posttoday

ข้อแนะนำการเข้าไปในอาคารที่ถูกเพลิงไหม้

01 มิถุนายน 2553

การเข้าไปในอาคารที่ถูกเพลิงไหม้เป็นเรื่องอันตราย โดยเฉพาะอาคารที่จัดเป็นประเภทเสียหายอย่างรุนแรง ไม่ควรเข้าไปโดยเด็ดขาด เพราะอาจมีการยุบพังลงของโครงสร้าง

การเข้าไปในอาคารที่ถูกเพลิงไหม้เป็นเรื่องอันตราย โดยเฉพาะอาคารที่จัดเป็นประเภทเสียหายอย่างรุนแรง ไม่ควรเข้าไปโดยเด็ดขาด เพราะอาจมีการยุบพังลงของโครงสร้าง

โดย...ธเนศ วีระศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีชนบท อาจารย์พิเศษ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

การเข้าไปในอาคารที่ถูกเพลิงไหม้เป็นเรื่องอันตราย โดยเฉพาะอาคารที่จัดเป็นประเภทเสียหายอย่างรุนแรง ไม่ควรเข้าไปโดยเด็ดขาด เพราะอาจมีการยุบพังลงของโครงสร้างหรือส่วนประกอบของอาคารในขณะใดขณะหนึ่งได้ หากจำเป็นต้องเข้าไปในอาคารที่ถูกเพลิงไหม้ เพื่อความปลอดภัยควรปรึกษาวิศวกรก่อนว่าสามารถเข้าไปได้หรือไม่ พร้อมทั้งขอคำแนะนำในการเข้าไปว่าควรปฏิบัติตนอย่างไร

ส่วนอาคารที่ได้รับความเสียหายปานกลางคืออาคารที่โครงสร้างหลัก ได้แก่ คานพื้น และเสา ไม่ได้รับความเสียหายมาก รูปทรงของอาคารยังคงรูปอยู่ได้ แต่เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเพลิงไหม้เป็นบริเวณกว้าง เช่น มีเขม่าควันไฟทั่วบริเวณ มีการกะเทาะหลุดล่อนของคอนกรีตเป็นหย่อมๆ ไม่สามารถกั้นบริเวณที่ถูกเพลิงไหม้ออกจากบริเวณอื่นของอาคารได้อย่างชัดเจน

อาคารที่จัดว่ามีความเสียหายเล็กน้อย ได้แก่ อาคารที่พบเห็นความชำรุดบกพร่องของโครงสร้างหลักเฉพาะจุดหรือบางตำแหน่ง และความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่กระทบกับเสาหลักของอาคาร ความเสียหายไม่กระจายทั่วบริเวณของอาคาร สภาพเช่นนี้สามารถกั้นพื้นที่เฉพาะบริเวณที่ได้รับความเสียหาย ขณะที่ส่วนอื่นของอาคารยังใช้เข้าออกได้โดยสะดวก

สำหรับอาคารที่ได้รับความเสียหายระดับปานกลางหรือเล็กน้อยนั้น หากต้องการเข้าในอาคารมีข้อแนะนำสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลอาคารดังนี้

ก่อนเข้าอาคารผู้ดูแลอาคารควรจัดเตรียมความพร้อมก่อนเข้าในอาคารดังนี้

ไฟส่องสว่าง ควรจัดหาไฟส่องสว่างให้เพียงพอ หากเป็นไปได้เจ้าหน้าที่ดูแลอาคารควรติดตั้งไฟฟ้าเพื่อส่องสว่างทั่วบริเวณ

อุปกรณ์ความปลอดภัย ผู้ที่เข้าในอาคารควรสวมหมวกนิรภัย รองเท้าหุ้มข้อ (หากเป็นไปได้ควรเป็นรองเท้าหัวเหล็ก) หน้ากากกันฝุ่น และถุงมือ

แบบแปลนของอาคาร ศึกษาแบบแปลนของอาคารให้ทราบชัดเจนว่าทางเข้าออกอยู่ตำแหน่งใด เส้นทางใดที่เข้าออกได้โดยสะดวก และจะขนย้ายวัสดุอุปกรณ์ในอาคารออกทางทิศทางใด

ทำค้ำยัน สำหรับตำแหน่งของพื้นที่มีคอนกรีตหลุดร่วงจนเห็นเหล็กเสริม ควรทำค้ำยันให้มีความมั่นคงแข็งแรงก่อนขึ้นไปบนพื้นผืนนั้น

ข้อควรระวังขณะเข้าในอาคาร สิ่งที่ควรระมัดระวังมีดังนี้

วัสดุที่อาจตกหล่นจากด้านบน เช่น ท่อแอร์ กระจกที่แตกหักคาอยู่เหล็กพาร์ติชัน

ควรระวังผนังที่มีการโก่งงอจะพับลงมาหากได้รับความกระทบกระเทือนขณะเข้าไปขนย้ายสิ่งของ

กรณีพื้นที่คอนกรีตหลุดล่อน ควรเลือกเดินตำแหน่งที่เป็นแนวเสา และควรกระจายน้ำหนักของผู้ที่เข้าในอาคาร หรือหลีกเลี่ยงไม่เดินบนพื้นผืนดังกล่าว

การจัดการภายในอาคาร

วัสดุหรือส่วนประกอบอาคารที่มีแนวโน้มหลุดร่วงควรเอาออกก่อน เช่น ผนังที่เอียงตัวหรือโก่งงอ กระจกที่แตกคาอยู่กับช่องเปิดต่างๆ

ลำเลียงเศษวัสดุที่ตกหล่นจากเพลิงไหม้ออกจากอาคาร ควรเรียงลำดับจากชั้นบนลงมาชั้นล่าง หรืออาจทำพร้อมกันได้ แต่ระหว่างชั้นไม่ควรอยู่ในตำแหน่งพื้นที่ตรงกัน

ขณะขนย้ายไม่ควรวางกองสิ่งของบนพื้นตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งมากเกินไป

ภายหลังจากจัดการนำสิ่งของที่ตกค้างอยู่ภายในออกจากอาคารแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการตรวจสอบทางวิศวกรรม ซึ่งเจ้าของอาคารควรจัดหาวิศวกรมาทำการตรวจสอบ ทดสอบ และวิเคราะห์ เพื่อเสนอแนะแนวทางการแก้ไข ซึ่งการแก้ไขจะต้องเสียค่าใช้จ่ายมากหรือน้อยเพียงใด และจะคุ้มค่าเมื่อเปรียบเทียบกับทุบทิ้งสร้างใหม่หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าของอาคารที่จะพิจารณาต่อไปครับ