posttoday

บิ๊กอสังหาฯแข่งเดือด แก้มือไตรมาส3รายได้-กำไรวูบ

18 พฤศจิกายน 2558

ในระยะกว่า 1 เดือนที่เหลืออยู่ สงครามทุกรูปแบบจากผู้ประกอบการราบใหญ่คงเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

โดย...ทีมข่าวธุรกิจตลาดโพสต์ทูเดย์

ประกาศผลสอบการดำเนินงานในไตรมาส 3 กันมาจนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผลปรากฏว่า บริษัทอสังหาริมทรัพย์ใหญ่น้อยต่างตกอยู่ในสภาพเดียวกัน นั่นคือยอดขายและกำไรติดลบเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะบริษัทรายใหญ่ที่แข็งแกร่งมาอย่างต่อเนื่อง เริ่มออกอาการให้เห็นในไตรมาส 3 เนื่องด้วยสภาพการแข่งขันที่รุนแรงจากภาวะตลาดและเศรษฐกิจที่ชะลอตัวมาอย่างต่อเนื่องทำให้ยอดขายในไตรมาส 3 ไม่เข้าเป้า และกำไรลดลงจากต้นทุนการขายที่เพิ่มขึ้น

บริษัทพัฒนาอสังหาฯ รายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ บริษัท ควอลิตี้ เฮ้าส์ บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) บริษัท ศุภาลัย บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ล้วนทำผลงานในไตรมาส 3 ตกลง เช่น พฤกษา แม้จะมีรายได้จากการขายรอบ 9 เดือน เพิ่มขึ้นเป็น 3.3 หมื่นล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้จากการขาย 3 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 11% แต่กำไรในรอบ 9 เดือน ก็ลดลง 1.8% โดยมีกำไรอยู่ที่ 4,687 ล้านบาท ส่วนในช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไร 4,771 ล้านบาท

ขณะที่การดำเนินงานในไตรมาส 3 ยิ่งชัดเจนว่าเก็บอาการไม่อยู่ เมื่อมีรายได้จากการขาย 1.14 หมื่นล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มีรายได้ 1.15 หมื่นล้านบาท ตกลง 1.4% ทำกำไรได้ 1,629 ล้านบาท ลดลง 11.4% จากไตรมาส 3 ปี 2557 ที่มีกำไร 1,838 ล้านบาท

บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มีรายได้จากการขายรอบ 9 เดือน ปี 2558 อยู่ที่ 1.59 หมื่นล้านบาท ขณะที่ช่วงเดียวกันของปีที่แล้วมีรายได้ 1.85 หมื่นล้านบาท มีกำไร 4,609 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มีกำไร 5,202 ล้านบาท ขณะที่ผลงานในไตรมาส 3 มีรายได้จากการขาย 5,331 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2557 ที่มีรายได้ 5,965 ล้านบาท ส่วนกำไรในไตรมาส 3 แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ทำได้ 1,508 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 1,762 ล้านบาท

บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) มีรายได้จากการขายรอบ 9 เดือน ปี 2558 1.58 หมื่นล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้จากการขาย 1.69 หมื่นล้านบาท ขณะที่กำไร 9 เดือน ปี 2558 ทำได้ 1,947 ล้านบาท ช่วงเดียวกันของปีที่แล้วทำได้ 2,007 ล้านบาท เฉพาะไตรมาส 3 มีรายได้จากการขาย 5,371 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2557 ที่มีรายได้จากการขาย 7,583 ล้านบาท มีกำไรในไตรมาส 3 ปีนี้ 745 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาส 3 ปีที่แล้วที่มีกำไร 1,035 ล้านบาท

ขณะที่บริษัท ศุภาลัย แม้จะมีรายได้จากการขายในรอบ 9 เดือน ปี 2558 สูงขึ้นมาอยู่ที่ 1.49 หมื่นล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปี 2557 มีรายได้อยู่ที่ 1.14 หมื่นล้านบาท และมีกำไรในรอบ 9 เดือน ปี 2558 อยู่ที่ 3,069 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2557 ที่มีกำไร 2,922 ล้านบาท แต่ผลงานในไตรมาส 3 ปี 2558 กลับลดลง โดยมีรายได้จากการขาย 4,642 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2557 ที่มีรายได้จากการขาย 5,788 ล้านบาท ส่วนกำไรในไตรมาส 3 ปี 2558 ทำได้ 1,045 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2557 ที่ทำได้ 1,598 ล้านบาท

