posttoday

เทรนด์ "ห้องน้ำสำเร็จรูป"

27 มีนาคม 2557

จับตาเทรนด์ที่อยู่อาศัยใหม่ รายใหญ่ชิมลาง “ห้องน้ำสำเร็จรูป”

จับตาเทรนด์ที่อยู่อาศัยใหม่ รายใหญ่ชิมลาง “ห้องน้ำสำเร็จรูป”

สุกัญญา สินถิรศักดิ์

หลังจากที่ “บิ๊กอสังหาฯ” พัฒนาระบบก่อสร้างที่อยู่อาศัยด้วยชิ้นส่วนสำเร็จรูปทั้งแบบพรีคาสท์ และแบบพรีแฟบ จนอาจกล่าวได้ว่าปัจจุบันตลาดยอมรับในระบบก่อสร้างดังกล่าวแล้วพอสมควร ล่าสุด ผู้ประกอบการรายใหญ่หลายราย เช่น ค่ายพฤกษา ค่ายแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ค่ายควอลิตี้ เฮ้าส์เริ่มนำระบบห้องน้ำสำเร็จรูปคล้ายญี่ปุ่นเข้ามาใช้ในโครงการที่อยู่อาศัยของไทยแล้ว ประเดิมด้วยคอนโดมิเนียมระดับล่าง ราคาเริ่มต้นไม่เกิน 1.5 ล้านบาท

ส่วนค่ายเอพี อยู่ระหว่างศึกษา ซึ่งการนำระบบห้องน้ำสำเร็จรูปเข้ามาใช้กับที่อยู่อาศัยของไทยอย่างจริงจัง ถือเป็นเทรนด์ที่ต้องจับตามอง เพราะหากรายใหญ่ขยับ ย่อมมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบที่อยู่อาศัยของไทยที่ผู้ซื้อบ้านยุคใหม่ต้องเรียนรู้

 

เทรนด์ "ห้องน้ำสำเร็จรูป"

 

สุภัทร รัตนะโสภณชัย รองประธานอาวุโสศูนย์กลางนวัตกรรม บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท กล่าวว่า ไม่ใช่เพียงเรื่องการควบคุมเวลาในการก่อสร้าง และต้นทุนต่างๆ แต่การที่ผู้ประกอบการสนใจระบบห้องน้ำสำเร็จรูป เพราะห้องน้ำ เป็นส่วนหนึ่งของตัวบ้าน หรือห้องชุดที่ถูกร้องเรียนเกี่ยวกับคุณภาพของงานก่อสร้างมากที่สุด

เพราะห้องน้ำปกติ มีรายละเอียดในการก่อสร้างเยอะกว่าส่วนอื่น มีผู้เกี่ยวข้องหลายส่วน ซึ่งมีผลให้ต้องใช้เวลาก่อสร้างนานกว่าส่วนเช่นกัน อีกทั้งห้องน้ำต้องปูกระเบื้อง ซึ่งเป็นจุดที่มีปัญหาด้านคุณภาพมาก เนื่องจากปัจจุบันหาช่างปูกระเบื้องฝีมือดีได้ยาก

 

เทรนด์ "ห้องน้ำสำเร็จรูป"

 

ทั้งนี้ หากวิเคราะห์ต้นทุนก่อสร้างห้องน้ำสำเร็จรูปจะสูงกว่าห้องน้ำก่อสร้างแบบปกติมาก โดยต้นทุนห้องน้ำก่อสร้างแบบปกติของพฤกษา หากเป็นทาวน์เฮาส์อยู่ที่ประมาณ 2 หมื่นบาทต่อห้อง ส่วนคอนโดมิเนียม 4 หมื่นบาทต่อห้อง แต่ห้องน้ำสำเร็จรูปอยู่ที่ประมาณ 4-5 หมื่นบาทต่อห้อง หรือผู้ผลิตบางราย มีต้นทุนสูงถึง 5.5 – 6 หมื่นบาทต่อห้อง แต่หากแก้ปัญหาเรื่องคุณภาพ ลดการร้องเรียนได้ ก็เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องหาวิธีที่จะใช้ห้องน้ำสำเร็จรูป ภายใต้ต้นทุนที่เหมาะสมกับลักษณะและราคาที่อยู่อาศัยนั้นๆ

สำหรับระบบห้องน้ำสำเร็จรูป ค่ายพฤกษาเริ่มศึกษามาตั้งแต่ปี 2551 ทั้งดูงานในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น จีน ดูไบ รวมถึงหารือกับผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างรายใหญ่หลายราย ทั้งทดลองผลิตเอง ซึ่งในช่วงแรกเป็นห้องน้ำสำเร็จรูปแบบคอนกรีต แต่มีน้ำหนักมากถึง 7-8 ตัน ทำให้ไม่สะดวกต่อการขนส่ง

 

เทรนด์ "ห้องน้ำสำเร็จรูป"

 

ล่าสุด ได้เลือกใช้ระบบห้องน้ำสำเร็จรูป 2 แบบ คือ 1. ห้องน้ำสำเร็จรูปแบบคอนกรีต ซึ่งผลิตเอง ด้วยการลดความหนาของผนังจาก 10 เซนติเมตรเป็น 4.5 เซนติเมตร ทำให้น้ำหนักลดเหลือ 3.2 ตัน แต่จะพัฒนาต่อเนื่องให้น้ำหนักลดลงน้อยกว่า 3 ตัน เพื่อสะดวกต่อการขนส่ง และ 2. ห้องน้ำสำเร็จรูปจากวัสดุอะคริลิก คล้ายที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นแบบที่จ้างผู้ผลิตกลุ่มญี่ปุ่นที่เริ่มเข้ามาทำตลาดในไทย

