถิรศักดิ์

หนึ่งในโจทย์ที่ท้าทายปี 2559 ของ “พิชิต อรุณพัลลภ” นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านคนใหม่ นั่นคือ การสนับสนุนให้การสร้างบ้านตัวเองของผู้บริโภคในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ผ่านบริษัทรับสร้างบ้านมากขึ้น เพื่อผลักดันให้ภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านปีนี้ขยายตัวได้มากถึง 15% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ยังผันผวน

พิชิต กล่าวว่า แม้เป้าหมายการเติบโตดังกล่าวจะค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน แต่เพราะปีที่ผ่านมาตลาดรับสร้างบ้านชะลอตัวมาก จากการที่ลูกค้าจำนวนไม่น้อยที่สั่งสร้างบ้านแล้วตัดสินใจเลื่อนการก่อสร้างจริงไปก่อน จึงมียอดที่อั้นมาจากปีที่แล้วประมาณ 15% ซึ่งเชื่อว่ากลุ่มคนเหล่านี้จะกลับมาตัดสินใจสร้างบ้านในปีนี้แทน ประกอบกับกลุ่มลูกค้าใหม่ที่เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจน่าจะดีขึ้น จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและแผนลงทุนของภาครัฐ ทำให้กล้าตัดสินใจสั่งสร้างบ้าน

ขณะที่ตลาดรับสร้างบ้านที่คาดว่าจะยังขยายตัว ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มบ้านระดับไฮเอนด์ 10 ล้านบาทขึ้นไป เพราะเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อที่ยังชะลอการตัดสินใจ เพราะไม่มั่นใจในเศรษฐกิจ ส่วนกลุ่มรับสร้างบ้านระดับราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ยอมรับว่ายังมีปัญหาเรื่องการยื่นขอกู้สินเชื่อที่อยู่อาศัยต่อเนื่อง ส่วนกลุ่มบ้านระดับราคาสูงถึง 3 ล้านบาท แต่ไม่ถึง 10 ล้านบาท เป็นตลาดระดับกลางที่บางส่วนมีปัญหาหนี้ครัวเรือน และบางส่วนยังมีกำลังซื้อ ซึ่งการบุกหนักในการทำตลาดของแต่ละบริษัทรับสร้างบ้าน คาดว่าจะช่วยกระตุ้นการตัดสินใจของคนกลุ่มนี้ได้

นอกจากภารกิจดังกล่าวแล้ว นายกใหม่ของสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน ยังต้องสานต่อเรื่องการยกระดับธุรกิจรับสร้างบ้าน ผ่านบริษัทรับสร้างบ้านมากขึ้นด้วย เพราะปัจจุบันผู้บริโภคไทยยังนิยมสร้างบ้านเองผ่านบริษัทรับเหมา มากกว่าผ่านบริษัทรับสร้างบ้าน สะท้อนได้จากยอดจดทะเบียนสร้างบ้านเองในปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 2 หมื่นยูนิต หรือคิดเป็นมูลค่าตลาดรวมราว 3 หมื่นล้านบาท จะเห็นว่าหากสร้างบ้านเองผ่านบริษัทรับสร้างบ้านในแต่ละปี มีมูลค่าประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลืออีกราว 2 หมื่นล้านบาท เป็นการสร้างบ้านเองผ่านผู้รับเหมา ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 2 ใน 3 ของภาพรวมการสร้างบ้านเองทั้งหมด

พิชิต กล่าวว่า ในปีนี้สมาคมจึงยังคงต้องให้ความสำคัญกับการยกระดับธุรกิจรับสร้างบ้านผ่านบริษัทรับสร้างบ้านต่อเนื่อง โดยปีนี้จะอยู่ภายใต้แนวคิด “7 ยุทธศาสตร์ รีเฟรช” ประกอบด้วย 1.R-Reliability เน้นสร้างความน่าเชื่อถือ ด้วยการสร้างแบรนด์สมาคมรับสร้างบ้านและสื่อสารเรื่องมาตรฐานการสร้างบ้าน 2.E-Expandability ต่อยอดการขยายฐานธุรกิจทั้งซัพพลายเชนและแวลูเชน เพื่อความแข็งแกร่งในการให้บริการแบบครบวงจร 3.F-Financial Stability เน้นความมั่นคงทางการเงิน