ที่กล่าวมาเป็นตัวอย่างบางส่วนของบริษัทรายใหญ่ที่ประสบปัญหาเดียวกัน โดยมีอยู่เพียงไม่กี่รายที่มียอดขายและกำไรเพิ่มขึ้น เช่น บริษัท แสนสิริ และบริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเม้นท์ เป็นต้น นอกนั้นเพอร์ฟอร์แมนซ์ลดลงจากภาวะเศรษฐกิจและตลาดอสังหาฯ ที่ชะลอตัวทำให้ต้องอัดโปรโมชั่นให้กับโครงการพร้อมอยู่ พร้อมโอนกรรมสิทธิ์ และการเร่งให้ตัดสินใจโอน รวมถึงในช่วงปลายไตรมาส 3 ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากที่ลูกค้าชะลอการโอนเพราะต้องการรอมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ของภาครัฐ จึงเป็นผลให้รายได้และกำไร 9 เดือนแรกลดลง

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในไตรมาส 4 บริษัทรายใหญ่เหล่านี้ต่างต้องเร่งสปีดเพื่อให้การดำเนินงานตลอด 4 ไตรมาสเป็นไปตามเป้าหมาย โดยในไตรมาส 4 ถือว่ายังโชคดีที่มีตัวช่วยคือมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาฯ ที่ช่วยสร้างบรรยากาศการซื้อขายให้ดีขึ้นมาในระดับหนึ่ง แต่การแข่งขันของผู้ประกอบการรายใหญ่ก็จะสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับตลาดในช่วงโค้งสุดท้ายอย่างแน่นอน

วิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์การตลาด บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) กล่าวว่า แม้ในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมาอาจจะชะลอตัวไปบ้าง แต่หลังจากมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ เริ่มใช้อย่างเป็นทางการแล้ว บรรยากาศก็ดีขึ้น รวมถึงโปรโมชั่นและจัดกิจกรรมในแต่ละโครงการที่เป็นพร้อมอยู่ ส่งผลให้เวลานี้มียอดขายต่อเนื่อง และทำให้ปีนี้มั่นใจว่ายอดขายจะได้ตามเป้า 2.8 หมื่นล้านบาท จากการอัดกิจกรรมต่อเนื่อง และเตรียมเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมใหม่

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบรรยากาศการขายในเวลานี้จะคึกคักมากขึ้น แต่จากการสำรวจพบว่าเป็นความคึกคักเฉพาะโครงการที่สร้างเสร็จพร้อมอยู่ ที่ได้รับสิทธิในมาตรการอสังหาฯ ซึ่งผู้ประกอบการเร่งอัดโปรโมชั่นกระตุ้นการตัดสินใจมากขึ้น ขณะที่การเปิดตัวโครงการใหม่ของหลายบริษัทก็ยังคงระมัดระวัง เน้นเลือกเปิดในทำเลที่มีความมั่นใจว่าจะมียอดขายที่ดีมาก ส่วนทำเลที่ยังไม่มั่นใจ หรือมีซัพพลายในตลาดมาก หลายบริษัทได้ตัดสินใจเลื่อนออกไปเป็นปีหน้า

ในระยะกว่า 1 เดือนที่เหลืออยู่ สงครามทุกรูปแบบจากผู้ประกอบการราบใหญ่คงเกิดขึ้นอย่างแน่นอน โดยมีเดิมพันสำคัญคือ การฉุดยอดขายและกำไรที่เคยตกลงไปในไตรมาส 3 ให้กลับมาบวกอีกครั้ง และสิ่งที่ผู้ซื้อควรต้องระมัดระวังคือ การเร่งรัดให้โอนบ้านที่ยังไม่พร้อมโอนเพื่อให้ทันภายในสิ้นปีนี้อาจจะทำให้เกิดเกิดปัญหาตามมาได้