posttoday

หวั่น "โรคตึกเป็นพิษ" ระบาด

03 เมษายน 2555

พลัส พร็อพเพอร์ตี้ หวั่นคนกรุงเกิดอาการ “โรคตึกเป็นพิษ” (Sick Building Syndrome)

พลัส พร็อพเพอร์ตี้ หวั่นคนไทยเกิดอาการ “โรคตึกเป็นพิษ” (Sick Building Syndrome)

หวั่น "โรคตึกเป็นพิษ" ระบาด

นายชาญ ศิริรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายบริหารทรัพยากรอาคารและฝ่ายวิศวกรรม บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันอาคารทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหา “ตึกเป็นพิษ” หรือ Sick Building Syndrome (SBS) ซึ่งถือเป็นภัยเงียบที่อยู่ใกล้ตัวของผู้ที่อยู่อาศัยและทำงานภายในอาคารโดยหากยังคงละเลย ต่อปัญหาดังกล่าว จะส่งผลเสียต่อสุขภาพของคนไทยในระยะยาว และที่สำคัญจะส่งผลเสียต่อการดำเนินธุรกิจ อย่างมากเพราะบุคลากรเสี่ยงที่จะรับและเผยแพร่โรคต่างๆ พลัส พร็อพเพอร์ตี้ ในฐานะ หนึ่งในผู้นำด้านธุรกิจบริหารทรัพยากรอาคารของไทย จึงต้องการออกมากระตุ้นให้สังคมไทยตระหนักถึง ปัญหาดังกล่าว และร่วมรณรงค์เพื่อให้บรรดาเจ้าของอาคารต่างๆ ควรเพิ่มมาตรการด้านความปลอดภัย ในคุณภาพชีวิตควบคู่ไปกับความทันสมัยด้านเทคโนโลยี

ทั้งนี้ โรคตึกเป็นพิษ คือ อาการที่เกิดขึ้นจากมลพิษภายในอาคารที่ด้อยศักยภาพด้านระบบหมุนเวียน อากาศ ทำให้สารระเหยและสารพิษที่ถูกปล่อยออกมาจากเครื่องใช้สำนักงาน รวมถึงสารระเหยจากสีทาผนัง ไม้อัด สารเคลือบเงาทั้งหลาย หรือแม้กระทั่งไรฝุ่นในพรม วนเวียนอยู่ภายในระบบปรับอากาศของอาคาร ทำให้เกิดอาการอ่อนล้า ปวดหัว คลื่นไส้ คัดจมูก ไอ จาม เกิดผดผื่นคัน ระคายเคืองดวงตา และมีความผิดปกติของประสาทรับกลิ่น เป็นต้น

"ที่ผ่านมา พลัส พร็อพเพอร์ตี้ เน้นหนักเรื่องประสิทธิภาพในการบริหารทรัพยากรอาคารแบบองค์รวม ทั้งการดูแลด้านศักยภาพของอาคาร, บุคลากรที่ปฏิบัติงาน และหรือผู้อยู่อาศัยภายในอาคารด้วยเช่นกัน “โรคตึกเป็นพิษ” ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาหลักที่เราให้ความสำคัญและสร้างมาตรการ เพื่อจัดการความเสี่ยงด้านความปลอดภัยในอาคาร เพราะความปลอดภัยภายในอาคารจัดเป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของผู้ใช้อาคาร โดยอาคารที่ไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพชีวิตของผู้ใช้อาคาร จัดเป็นความเสี่ยงสำคัญที่จะสามารถส่งผลเสียหายโดยตรงต่อองค์กรทั้งด้านการเงิน และ Productivity ขององค์กร ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยในอาคารต่อผู้ใช้อาคารเป็นเรื่องที่อยู่ในความรับผิดชอบโดยตรงของงานบริหารทรัพยากรอาคาร ผู้บริหารอาคารจึงมีหน้าที่สำคัญในการบริหารจัดการ เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น รวมถึงลดผลกระทบที่จะตามมาด้วย" นายชาญ ศิริรัตน์ กล่าว

