posttoday

อพท. - สกสว. ปรับโฉม “คุ้งบางกะเจ้า” รับการท่องเที่ยว เสริมอัตลักษณ์ท้องถิ่นด้วยการท่องเที่ยวโดยชุมชนสู่ความยั่งยืน

09 พฤษภาคม 2565

“คุ้งบางกะเจ้า” พื้นที่สีเขียวที่ได้รับการขนานนามให้เป็นปอดของกรุงเทพมหานคร กำลังมีการศึกษาเพื่อเตรียมการประกาศให้เป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ที่สร้างประโยชน์สูงสุดให้แก่ชุมชนในพื้นที่ โดยที่ผ่านมา องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. ได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน ดำเนินการพัฒนา โดยใช้เกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทย เป็นเครื่องมือยกระดับความเป็นอยู่ของคนในชุมชน

ความโดดเด่นของคุ้งบางกะเจ้าคือเป็นพื้นที่ที่โอบล้อมด้วยแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งอยู่ในจังหวัดสมุทรปราการ และอยู่ติดกับกรุงเทพฯ พื้นที่แห่งนี้มีธรรมชาติที่สมบูรณ์ มีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ และอาหารท้องถิ่นที่เป็นผลผลิตจากพืชผักสวนครัวที่ปลูกในชุมชนเอง

                                       

นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่า โครงการพัฒนาคุ้งบางกะเจ้าสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมาตรฐานสากล มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนให้กับคุ้งบางกะเจ้า รวมทั้งช่วยคนในชุมชนเกิดความตระหนักรู้และมีส่วนร่วมในการปกป้องและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ อัตลักษณ์ของวิถีวัฒนธรรม และได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยวอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ภายใต้แนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

“ภายในปีนี้ อพท. จะประกาศให้คุ้งบางกะเจ้าเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวไทย”

ทั้งนี้ การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจะสามารถบรรลุเป้าหมายได้ด้วยการนำหลักเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (GSTC) และเกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทย (CBT Thailand) มาปรับใช้” นาวาอากาศเอก อธิคุณ กล่าว

อพท. ได้ทำงานร่วมกับชุมชนคุ้งบางกะเจ้าอย่างใกล้ชิดมาตลอด 4 ปีที่ผ่านมา เพื่อพัฒนาการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จนเกิดการรวมกลุ่มทำงานของคนในชุมชนเป็นกลไกในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวทั้งในระดับตำบลและระดับคุ้ง เกิดกิจกรรมท่องเที่ยวและเส้นทางท่องเที่ยวในชุมชน โดยในปี 2564 อพท. ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัย งบประมาณจำนวน 6 ล้านบาท จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) มาต่อยอดขยายผลและยกระดับการพัฒนา โดยมีกำหนดจะแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2565

เป้าหมายสูงสุดของโครงการฯ คือ การยกระดับชุมชนท่องเที่ยวสู่ตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพและขยายผลการพัฒนาจากการท่องเที่ยวโดยชุมชนสู่แหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมาตรฐานสากล “อพท. ตั้งใจพัฒนาคุ้งบางกะเจ้าให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืน เพื่อขึ้นสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก”

“ความร่วมมือจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายคือกุญแจนำไปสู่ความสำเร็จ ในขณะที่งบประมาณที่ได้รับสนับสนุนจาก สกสว. ก็มีความสำคัญต่อการทำงานที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาศักยภาพคุ้งบางกะเจ้าให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืน” ผู้อำนวยการ อพท. กล่าว                                                  

อพท. - สกสว. ปรับโฉม “คุ้งบางกะเจ้า” รับการท่องเที่ยว เสริมอัตลักษณ์ท้องถิ่นด้วยการท่องเที่ยวโดยชุมชนสู่ความยั่งยืน

รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า สกสว. มีการอุดหนุนงบประมาณสำหรับการวิจัย หรือกิจกรรมต่างๆ ที่สนับสนุนเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการหรือกิจกรรมที่มีเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน

คุ้งบางกะเจ้านับเป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ มากที่สุด มีพื้นที่ประมาณ 12,000 ไร่ อุดมสมบูรณ์ไปด้วยความหลากหลายทางธรรมชาติ และโดดเด่นด้วยวัฒนธรรมวิถีชีวิต

ปัจจุบัน คุ้งบางกะเจ้าเริ่มได้รับผลกระทบจากกิจกรรมการท่องเที่ยวที่มีปริมาณนักท่องเที่ยวมากเกินไป และการสูญเสียพื้นที่สีเขียวที่เกิดจากการขยายพื้นที่เมือง