สุภัทร กล่าวว่า ห้องน้ำสำเร็จรูปจากวัสดุอะคริลิกของญี่ปุ่น ต้นทุนประมาณ 5.5 – 6 หมื่นบาทต่อห้อง น้ำหนัก 700 – 800 กิโลกรัมต่อห้อง ใช้เวลาติดตั้งเพียง 15-20 นาทีเท่านั้น ซึ่งสามารถติดตั้งได้เลยที่งานก่อสร้างในแต่ละชั้นแล้วเสร็จ และหลังจากนั้นก็จะห่อห้องน้ำไว้ ไม่ให้มีการใช้งานจนกว่างานก่อสร้างทั้งโครงการจะเสร็จ โดยรูปแบบการผลิตห้องน้ำสำเร็จรูปจากวัสดุอะคริลิก จะผลิตแบบระบบฉีดออกมาเป็นลูก แต่ปรับให้สอดรับกับความนิยมของคนไทยที่ต้องมีกระเบื้อง ซึ่งจะถูกติดตั้งมาจากโรงงาน แบ่งส่วนแห้ง ส่วนเปียกพร้อมติดตั้งทันที

นวัตกรรมดังกล่าวได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการรายใหญ่มาก ซึ่งค่ายใหญ่ที่เริ่มใช้แล้ว เช่น ค่ายแลนด์ฯ ก็ใช้ระบบนี้กับโครงการคอนโดมิเนียมอีส พระราม 2 ค่ายควอลิตี้เฮ้าส์ ใช้กับคอนโดมิเนียมของบริษัทลูก เดอะ ทรัสต์ อมตะ-ชลบุรี โดยจากการทดลองทำโฟกัสกรุ๊ปของค่ายพฤกษา จำนวน 50 คน ส่วนใหญ่ยอมรับได้กับการใช้ห้องน้ำสำเร็จรูปภายในบ้าน

แต่วิธีการดูแลรักษาจะแตกต่างจากห้องน้ำที่รูปแบบเดิม คือ เน้นทำความสะอาดง่าย ไม่ควรขัดถูแรง แต่ข้อจำกัด จะอยู่ที่การปรับเปลี่ยนสุขภัณฑ์ต่างๆ อาจจะต้องเลือกขนาดที่เหมาะสมกับพื้นที่ห้องน้ำ ซึ่งการขายที่อยู่อาศัยที่ใช้ระบบห้องน้ำสำเร็จรูป จะต้องแยกการรับประกันห้องน้ำออกจากส่วนอื่น โดยจะรับประกันตรงกับผู้ผลิต

นอกจากนี้ สิ่งที่แตกต่างที่คนซื้อบ้านยุคใหม่ต้องเรียนรู้ คือ ระบบห้องน้ำสำเร็จรูป จะระบายน้ำและสิ่งปฏิกูลออกด้านข้าง ก่อนลงสู่ด้านล่าง เวลาที่ห้องน้ำของห้องชุดนั้นๆ มีปัญหา ก็จะกระทบเพียงห้องเดียว จะไม่กระทบกับห้องด้านล่างเหมือนในอดีตที่ระบายน้ำและสิ่งปฏิกูลลงสู่ด้านล่าง เวลามีปัญหา ห้องด้านล่างถัดลงมาจากห้องชุดที่มีปัญหาจะได้รับผลกระทบไปด้วย

ในเบื้องต้นพฤกษาจะเริ่มใช้กับห้องน้ำสำเร็จรูปแบบคอนกรีตกับทาวน์เฮาส์ล้านต้นๆ และอยู่ระหว่างศึกษาว่าถ้าใช้กับคอนโดมิเนียม พลัม บางใหญ่จะคุ้มหรือไม่ ส่วนห้องน้ำสำเร็จรูปแบบอะคริลิกจะใช้กับคอนโดมิเนียม ราคา 1.5-3 ล้านบาท เริ่มประเดิมโครงการแรก "พลัม คอนโด เอ็กซ์ตร้า พระราม 2"

วิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์การตลาด บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) กล่าวว่า เอพีอยู่ระหว่างศึกษาข้อดี ข้อเสียในการใช้งานจริงของระบบห้องน้ำสำเร็จรูป และยังอยู่ระหว่างศึกษาผนังสำเร็จรูปแบบใหม่ร่วมกับเอสซีจี ที่ไม่ใช่คอนกรีต ไม่ใช่ผนังมวลเบา อาจจะคล้ายกับไฟเบอร์ซีเมนท์ ซึ่งมีต้นทุนที่สูงกว่าผนังคอนกรีต 20-30% แต่ติดตั้งได้เร็วกว่ามาก

จากวิกฤตแรงงานขาดแคลนที่เห็นได้ชัด และความต้องการก่อสร้างที่อยู่อาศัยที่เร็วขึ้น นับจากนี้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์คงเดินหน้าพัฒนาระบบก่อสร้างใหม่ๆ ต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว ซึ่งเป็นสิ่งที่คนซื้อบ้านยุคใหม่ต้องเรียนรู้