ด้านมาตรการในการการแก้ไขปัญหา “ตึกเป็นพิษ” นั้น นายชาญ ศิริรัตน์ กล่าวเสริมว่า “เนื่องจากโรค “ตึกเป็นพิษ” จะเกิดขึ้นเมื่ออยู่ภายในอาคารเท่านั้น การแก้ไขจึงควรมุ่งเน้นที่การปรับปรุง จากภายในอาคาร เริ่มที่การค้นหาสาเหตุโดยผู้เชี่ยวชาญซึ่งประกอบด้วย วิศวกรผู้ดูแลอาคาร และนักสุขศาสตร์อุตสาหกรรม ทำการปรับปรุงจากสิ่งที่ทำได้ง่ายก่อน เช่น ย้ายกระถางดอกไม้ไปนอกอาคาร จัดวางอุปกรณ์สำนักงานให้เหมาะสม กำหนดพื้นที่ทำงานที่สอดคล้องกับจำนวนคน ทำความสะอาด อย่างสม่ำเสมอ เพิ่มการระบายอากาศ ลดการนำอากาศภายนอกเข้าสู่ภายในโดยตรงเพื่อลดฝุ่น ทำความสะอาดระบบปรับอากาศ กำหนดพื้นที่สูบบุหรี่ให้อยู่ภายนอกอาคาร หากมีการจัดซื้ออุปกรณ์สำนักงานใหม่ให้เลือกประเภทที่มีการระเหยของ VOCs น้อยที่สุด เพิ่มการไหลเวียนของอากาศให้ไม่ต่ำกว่ามาตรฐานหากไม่เพียงพอต้องมีการปรับปรุงอย่างทันท่วงที ต้องให้ความรู้แก่บุคคล ผู้อาศัยในอาคารเพื่อทำความเข้าใจและหาวิธีป้องกันตนเองร่วมกัน รวมไปถึงการรณรงค์ให้พนักงานออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ”

“พลัส พร็อพเพอร์ตี้ ได้ตระหนักถึงปัญหาของ Sick Building Syndrome (SBS) ที่จะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้อาคาร ตลอดจนกลุ่มลูกค้าที่ทางบริษัทฯ ได้ให้บริการอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยถือเป็นดัชนีชี้วัด (KPIs) ซึ่งได้กำหนด เป็นข้อตกลงทางธุรกิจกับกลุ่มอาคารขนาดใหญ่ในบางอาคาร  ซึ่งการจะเข้าไปดำเนินการ เริ่มจากการสำรวจความผิดปกติของสภาพการปรับอากาศที่ไม่เหมาะสมภายในอาคาร ทำการเก็บข้อมูลที่จำเป็นต่อการดำเนินการปรับปรุง  เช่น ระบบการหมุนเวียนอากาศที่ไม่เพียงพอ การปรับตั้งค่าอุณหภูมิภายในพื้นที่ปรับอากาศที่ไม่เหมาะสม การบำรุงรักษาเชิงป้องกันในระบบปรับอากาศ ซึ่งเราจะต้องดำเนินการแก้ไขหรือปรับปรุงให้อยู่ในสภาพตามเกณฑ์มาตรฐานสากล โดยมีหน่วยงานกลางที่เป็นที่ยอมรับเป็นผู้รับรองผลงาน ทั้งนี้ บริษัทฯ มุ่งมั่นในการดำเนินการควบคุมปัจจัยที่จะก่อให้เกิดปัญหา  Sick Building Syndrome (SBS) ดังกล่าว เพื่อที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้า ซี่งผลที่ได้อยู่ในระดับน่าพอใจ”   นายชาญ ศิริรัตน์ กล่าวสรุป

ปัจจุบัน พลัส พร็อพเพอร์ตี้ ได้นำมาตรการในการแก้ไขอาการ “ตึกเป็นพิษ” ไปดำเนินการในบางอาคารสำนักงานซึ่งเป็นลูกค้าของพลัสแล้ว ซึ่งคาดว่าจะสามารถระบุผลการดำเนินงานและรายงานอัตราสภาพอากาศที่ดีขึ้นในอาคารดังกล่าวได้ภายในสิ้นปี 2555 นี้