ฟื้นฟูสุขภาพดิน
เป็นที่รู้กันดีว่า ดินที่มีสภาพร่วนซุยเป็นดินที่เหมาะสำหรับปลูกพืชมากที่สุด
โดย...นิตยสารบ้านและสวน
เป็นที่รู้กันดีว่า ดินที่มีสภาพร่วนซุยเป็นดินที่เหมาะสำหรับปลูกพืชมากที่สุด เพราะช่วยให้รากชอนไชหาน้ำและอาหารได้สะดวก ดินที่ดีนั้นควรมีความพรุ่นและช่องว่างให้น้ำและอากาศแทรกตัวอย่างพอเหมาะ มีความเป็นกรดเป็นด่างที่พอดี แต่หากดินในสวนที่เราต้องการปลูกพืชไม่ได้มีสภาพดังกล่าว เช่น เกิดปัญหาดินแข็ง ดินขาดธาตุอาหาร ดินเหนียว ดินลูกรัง ดินกรด ก็จำเป็นต้องปรับปรุงดินให้เหมาะสมกับการปลูกต้นไม้ต่อไป ซึ่งเทคนิคง่ายๆ ในการปรับปรุงดินทำได้ดังต่อไปนี้
ปรับปรุงดินราคาประหยัด
วัสดุจากธรรมชาติ เช่น เปลือกถั่ว ฟางข้าว ใบไม้แห้ง ปุ๋ยอินทรีย์ต่างๆ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด คือตัวเลือกชั้นดีที่หาได้ง่ายและราคาไม่แพง ในพื้นที่ที่มีดินแข็งหรือดินลูกรัง ให้ขุดดินแล้วคลุกเคล้าวัสดุเหล่านี้ลง จะทำให้ดินโปร่งและร่วนซุยขึ้น ในปุ๋ยอินทรีย์ยังมีธาตุอาหารที่ช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้ดินได้อีกด้วย สำหรับฟางข้าวนั้นให้หมักไว้ในดินและรดปุ๋ยอินทรีย์น้ำ จะช่วยให้ฟางย่อยสลายเร็วขึ้น แต่หากคุณไม่ได้ทำสวนจริงจังมากนัก ก็อาจใส่ปุ๋ยอินทรีย์เฉพาะจุดที่ต้องการปรับปรุงดินก็ได้
คลุมดินทั้งง่ายและสะดวก
หลักการคล้ายกับข้อแรก เพียงแต่ไม่ต้องขุดและผสมวัสดุลงไปในดิน แต่ใช้วัสดุคลุมดินเพียงช่วยรักษาความชื้น เช่น ฟางข้าว แกลบ กาบมะพร้าวสับ หญ้าแห้ง ใบหญ้าแฝก หรือพืชตระกูลถั่วคลุมดิน วัสดุคลุมดินจะช่วยป้องกันการชะล้างหน้าดินยามรดน้ำ ลดการสูญเสียธาตุอาหารพืชออกไป รักษาความชื้นได้ดี ทำให้รากพืชสามารถลงไปได้ลึกทีละน้อย ดินจึงมีโครงสร้างที่ดีขึ้น ทั้งยังเกิดจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์มากขึ้นด้วย และเมื่อวัสดุคลุมดินธรรมชาติเหล่านี้ย่อยสลายก็จะช่วยปรับปรุงโครงสร้างดินและเพิ่มธาตุอาหารให้แก่พืชที่ปลูกต่อไป
พืชตระกูลถั่วเพิ่มธาตุไนโตรเจน