อพท. ได้ร่วมมือกับมูลนิธิชัยพัฒนา และหน่วยงานพันธมิตร ดำเนินโครงการ “Our Khung Bang Kachao” โดยได้ทำงานร่วมกันเพื่อใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือช่วยแก้ปัญหา เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ชุมชน ทำให้สามารถบริหารจัดการทรัพยากรท้องถิ่นเพื่อการท่องเที่ยวได้ด้วยตัวเอง

“เราให้การสนับสนุนเงินทุนวิจัย โดยหวังว่าพื้นที่จะสามารถพัฒนามาตรฐานการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้ในระดับนานาชาติ ภายใต้การร่วมมืออย่างใกล้ชิดจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ เรายังต้องการเห็นการพัฒนาสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวที่หลากหลาย มีเอกลักษณ์เฉพาะของชุมชน ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวด้วย” รศ. ดร.ปัทมาวดี กล่าว

อพท. - สกสว. ปรับโฉม “คุ้งบางกะเจ้า” รับการท่องเที่ยว เสริมอัตลักษณ์ท้องถิ่นด้วยการท่องเที่ยวโดยชุมชนสู่ความยั่งยืน

นายสมปอง รัศมิทัต รักษาการประธานชมรมเครือข่ายส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนคุ้งบางกะเจ้า กล่าวว่า ชุมชนทั้ง 6 ตำบลในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับ อพท. ในการพัฒนาและยกระดับการจัดการภายในชุมชนเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว โดยดำเนินงานในรูปแบบการจัดตั้งชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนของแต่ละตำบล ทั้ง 6 ตำบล เช่น ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนบางกอบัว ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนบางยอ เป็นต้น และตัวแทนของทั้ง 6 ตำบลทำงานร่วมกันเป็นชมรมเครือข่ายส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนคุ้งบางกะเจ้า

โดยในปี 2564 จนปัจจุบัน ชุมชนขอขอบคุณ สกสว. ที่ได้เข้ามาสนับสนุนเงินทุนวิจัยให้กับ อพท. ได้ดำเนินการพัฒนาฝึกอบรมทักษะต่างๆ เพื่อยกระดับการบริหารจัดการการท่องเที่ยวให้กับชุมชน อาทิ การเป็นนักสื่อความหมาย การยกระดับอัตลักษณ์เมนูอาหารท้องถิ่น ศิลปะการจัดแต่งจานอาหาร และการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มภายในชุมชนของตนเอง และการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ เป็นต้น

นายสมปอง กล่าวต่อไปว่า การพัฒนาเครือข่ายที่เข้มแข็งเป็นหัวใจสำคัญที่สนับสนุนการเติบโตของการดำเนินงานการท่องเที่ยวโดยชุมชนของแต่ละชุมชน โดยคนในชุมชนจะมีรายได้และกระจายผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวอย่างเป็นธรรม

สำหรับกิจกรรมการท่องเที่ยวในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้าทั้ง 6 ตำบล ใน 6 เส้นทางท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวจะเพลิดเพลินกับกิจกรรมต่างๆ ตามอัตลักษณ์ของแต่ละชุมชน เช่น การล่องเรือเที่ยวชมชุมชน และแวะชิมอาหารท้องถิ่น หลังจากนั้นก็ไปผ่อนคลายด้วยการนวดไทยหรือสปาในชุมชน โดยแต่ละชุมชนจะส่งต่อนักท่องเที่ยวซึ่งกันและกัน ซึ่งทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวกระจายหมุนเวียนภายในเครือข่ายชุมชน

นอกจากนี้ คุ้งบางกะเจ้ายังมีศูนย์การเรียนรู้ทางการเกษตรตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่นักท่องเที่ยวสามารถได้รับประสบการณ์การทำฟาร์มสีเขียวที่ดีต่อสภาพแวดล้อมและดีต่อสุขภาพ

ทั้งนี้ เครือข่ายชุมชนได้ส่งเสริมให้มีอาหาร “จานเด่นประจำชุมชน” เป็นเมนูที่ปรุงจากวัตถุดิบที่หาได้ภายในชุมชนและพืชผักท้องถิ่นอินทรีย์ ปลอดสารปลอดภัย มานำเสนอต่อนักท่องเที่ยวให้เลือกลองลิ้มชิมรสอีกด้วย

“เราได้ทำงานร่วมกับ อพท. มาตลอด 4 ปี และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี คนในชุมชนต่างพอใจกับผลกำไรที่เกิดจากการท่องเที่ยวโดยชุมชน อพท. ทำให้ทุกคนได้เห็นว่า เราเดินมาถูกทางแล้วเพื่อมุ่งสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืน เพราะ ณ วันนี้ เราสามารถพึ่งพาตนเองได้”