posttoday

อนันดาฯเล็งคว้าเค้ก50%

11 กุมภาพันธ์ 2556

อนันดาฯ ตั้งเป้ากวาดตลาดคอนโดติดแนวรถไฟฟ้า 50% คุยญี่ปุ่นร่วมทุน ตั้งบริษัทรับเหมาฯ เอง

อนันดาฯ ตั้งเป้ากวาดตลาดคอนโดติดแนวรถไฟฟ้า 50% คุยญี่ปุ่นร่วมทุน ตั้งบริษัทรับเหมาฯ เอง

นายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ (ANAN) เปิดเผยว่า บริษัทมีเป้าหมายที่จะเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดของธุรกิจคอนโดมิเนียมทำเลติดแนวรถไฟฟ้าถึง 50% ของตลาดโดยรวม จากปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 30% เพื่อต้องการเพิ่มความประหยัดทางขนาด หรือ Economies of Scale และการมีตลาดที่ใหญ่ขึ้นยังช่วยป้องกันไม่ให้คู่แข่งเข้ามามาก

การที่บริษัทจะเติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้นั้น จะต้องมีกลยุทธ์หลากหลาย นอกจากต้องมีการลงทุนซื้อที่ดินหลายแปลงเพื่อเปิดโครงการใหม่และเปิดแบรนด์ใหม่แล้ว ขณะนี้กำลังเจรจากับบริษัทในประเทศญี่ปุ่นให้เข้ามาเป็นพันธมิตรในการลงทุนและก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่และใช้เทคโนโลยีระดับสูงด้วย คาดว่าการเจรจาจะเสร็จสมบูรณ์ในเร็วๆ นี้

นอกจากนี้ บริษัทเพิ่งมีการจัดตั้งบริษัท HELEX โดยการรวบรวมมืออาชีพในวงการอสังหาริมทรัพย์มาจัดตั้งบริษัทรับเหมาก่อสร้างเอง เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต หลังจากอาศัยประสบการณ์ของผู้บริหารและ|ใส่เทคโนโลยีเข้ามาช่วย คาดว่าแต่ละโครงการจะใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 24 เดือน และยังช่วยแก้ปัญหาเรื่องแรงงานก่อสร้างขาดแคลน

“เราถือหุ้นบริษัทรับเหมาฯ ทั้ง 100% นอกจากจะสามารถสร้างเสร็จเร็วและคุณภาพงานจะดีแล้ว หากบริษัทสร้างได้ 1 ใน 3 ของผลผลิตทั้งหมด อนันดาฯ ก็สามารถรับรู้รายได้จากบริษัทลูกอีกทางหนึ่งด้วย” นายชานนท์ กล่าว

ขณะเดียวกัน บริษัทได้หาซื้อที่ดินกลางเมืองเพื่อพัฒนาโครงการใหม่ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ได้ซื้อที่ดินบริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ 2 แปลง ใช้เงินมากกว่า 1,000 ล้านบาท ส่วนเงินในการพัฒนาโครงการนั้นนอกจากการใช้สินเชื่อจากธนาคารหลายแห่ง เช่น ธนาคารกรุงไทย และธนาคารธนชาต บริษัทยังมีการเจรจากับต่างประเทศให้เข้ามาร่วมลงทุนด้วย เพราะไม่ต้องการให้มีสัดส่วนหนี้สินต่อทุน (ดีอี) เกิน 1 เท่า

“การพัฒนาโครงการทำเลรถไฟฟ้ายังมีที่ดินแปลงใหญ่กลางเมืองให้เลือกซื้ออีกมาก แต่การเจรจาจะต้องใจเย็น เพราะเราไปกระตุ้นกำลังซื้อทำให้ราคาปรับตัวขึ้นมามาก หากคำนวณแล้วเห็นว่าการซื้อเวลานี้เป็นราคาล่วงหน้าอีก 2 ปี เราก็จะยังไม่รีบตัดสินใจ เพราะอาจจะไม่มีค่ากับการลงทุน” นายชานนท์ กล่าว

ด้านการเกิดโครงการใหม่ ก็ไม่ประสบปัญหาเรื่องการขาย เนื่องจากปัจจุบันบริษัทมีลูกค้าประมาณ 7,000 คน และใช้เงินสดในการซื้อถึง 40% เป็นลูกค้าเก่าประมาณ 30-40% ส่วนรายที่ขอสินเชื่อก็ไม่ได้รับการปฏิเสธจากธนาคารมากกว่าอัตราปกติของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

สำหรับราคาหุ้น ANAN ที่กระเตื้องขึ้นเข้าใกล้ราคาเสนอขายครั้งแรก (ไอพีโอ) ที่ 4.20 บาท นายชานนท์ กล่าวว่า เกิดจากนักลงทุนมีความเข้าใจธุรกิจและเห็นการพัฒนาโครงการต่อเนื่อง แม้ที่ผ่านมามีการนำเสนอข้อมูล (โรดโชว์) ทั้งในและต่างประเทศมากแล้ว ก็ยังจำเป็นต้องทำต่อไปตลอดปีนี้ เมื่อต้นเดือนเพิ่งไปให้ข้อมูลกับนักลงทุนในฮ่องกงและสิงคโปร์ กับบริษัทหลักทรัพย์ ซีไอเอ็มบี

ขณะที่ การขยายตัวอย่างรวดเร็วของอนันดาฯ ได้มีการจัดโครงสร้างองค์กรมารองรับ โดยการเพิ่มระดับผู้บริหารอีก 5 คน จากปัจจุบันมีจำนวน 7 คน เพื่อกระจายความรับผิดชอบ และสามารถให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