หลักการง่ายๆ ในการฟื้นฟูดินซึ่งเกษตรกรนิยมใช้ คือ หลังจากเก็บเกี่ยวพืชไปแล้วจะตากดินไว้ระยะหนึ่งเพื่อฆ่าเชื้อโรคและแมลงศัตรูพืชที่ตกค้างอยู่ในดิน จากนั้นจึงปลูกพืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ถั่วพุ่ม ปอเทือง โสน ถั่วพร้า ถั่วแปบ คลุมดินแล้วไถกลบหรือตัดคลุมดินช่วงที่เริ่มออกดอก (ประมาณ 50-60 วันหลังปลูก หากไถกลบจะช่วยให้ย่อยสลายได้รวดเร็วขึ้น) ซึ่งเรานำหลักการนี้มาใช้กับสวนที่บ้านได้เช่นกัน พืชเหล่านี้ไม่เพียงแต่ทำให้ดินร่วนซุยเท่านั้น แต่ยังอุดมด้วยธาตุไนโตรเจนซึ่งเกิดจากเชื้อไรโซเบียมที่มักอยู่ในปมรากถั่ว ทำหน้าที่ตรึงไนโตรเจนในอากาศมาสร้างเป็นสารประกอบไนโตรเจนไว้ในดิน หากต้องการให้ได้ผลดียิ่งขึ้น ก็ใส่เชื้อไรโซเบียม ลงไปเพิ่มเติม
ไส้เดือนดินพระเอกตัวจริง
เป็นที่รู้กันว่า ไส้เดือนดินมีความสำคัญมากต่อระบบนิเวศเพราะทำหน้าที่ย่อยสลายอินทรียสารในดิน รวมทั้งการเคลื่อนที่ของไส้เดือนดินยังเป็นการพรวนดิน ทำให้ดินมีการระบายน้ำและอากาศดีขึ้น ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืช เป็นดัชนีชี้วัดการปนเปื้อนของสารพิษต่างๆ ในดินได้ดี จะสังเกตว่าดินที่มีสภาพเป็นดินทราย ดินเหนียวจัด แปลงปลูกที่เกิดการเหยียบย่ำจนเกิดเลน หรือมีการใช้เครื่องมือเครื่องจักรหนัก ทำให้ดินอัดตัวแน่น ตลอดจนดินที่มีการใช้สารเคมีกำจัดแมลงและวัชพืช รวมทั้งปุ๋ยเคมีติดต่อกันมาเป็นเวลานานมักไม่พบไส้เดือนดิน นั่นหมายความว่า ดินดังกล่าวมีสภาพไม่ดี จึงจำเป็นต้องฟื้นฟู เบื้องต้นทำได้โดยใส่อินทรียวัตถุลงไปปรับปรุงสภาพดินก่อน เมื่อดินมีสภาพดีขึ้น จะเห็นว่าไส้เดือนดินจะเริ่มมาอยู่อาศัยและทำหน้าที่ปรับปรุงโครงสร้างดินต่อไป
ดินกรดแก้ได้
ดินกรดคือดินที่มีค่า pH ต่ำกว่า 7 นอกเหนือไปจากการตรวจวัดดินด้วยอุปกรณ์ทดสอบแล้วยังมีข้อสังเกตเบื้องต้นง่ายๆ ว่าดินมีสภาพเป็นกรดหรือไม่ก็คือ ให้สังเกตว่าต้นไม้ของเรามีการเจริญเติบโตช้าลง ให้ผลผลิตน้อยลง แสดงอาการเหี่ยวเหมือนขาดน้ำ เพราะรากไม่สามารถเจริญเติบโตในดินได้ตามปกติ แก้ไขโดยใส่วัสดุปูนชนิดต่างๆ เช่น ปูนมาร์ล หรือหินปูนฝุ่น (หินปูนบด) นิยมใช้กับนาข้าว ส่วนปูนโดโลไมต์ หรือปูนขาวใช้กับไม้ผล อัตราที่ใช้ขึ้นกับความรุนแรงของกรดในดิน สำหรับไม้ผลหรือไม้ยืนต้นให้ใช้อัตรา 3-5 กิโลกรัม/หลุมปลูก นอกจากนี้ยังแก้ไขโดยใส่อินทรียวัตถุลงไปในดิน เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดูดซับธาตุอาหารในดิน และการใช้วัสดุคลุมดินเพื่อรักษาความชื้นและหน้าดินร่วมด้วยได้เช่นกัน