posttoday

ชงแผนหนุนโซลาร์เซลล์บนหลังคา

04 กรกฎาคม 2556

“พงษ์ศักดิ์” เตรียมชง กพช. หนุนโซลาร์เซลล์หลังคาบ้าน ก.ค.นี้ ดันผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ทั่วประเทศ

“พงษ์ศักดิ์” เตรียมชง กพช. หนุนโซลาร์เซลล์หลังคาบ้าน ก.ค.นี้ ดันผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ทั่วประเทศ

นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ทางกระทรวงพลังงานเตรียมเสนอแนวทางส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาในภาคครัวเรือนและโรงงานทั่วไป (โซลาร์ รูฟท็อป) เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในเดือน ก.ค.นี้ โดยได้เร่งให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) สรุปแนวทางดำเนินการโดยเร็ว

ด้านนายอำนวย ทองสถิตย์ อธิบดี พพ. กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดมาตรการส่งสริมการติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อป บนหลังคาบ้านเรือนประชาชนทั่วไป อาคารธุรกิจ โรงงาน โดยมาตรการที่จะนำมาใช้เพื่อเป็นแรงจูงใจให้มีการดำเนินการ ได้แก่ 1.มาตรการทางภาษีให้กับผู้ลงทุน เช่น กรณีโรงงานสามารถนำค่าใช้จ่ายไปหักค่าเสื่อมราคาได้ 125% 2.เงินกู้สนับสนุนจากกองทุนเพื่อการสนับสนุนการลงทุนโครงการอนุรักษ์พลังงาน (เอสโค่ ฟันด์) และ 3.การใช้มาตรการส่งเสริมค่าไฟฟ้าตามต้นทุนที่แท้จริง (ฟีด อินทารีฟ)

สำหรับการพิจารณาอัตราค่าไฟฟ้าที่ผลิตได้จะต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าค่าไฟฟ้าที่ผลิตได้เป็นจำนวนเท่าใด และหากมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเหลือสามารถขายไฟฟ้าเข้าระบบได้เท่าใด ขณะเดียวกันจะหามาตรการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านเรือน เพื่อปรับลดให้เหลือ 6-7 หมื่นบาทต่อกิโลวัตต์ จากเดิมที่จะสูงถึง 2 แสนบาทต่อกิโลวัตต์ โดยจะพิจารณาเรื่องค่าธรรมเนียมเชื่อมสายว่าจะลดลงได้อีกหรือไม่ เพื่อให้ต้นทุนการติดตั้งต่ำที่สุด

“โครงการดังกล่าวคงต้องค่อยๆ พัฒนาไปทีละขั้นตอน ซึ่งกรณีที่เป็นการติดตั้งโซลาร์เซลล์ประเภทบ้านเรือน ควรส่งเสริมกับโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ปลูกสร้างใหม่ระดับกลางราคาหลังละ 4-5 ล้านบาท หากมีการออกแบบติดตั้งโซลาร์เซลล์ไปด้วย ประมาณ 3 กิโลวัตต์ต่อหลัง ค่าใช้จ่ายจะอยู่ที่ 2 แสนบาท ถือว่าบวกเพิ่มไปน้อยมากเมื่อเทียบกับราคาบ้านทั้งหลัง ซึ่งสถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อบ้านก็สามารถคำนวณไปในราคาบ้านได้เลย น่าจะดีกว่าที่จะนำไปติดตั้งในภายหลัง เพราะอาจแพงกว่า” นายอำนวย กล่าว

รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงาน เพิ่มเติมว่า โครงการส่งเสริมติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อป ต้องการสนับสนุนให้มีการผลิตไฟฟ้าไว้ใช้เองภายในบ้านหรือกิจการโรงงาน ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน จึงมีเป้าหมายส่งเสริมในภาคครัวเรือน 1 แสนหลัง ผลิตไฟฟ้าได้ 300 เมกะวัตต์ และกลุ่มโรงงานหรืออาคารควบคุม 1,000 แห่ง รวมกำลังการผลิตติดตั้งไม่เกิน 500 เมกะวัตต์ ในเขตจังหวัดที่มีโรงงานและอาคารควบคุมที่ใช้พลังงานสูงสุด 10 จังหวัดแรก

สำหรับค่าลงทุนในการติดตั้งที่เคยคำนวณไว้อยู่ที่ 2.12 แสนบาท หรือประมาณ 70 บาทต่อวัตต์ มาจากค่าธรรมเนียมเชื่อมสาย 2 หมื่นบาท (6.67 บาทต่อวัตต์) แผงเซลล์ 6.9 หมื่นบาท (23 บาทต่อวัตต์) ค่าอุปกรณ์ประกอบและอื่นๆ 8.28 หมื่นบาท (27.6 บาทต่อวัตต์) และค่าดำเนินการภาษีกำไร 4.1 หมื่นบาท (13.67 บาทต่อวัตต์) ซึ่งทาง รมว.พลังงาน เห็นว่ามีค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป ควรจะปรับลดลงให้อยู่ในระดับ 1 แสนบาท