posttoday

พฤกษาเร่งมัดใจลูกค้า สร้างบ้านตอบโจทย์4เทรนด์

12 กุมภาพันธ์ 2558

พฤกษาเดินหน้าพัฒนารูปแบบบ้านให้สอดคล้องกับเทรนด์ความต้องการของผู้บริโภคที่เรียกว่า 4 Consumer Mega Trends

โดย...วิทยา ปะระมะ

แม้ในปีที่ผ่านมา สภาพเศรษฐกิจจะย่ำแย่จากความวุ่นวายทางการเมือง ทำให้ยอดพรีเซลส์ของทั้งตลาดลดลงกว่า 16% แต่ในส่วน บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท ถือว่ามียอดพรีเซลลดลงน้อยกว่าตลาด และในปี 2558 บริษัทตั้งเป้ายอดขายไว้ถึง 4.7 หมื่นล้านบาท เติบโตจากปีที่ผ่านมา 20% โดยการใช้กลยุทธ์การพัฒนาสินค้าและบริการตามความต้องการของผู้บริโภค เพื่อมุ่งสู่ความเป็น Top of Mind Brand

เลอศักดิ์ จุลเทศ รองประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท พฤกษาฯ กล่าวว่า กลยุทธ์หนึ่งที่จะทำให้แบรนด์พฤกษาฯ อยู่ในใจลูกค้า คือ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์บ้าน ทาวน์เฮาส์ และคอนโดมิเนียม ซึ่งบริษัทจะเน้นพัฒนารูปแบบบ้านให้สอดคล้องกับเทรนด์ความต้องการของผู้บริโภคที่เรียกว่า 4 Consumer Mega Trends

ประกอบด้วย 1.บ้านที่แข็งแรงและปลอดภัย (Safety Home) 2.บ้านที่ห่วงใยสุขภาพของผู้อยู่อาศัย (Health Home) 3.บ้านที่ประหยัดพลังงาน (Green Home) และ 4.บ้านที่มีรูปแบบทันสมัย (Smart Home)

เลอศักดิ์ ขยายความว่า ในส่วนของเทรนด์เรื่อง Safety Home นั้น ได้นำมาใช้กับบ้านแนวราบแล้ว และสำหรับโครงการแนวดิ่งจะเริ่มใช้ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป โดยการใช้ระบบพรีคาสต์ หรือระบบก่อสร้างสำเร็จรูปที่ทนแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวได้ถึง 7 ริกเตอร์

ขณะที่เทรนด์เรื่อง Health Home ปีที่ผ่านมา บริษัทได้เริ่มใช้ห้องน้ำสำเร็จรูป ซึ่งนอกจากทำความสะอาดง่าย สวยงาม แข็งแรงแล้ว ที่สำคัญคือไม่มีเชื้อรา ทำให้ผู้อยู่อาศัยมีสุขภาพที่ดี และในอนาคต ประชากรสูงอายุจะมีมากขึ้น ก็ต้องออกแบบให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุ เช่น บ้านที่มีสโลป มีบันไดน้อยๆ ไม่ให้เกิดปัญหา หรือการนำอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้สูงอายุมาใส่เข้าไป สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นขั้นที่กำลังพัฒนาอยู่

สำหรับเทรนด์เรื่อง Green Home บริษัทมีโครงการวิจัยออกแบบบ้านแบบประหยัดพลังงานที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากประเทศเยอรมนี เช่น การสร้างพลังงานไฟฟ้าจากหลังคาโซลาร์เซลล์ ระบบกักเก็บน้ำฝนเพื่อนำมาใช้รดน้ำต้นไม้ ระบบปรับอากาศรูปแบบใหม่ที่สามารถเปลี่ยนอากาศร้อนที่ไหลเวียนภายในบ้านให้มีอุณหภูมิค่อยๆ เย็นขึ้น เป็นต้น

พฤกษาเร่งมัดใจลูกค้า สร้างบ้านตอบโจทย์4เทรนด์ บ้านในโครงการสมาร์ทซิตี้ ของกลุ่ม Pana Home เครือพานาโซนิค ที่โอซากา ประเทศญี่ปุ่น

โครงการวิจัยดังกล่าวบริษัทจะทำบ้านต้นแบบเพื่อทดลองใช้จริงต่อไป โดยมี 3 ขั้นตอน คือ 1.การศึกษาเอาแบบบ้านของพฤกษาฯ มาปรับดูว่าจะทำอย่างไรให้ได้ใบรับรองมาตรฐานเยอรมนี 2.ก่อสร้างบ้านต้นแบบ มีการทดสอบอุปกรณ์ต่างๆ และ 3.ประเมินการใช้พลังงานของบ้านต้นแบบ และให้ลูกค้ามาทดสอบเพื่อวิจัยทางการตลาดว่าสิ่งไหนที่จะเอามาสร้างประโยชน์ให้ลูกค้าได้