4.R-Rethink พัฒนารูปแบบกิจกรรมให้สอดคล้องตามปัจจุบัน ทั้งการจัดหารายได้ และการเข้าร่วมโครงการกับพันธมิตรธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นวัสดุและอุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับบ้านหรือการอยู่อาศัย

ส่วน 5.E-Equality สนับสนุนโอกาสทางธุรกิจ ให้สมาชิกที่เป็นบริษัทขนาดเล็กสามารถพัฒนามาตรฐานงานและการให้บริการเท่าเทียมบริษัทขนาดกลางและบริษัทใหญ่ 6.S-Sustainable Human Capital หาช่องทางในการสร้างบุคลากรใหม่ๆ ใน 3 สายงาน คือ ผู้ควบคุมงาน เจ้าหน้าที่เขียนแบบ และเจ้าหน้าที่ประมาณราคา ป้อนเข้าสู่ตลาดผ่านโครงการที่ร่วมกับสถาบันอาชีวศึกษา โครงการทวิภาคี และบุคลากรจากการจัดเทียบชั้นคุณวุฒิวิชาชีพ และ 7.H-Harmony ส่งเสริมความเป็นเอกภาพในหมู่สมาชิกด้วยการจัดตั้งกรรมการรับเรื่องร้องเรียน

ด้วย 7 ยุทธศาสตร์ดังกล่าว คาดว่าจะทำให้การสร้างบ้านเองของผู้บริโภคผ่านระบบบริษัทรับสร้างบ้านมากขึ้น และมีผลให้ภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านขยายตัวได้ตามเป้า รวมถึงการจัดงานโฮม บิลเดอร์ โฟกัส 2016 ระหว่างวันที่ 10-13 มี.ค. 2559 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อกระตุ้นยอดขายตั้งแต่ต้นปี โดยสมาคมคาดว่าภายในงานดังกล่าวจะสามารถสร้างยอดขายได้ประมาณ 1,000 ล้านบาท เติบโตราว 30% จากงานดังกล่าวที่จัดเมื่อช่วงต้นปีที่แล้ว ที่ปิดการขายในงานได้ 650-700 ล้านบาท

สำหรับภาพรวมราคาบ้านสร้างเองในปีนี้ มีแนวโน้มจะขยับขึ้นประมาณ 5% แม้ว่าราคาน้ำมันจะลดลง แต่ต้นทุนในการผลิตอื่นๆ ยังคงปรับขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนค่าแรง ซึ่งมีผลให้ทั้งค่าขนส่งที่ต้องใช้แรงงานคนขับ ต้นทุนการผลิตวัสดุก่อสร้างต่างๆ และแรงงานในการก่อสร้างปรับขึ้น จึงทำให้ภาพรวมต้นทุนก่อสร้างบ้านไม่ได้ลดลง แต่อาจจะปรับขึ้นไม่มาก โดยภาพรวมแรงงานในระบบก่อสร้างปัจจุบัน จากเดิมแรงงานจากกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี จะมีค่าแรงไม่สูงมาก ปัจจุบันก็ขยับขึ้นมาอยู่ขั้นต่ำ 350-400 บาท/วัน เพราะแรงงานจากกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวีที่คุ้นเคยกับการทำงานในเมืองไทยแล้ว จะทราบว่าในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีความต้องการแรงงานต่อเนื่อง จึงขอขยับค่าแรงรายวันขึ้นให้ใกล้เคียงกับอัตราที่แรงงานคนไทยได้รับ