posttoday

ฟาสต์แทร็กอีไอเอ?

12 เมษายน 2557

บทวิเคราะห์ประเด็นร้อน "ฟาสต์แทร็กอีไอเอ" ควรเดินหน้าตามเสียงร้องของเอกชนหรือไม่?

บทวิเคราะห์ประเด็นร้อน "ฟาสต์แทร็กอีไอเอ" ควรเดินหน้าตามเสียงร้องของเอกชนหรือไม่?


โดย...สุกัญญา สินถิรศักดิ์

หลังจาก 2 โครงการคอนโดมิเนียมจากค่ายแกรนด์ ยูนิตี้ ดิเวลล็อปเมนท์ ประกอบด้วย ยูดีไลท์ @ พหลโยธิน 23 และคอนโดยู @ พหลโยธิน สเตชั่น ยังไม่มีทีท่าว่าจะผ่านการอนุมัติรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) จากคณะกรรมการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในระยะเวลาอันใกล้ จนทำให้ค่ายแกรนด์ยูฯ ต้องตัดสินใจคืนเงินให้ลูกบ้าน และยังมีอีกหลายโครงการถัดมาอีก จนกระแสข่าวเกี่ยวกับอีไอเอกลับมาอีกครั้ง เรียกเสียงจากฝั่งผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ถึงแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องอีไอเอให้กลับมาดังอีกครั้ง

ข้อเสนอล่าสุดอย่าง “ฟาสต์แทร็กอีไอเอ” ที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เริ่มพูดถึงมากขึ้น ดูเหมือนจะเป็นทางออกที่น่าสนใจ ด้วยการที่ภาคเอกชนขอให้ สผ.ผ่อนปรนให้ทำฟาสต์แทร็กในการยื่นอีไอเอ ให้ผู้ประกอบการยื่นรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม แจ้งสิ่งที่จะก่อสร้างตามหลักเกณฑ์กฎหมาย และหลักเบื้องต้นของสิ่งแวดล้อม เพื่อลดระยะเวลาในการยื่นขออีไอเอ ขออนุญาตก่อสร้างได้เร็ว และเริ่มก่อสร้างได้เร็ว

แต่ในทางกลับกันแล้ว ข้อเสนอดังกล่าวก็น่าหวาดเสียวไม่น้อยเช่นกัน เพราะเท่ากับเปิดทางให้ภาคเอกชนลุยขึ้นโครงการใหม่ได้อย่างเสรีเต็มที่ เพราะทุกวันนี้ แม้ทุกค่ายจะบ่นเรื่องอีไอเอว่าใช้เวลายื่นขอนานเกินไป จนเป็นปัญหาใหญ่ในการพัฒนาโครงการ แต่จำนวนโครงการใหม่กลับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และไม่ได้มีแนวโน้มว่าจะลดลงเลย จึงแทบไม่อยากนึกภาพว่าถ้ามี “ฟาสต์แทร็กอีไอเอ” ตลาดคอนโดมิเนียมที่ร้อนฉ่าอยู่แล้ว จะมีอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างไร ยังไม่รวมถึงปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นตามมาจากการอนุญาตให้มีการใช้ “ฟาสต์แทร็กอีไอเอ” ซึ่งเป็นสิ่งที่ฝั่งผู้ประกอบการเลือกจะไม่พูดถึง

สำหรับเรื่องการอนุโลมขั้นตอนการยื่นขออีไอเอในภาคที่อยู่อาศัย ในอดีตที่ผ่านมา อนุญาตให้โครงการบ้านเอื้ออาทรยื่นรายงานอีไอเอเข้ามาที่ สผ. และดำเนินการก่อสร้างได้ทันที ในฐานะโครงการที่อยู่อาศัยของภาครัฐ ซึ่งก็มีลักษณะคล้ายๆ “ฟาสต์แทร็กอีไอเอ” เหมือนที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ต้องการในวันนี้

อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องอีไอเอล่าช้าก็ดี อีไอเอไม่ผ่านก็ดี กลายเป็นสิ่งที่ท้ายที่สุดแล้ว คนที่ได้รับผลกระทบตัวจริง คือ ผู้จองซื้อบ้านไว้แล้ว เป็นเรื่องที่ สผ. ควรลุกขึ้นมาทบทวนแล้วเช่นกันว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร หรือจะยังคง “เข้มข้น” เช่นเดิม พร้อมรณรงค์ให้ภาคประชาชนเลือกซื้อเฉพาะโครงการที่ผ่านอีไอเอแล้ว หรือผลักดันให้มีกฎหมายบังคับให้โครงการต่างๆ ต้องผ่านอีไอเอก่อนแล้วค่อยเปิดขาย เพื่อความเสมอภาคทางการแข่งขัน หรือจะ “ผ่อนปรน” กับเสียงเรียกร้องถึง “ฟาสต์แทร็กอีไอเอ” ที่เริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ ของภาคเอกชน คงเป็นสิ่งที่ สผ.ต้องชั่งน้ำหนักให้ดีก่อนตัดสินใจ