ขณะที่เทรนด์เรื่อง Smart Home บริษัทได้นำระบบ BIM (Building Information Modeling) ซึ่งเป็นการออกแบบ 3 มิติ โดยใช้ฐานข้อมูลกลางเดียวกันทั้งบริษัท มาช่วยลดขั้นตอนซ้ำซ้อนในการทำงาน รวมทั้งมีแผนพัฒนาระบบ Home Automation ช่วยควบคุมการปิดเปิดไฟผ่านอุปกรณ์มือถือ โดยปัจจุบันเริ่มนำมาใช้จริงบ้างแล้วในคอนโดมิเนียมระดับไฮเอนด์ของบริษัท และค่อยๆ พัฒนาไปเรื่อยๆ

นอกจากนี้ บริษัทได้มีการศึกษาดูงาน โครงการสมาร์ทซิตี้ “ชิโยะอาชิยะ” ของกลุ่มธุรกิจ Pana Home ในเครือพานาโซนิค ที่เมืองโอซากา ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์โครงการแรกในญี่ปุ่นที่ออกแบบมาเพื่อลดการใช้พลังงาน ภายใต้แนวคิด Zero Energy ในพื้นที่ 1.2 แสนตารางเมตร (ตร.ม.) แบ่งพื้นที่เป็นโครงการบ้านเดี่ยว 400 หลัง และคอนโดมิเนียม 3 อาคาร 83 ยูนิต

บ้านและคอนโดทุกหลังจะนำระบบ Smart House ของพานาโซนิคมาใช้ มีแผงควบคุมระบบการเปิดปิดน้ำและไฟในบ้านผ่านทางอุปกรณ์โทรศัพท์หรือแท็บเล็ต และมีจุดเด่นในการแปลงพลังแสงอาทิตย์จากแผงโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งบนหลังคาเป็นพลังไฟฟ้า และกักเก็บไว้ใช้ในบ้าน มีระบบการแสดงผลอย่างละเอียดว่าแต่ละวัน เดือน ปี ใช้ไฟไปเท่าไหร่ ใช้มากในจุดไหน ซึ่งนอกจากผลิตไฟฟ้าไว้ใช้เองแล้ว ไฟฟ้าส่วนเกินยังสามารถขายคืนให้แก่รัฐได้อีกด้วย

บ้านในโครงการสมาร์ทซิตี้ ใช้เงินลงทุนระบบโซลาร์เซลล์ 3 ล้านเยน และลงทุนระบบ Smart Home อีก 1.5 ล้านเยน (ตัวบ้านราคา 35 ล้านเยน) ซึ่งระบบควบคุมและแผงโซลาร์เซลล์มีอายุใช้งาน 20 ปี แต่บ้านแต่ละหลังสามารถแปลงไฟและขายได้ประมาณเฉลี่ย 5 แสนเยน/ปี ซึ่งจะทำให้มีระยะเวลาคุ้มทุนประมาณ 6 ปีเท่านั้น

นอกจากนี้ พฤกษาฯ ยังได้ศึกษาดูงานในส่วนธุรกิจ Age-Free Business ของพานาโซนิค เพื่อตอบโจทย์เรื่อง Health Home อีกด้วย โดยในส่วนนี้จะเป็นธุรกิจเกี่ยวกับบริการและผลิตภัณฑ์ดูแลผู้สูงอายุ ตั้งแต่การจำหน่ายเครื่องมือต่างๆ ไปจนถึงบริการดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน และ Facility Nursing Care หรือบ้านพักผู้สูงอายุ ซึ่งรูปแบบต่างๆ เหล่านี้ บริษัทก็จะศึกษาว่าสามารถนำส่วนใดมาเพิ่มมูลค่าให้แก่บ้านทาวน์เฮาส์และคอนโดมิเนียมของบริษัทได้บ้าง

ลองเมื่อผู้เล่นรายใหญ่อย่าง พฤกษา เรียลเอสเตท ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบ้านเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั้ง 4 เทรนด์อย่างจริงจัง หากเริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรม เชื่อแน่ว่า จะเป็นการจุดชนวนสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดกับตลาดอสังหาริมทรัพย์อย่างแน่นอน

พฤกษาเร่งมัดใจลูกค้า สร้างบ้านตอบโจทย์4เทรนด์ บ้านในโครงการสมาร์ทซิตี้