posttoday

เรียนรู้ “กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์” กระบวนการล้างใจ เพื่อสังคมแห่งความปรองดอง ผ่านหนังสั้น “ก้อนหินที่หายไป”

29 กรกฎาคม 2565

เรียนรู้ “กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์” กระบวนการล้างใจ เพื่อสังคมแห่งความปรองดอง ผ่านหนังสั้น “ก้อนหินที่หายไป” ในงานเสวนาครบรอบ 20 ปี กระบวนการ RJ

ปัญหาจำนวนนักโทษล้นเรือนจำ เป็นหนึ่งปัญหาสำคัญที่สุดของประเทศไทย ที่บั่นทอนระบบและกระบวนการยุติธรรม รวมถึงคุณภาพชีวิตการแก้ไขฟื้นฟูนักโทษ โดยวิกฤติโควิด-19 ได้จุดประกายว่า ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องหาทางออกที่ยั่งยืนของปัญหานักโทษล้นเรือนจำ และเพิ่มมาตรการทางเลือกการลงโทษ เพื่อลดปริมาณการคุมขังให้น้อยที่สุด

สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อขับเคลื่อนพันธกิจในการพิสูจน์ว่า “กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์” เป็นหนึ่งทางออกที่สำคัญและยั่งยืนของปัญหานักโทษล้นเรือนจำ และช่วยลดความแออัดในระบบศาล โดยมุ่งขยายมาตรการทางเลือกการลงโทษในกระบวนการยุติธรรมของไทย โดยเฉพาะในภาคการศึกษา รวมทั้งได้จัดทำภาพยนตร์สั้นเชิงสารคดี เรื่อง “ก้อนหินที่หายไป” เพื่อสะท้อนว่า กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์สามารถล้างความคิดเชิงแก้แค้นทดแทนให้กับผู้กระทำผิดและผู้ถูกกระทำได้

ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยในงานเสวนาวิชาการ เนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี การรับรองข้อมติสหประชาชาติ เรื่องหลักการพื้นฐานขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในเรื่องทางอาญา เมื่อเดือน กรกฎาคมที่ผ่านมาที่TIJ  ว่า “กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ เป็นองค์ประกอบสำคัญทางกฎหมาย และเป็นส่วนเสริมสำคัญที่ช่วยขยายการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้หลากหลายมากขึ้น โดยหัวใจของกระบวนการนี้ คือ การมุ่งเน้นแนวทางที่ยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง ซึ่งจะนำไปสู่สังคมที่ปรองดอง และกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือระหว่างผู้ถูกกระทำและผู้กระทำผิด เพื่อนำไปสู่การฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดขึ้น และลดอัตราการกระทำผิดซ้ำ”

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ที่ปรึกษา TIJ กล่าวว่า “หลักการของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย เนื่องจากประเทศไทยเป็นสังคมแห่งการให้อภัย ที่ให้โอกาสผู้ทำผิดได้กลับตัว อีกทั้ง ด้วยวัฒนธรรมและความเข้มแข็งของสังคมไทย ทำให้เห็นว่ากระบวนการดังกล่าวสามารถนำมาใช้ได้ในบริบทของวัฒนธรรมและสังคมไทย”

“อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทายอีกมาก ซึ่งเป็นปัญหาที่ซ่อนอยู่ในระบบการพิจารณาคดีในปัจจุบัน โดยเฉพาะปัญหานักโทษล้นเรือนจำ ด้วยเหตุนี้ ผู้กำหนดนโยบายและเจ้าหน้าที่ฝ่ายยุติธรรมทางอาญาควรที่จะต้องพิจารณาและส่งเสริมแนวคิดเกี่ยวกับการพิจารณาคดีใหม่ๆ เช่น  การใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ หรือการใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขัง”

จากรายงานสถานการณ์เรือนจำโลก ชี้ว่า ประเทศไทยมีจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำมากที่สุดในโลกในอันดับต้นๆ มีปริมาณผู้ต้องขังเกินความจุที่เรือนจำจะรองรับได้ ทำให้เกิดปัญหานักโทษล้นเรือนจำ โดยในเดือนกันยายน 2558 เรือนจำทั้งหมด 143 แห่งในประเทศไทย ซึ่งสามารถรองรับนักโทษได้ 217,000 คน แต่ในช่วงต้นปี 2563 มีจำนวนนักโทษในเรือนจำถึงกว่า 377,000 คน แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยประสบวิกฤตินักโทษล้นเรือนจำ ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19

อีวอน ดันดูแรนด์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ สาขาอาชญาวิทยาและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา มหาวิทยาลัยแห่งแฟรเซอร์แวลลีย์ ประเทศแคนาดา ย้ำว่า “เราควรสร้างวัฒนธรรมที่ส่งเสริมการใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ เพราะจะช่วยให้ระบบยุติธรรมคำนึงถึงเรื่องมนุษยชนมากขึ้น”

นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ อดีตประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระบุว่า “กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เป็นมาตรวัดที่มีประสิทธิภาพ ที่มีส่วนช่วยลดจำนวนคดีทางกฎหมาย และเป็นกลไกที่ช่วยคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง อีกทั้ง ยังเป็นเครื่องมือช่วยฟื้นฟูความเป็นอยู่ของผู้ถูกกระทำ และสร้างความมั่นใจว่าจะได้รับการชดเชยอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งนำชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยให้ผู้กระทำผิดและผู้ถูกกระทำสามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้”

