posttoday

บ้านทรุดเกิดจากอะไรตอนที่9

11 พฤษภาคม 2553

โดย...ธเนศ วีระศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีชนบท อาจารย์พิเศษ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต [email protected]

โดย...ธเนศ วีระศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีชนบท อาจารย์พิเศษ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต [email protected]

สาเหตุการทรุดตัวของบ้านมีหลากหลายรูปแบบ แต่อย่าเพิ่งตกอกตกใจกันนะครับ เพียงแต่เราทำความเข้าใจกับสาเหตุเหล่านี้ เมื่อเราจะทำการก่อสร้างบ้านใหม่ซึ่งบางทีอาจจะเป็นหลังแรกหรือหลังเดียวในชีวิตของเรา จะได้หาวิธีป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเหล่านี้ครับ แต่ทางที่ดีที่สุดคือการก่อสร้างควรอยู่ภายใต้การควบคุมและดูแลของวิศวกรครับ หากเกิดปัญหาจะได้แก้ไขให้ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม

สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้บ้านเกิดการทรุดตัว คือ เสาเข็มเยื้องศูนย์

เสาเข็มเยื้องศูนย์ หมายถึง ตำแหน่งศูนย์กลางของเสาเข็มหรือกลุ่มเสาเข็มไม่ตรงกับตำแหน่งเสาตอม่อของอาคาร ทำให้น้ำหนักของอาคารที่ลงฐานรากไม่ตรงกับตำแหน่งศูนย์รวมแรงต้านของเสาเข็ม

เมื่อแรงกดและแรงต้านอยู่ในตำแหน่งที่เยื้องกันจะทำให้ฐานรากซึ่งเป็นครอบหัวเสาเข็มเกิดการพลิกเอียงไม่สามารถส่งผ่านน้ำหนักลงเสาเข็มได้ และเป็นต้นเหตุทำให้อาคารทรุดตัว ถ้าฐานรากหลายฐานในอาคารเกิดปัญหาเยื้องตำแหน่งเช่นนี้และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ฐานรากจะทรุดตัวตามกันจนทำให้อาคารอยู่ในลักษณะเอียง

ปัญหาการทรุดตัวของอาคารอันเนื่องจากการเยื้องตำแหน่งของเสาเข็มมักจะพบมากกับฐานรากเสาเข็มเดี่ยว เพราะโอกาสที่จะเกิดการเยื้องตำแหน่งของฐานรากเสาเข็มเดี่ยวมีมาก และเมื่อเยื้องตำแหน่งแล้วฐานรากจะเอียงได้ง่ายกว่าฐานรากที่วางบนเสาเข็มหลายต้น ความผิดพลาดเหล่านี้มักจะเกิดในขณะก่อสร้าง เช่น เกิดความคลาดเคลื่อนของตำแหน่งเสาเข็มในขณะติดตั้ง หรือวางตำแหน่งเสาเข็มผิดพลาดตั้งแต่เริ่มต้น

วิธีแก้ไขที่ดีวิธีหนึ่งก็คือ เมื่อพบว่าเสาเข็มผิดตำแหน่งหรือเคลื่อนออกจากตำแหน่งที่กำหนด ควรเลื่อนเสาตอม่อให้ตรงกับตำแหน่งเสาเข็ม ส่วนเสาของอาคารที่อยู่เหนือเสาตอม่อขึ้นไปด้านบนนั้นยังคงให้อยู่ตำแหน่งเดิมตามที่กำหนดในแบบก่อสร้างได้ การแก้ไปัญหาด้วยวิธีนี้จะทำให้ไม่เกิดการเยื้องตำแหน่งระหว่างเสาตอม่อและฐานราก ทำให้ฐานรากไม่ถูกดันจนพลิกเอียง

แต่การเยื้องตำแหน่งจะไปเกิดในส่วนที่เป็นเสาอาคารกับเสาตอม่อแทน ในส่วนที่เสาอาคารกับเสาตอม่อเยื้องตำแหน่งกันนี้จะมีคานที่รองรับพื้นชั้นล่างเป็นตัวยึดโยงอยู่ ถ้าออกแบบคานให้มีขนาดและเหล็กเสริมเพียงพอก็จะสามารถรับน้ำหนักจากเสาแล้วส่งถ่ายลงสู่เสาตอม่อได้ ขั้นตอนการแก้ไขเหล่านี้จะช่วยแก้ปัญหาฐานรากเสาเข็มเดี่ยวเยื้องตำแหน่งได้ ทั้งนี้ขอแนะนำให้ปรึกษาและอยู่ในความควบคุมดูแลของ วิศวกร...จะเป็นการดีที่สุดครับ

สำหรับท่านที่มีปัญหาเรื่องบ้านต้องการปรึกษาวิศวกร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ได้จัดรายการ คลินิกช่างพบประชาชน ขึ้นที่บริเวณชั้น 1 อาคารวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ทุกวันเสาร์ปลายเดือน โดยครั้งถัดไปจะตรงกับวันเสาร์ที่ 29 พ.ค. 2553 เริ่มตั้งแต่เวลา 13.00–17.00 น. ท่านที่มีความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมกรุณาโทร.แจ้งชื่อ และปัญหาของท่านเพื่อเป็นการลงทะเบียนล่วงหน้าที่ โทร. 02-319-2708 ถึง 10 ต่อ 310 รับไม่เกิน 20 ท่าน และเป็นบริการฟรีครับ