นายวงศ์เทพ อรรถไกวัลวที ที่ปรึกษา TIJ และอดีตรองเลขาธิการอาเซียนด้านประชาสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน กล่าวว่า “กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เป็นกระบวนการยุติธรรมทางเลือก ซึ่งช่วยไม่ให้เกิดการกระทำผิดซ้ำ และนำไปสู่กระบวนการยุติธรรมเชิงปรองดอง สร้างความสงบสุข และความเสมอภาคให้แก่สังคม ทั้งนี้ ประเทศที่ไม่มีสังคมแห่งการให้อภัย ก็ไม่ต่างอะไรกับประเทศที่ไร้อนาคต”

งานวิจัยเรื่อง “Harmonious Justice: Thailand’s Approach” ซึ่งเป็นทำวิจัยในระหว่างปี 2563-2564 พบว่า ปัจจัยความสำเร็จอันดับหนึ่งของการนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาใช้กับผู้กระทำผิดและผู้ถูกกระทำ คือ การไม่กระทำผิดซ้ำ โดยมีสัดส่วนถึงร้อยละ 23.19

เรียนรู้ “กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์” กระบวนการล้างใจ เพื่อสังคมแห่งความปรองดอง ผ่านหนังสั้น “ก้อนหินที่หายไป”

นอกจากนี้ ภายในงานเสวนาวิชาการฯ TIJ ยังได้เปิดตัวภาพยนตร์สั้นเชิงสารคดี เรื่อง “ก้อนหินที่หายไป” กำกับโดย นายสมชัย พุทธจันทรา ซึ่งสร้างจากเรื่องจริง คดีวัยรุ่นปาหินรถตู้ ทำให้มีผู้เสียชีวิต ซึ่งวัยรุ่นผู้กระทำผิดโดนข้อหาทางอาญา แต่คดีจบลงอย่างสมบูรณ์ โดยทั้งสองฝ่าย รวมถึง ทนาย เจ้าหน้าที่ศาล ตำรวจ เจ้าหน้าที่ควบคุมความประพฤติ นักจิตวิทยา และคนในชุมชน หันหน้ามาคุยกันอย่างเปิดใจ โดยปราศจากความคิดแก้แค้นทดแทน จนนำไปสู่การรับผิด ชดเชย สำนึกผิด ขอโทษ และการให้อภัยระหว่างคู่กรณี

คดีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์สามารถทำสิ่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ให้เป็นไปได้ สามารถช่วยฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำผิดและผู้ถูกกระทำได้ และทำให้คดีอาญาบางคดีกลายเป็นเรื่องที่เข้าใจได้สำหรับทุกฝ่าย รวมถึงการลบล้างความคิดที่จะแก้แค้นคู่กรณีลงไปได้

นายสมชัย พุทธจันทรา ผู้กำกับภาพยนตร์ฯ กล่าวว่า “ทุกคนสามารถใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ได้ เพียงแค่ทุกคนต้องยกอัตตาออกจากหัวใจ ซึ่งเปรียบเสมือนก้อนหินในภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยกระบวนการดังกล่าวสามารถสร้างความพึงพอใจให้กับทั้งสองฝ่าย นำไปสู่สังคมแห่งความปรองดอง”

นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก กล่าวไว้ว่า “เด็กก็เหมือนผ้าขาวแสนบริสุทธิ์ เพียงแต่ขาดประสบการณ์ โดยเครื่องมือนี้จะช่วยส่งเสริมและเพิ่มพลังใจให้พวกเขาได้กลับมาทำสิ่งที่ดีกว่าให้กับสังคมต่อไป พวกเขาแค่ต้องการการให้อภัย”

เรียนรู้ “กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์” กระบวนการล้างใจ เพื่อสังคมแห่งความปรองดอง ผ่านหนังสั้น “ก้อนหินที่หายไป”

TIJ ยังร่วมมือกับมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย เพื่อผลักดันการใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในภาคส่วนการศึกษา และปลูกฝังความเข้าใจให้กับนักเรียนและคนรุ่นใหม่ โดยภราดาคฑาวุธ สิทธิโชคสกุล หัวหน้าสำนักฝ่ายวิชาการ มูลนิธิฯ ให้เหตุผลว่า “เราต้องการพัฒนาเด็กให้มีมโนธรรม เพื่อพัฒนาสังคมแห่งความปรองดอง ทั้งนี้ การร่วมมือกับ TIJ สอดคล้องกับนโยบายของมูลนิธิฯ ในด้านสิทธิมนุษยชน และสิทธิเยาวชน”

นอกจากนี้ TIJ ยังร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการขับเคลื่อนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยคณะฯ จะทำหน้าที่เป็นศูนย์เก็บข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ และนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาติดตามและประเมินผล เพื่อให้เกิดความแม่นยำมากขึ้น ทั้งนี้ ดร. เชิญพร เรืองสวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า “การสร้างความไว้วางใจเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาแพลตฟอร์มนวัตกรรมของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์”

ทั้งนี้ ภายในงานเสวนาวิชาการฯ ยังมีผู้เชี่ยวชาญมาให้คำแนะนำที่น่าสนใจ อาทิ การรวมกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ การลงทุนในทรัพยากรบุคคลและงานวิจัยต่างๆ และสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงาน รวมถึงการมีกระบวนการทางอาญาที่ยืดหยุ่น และความร่วมมือจากทุกฝ่าย ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญในการผลักดันให้เกิดการใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์อย่างเป็นรูปธรรม

หนังสือคู่มือเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ รวมถึงงานวิจัยต่างๆ สามารถอ่านได้ทาง www.tijthailand.org 

ภาพยนตร์สั้นเชิงสารคดี “ก้อนหินที่หายไป” สามารถรับชมได้ทางยูทูป “TIJ Just Right Channel”