posttoday

“21 ปี ป.ป.ช. สร้างสังคมยุติธรรม รวมพลังคนไทย ไม่ทนทุจริต”

18 พฤศจิกายน 2563

พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ประธานกรรมการ ป.ป.ช.) กล่าวถึงสถานการณ์การทุจริตของประเทศไทยว่า

ปัจจุบันปัญหาการทุจริตของประเทศไทยอยู่ในขั้นรุนแรง มีความซับซ้อนมากขึ้น และมีการทุจริตถึงระดับข้ามชาติ โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 มีการรับเรื่องกล่าวหาการทุจริต จำนวน 10,382 เรื่อง ปี 2563 มีจำนวน 8,691 เรื่อง ลดลงประมาณร้อยละ 16 ซึ่งแสดงถึงสถานการณ์ที่ยังไม่ดีขึ้น โดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 กำหนดให้สำนักงาน ป.ป.ช. เป็นศูนย์กลางของการตรวจรับและคัดแยกคำกล่าวหา และให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการเฉพาะเรื่องที่ร้ายแรง หรือเกี่ยวข้องกับผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ส่วนคดีที่ไม่ร้ายแรง สำนักงาน ป.ป.ช. ก็ได้ส่งให้หน่วยงานอื่นที่มีหน้าที่ตามกฎหมาย เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติและสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) เป็นต้น หรือหากเป็นเรื่องทางวินัยก็จะส่งให้ผู้บังคับบัญชา ของหน่วยงานนั้นๆ ไปดำเนินการ ทั้งนี้ มีเรื่องร้องเรียนที่สำนักงาน ป.ป.ช. รับไว้ดำเนินการเองในปี 2562 จำนวน 2,889 เรื่อง และปี 2563 จำนวน 2,553 เรื่อง ในขณะที่วงเงินงบประมาณที่มีการกล่าวหาว่าทุจริตในปี 2562 อยู่ที่ 2.36 แสนล้านบาท ส่วนในปี 2563 ลดลงเหลือประมาณ 9 หมื่นล้านบาท สำหรับในปี  2564 (ข้อมูล ณ วันที่ 4 พ.ย. 63) สำนักงาน ป.ป.ช. มีเรื่องร้องเรียนที่อยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบเบื้องต้น จำนวน  9,416 เรื่อง และไต่สวน จำนวน 3,320 เรื่อง

“21 ปี ป.ป.ช. สร้างสังคมยุติธรรม รวมพลังคนไทย ไม่ทนทุจริต”

“ในโอกาสที่ สำนักงาน ป.ป.ช. ครบรอบ 21 ปี ทิศทางการดำเนินงานของสำนักงาน ป.ป.ช. ต่อจากนี้คือ การตอบสนองความต้องการของประชาชนที่ต้องการให้การป้องกันและปราบปรามการทุจริตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว อำนวยความยุติธรรม ซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส และตรวจสอบได้ โดยสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างให้มีสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด และสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค ทำหน้าที่ตรวจสอบและไต่สวนคดีในท้องถิ่น หากเป็นคดีขนาดใหญ่ ใหญ่พิเศษ หรือต้องการผู้ที่มีความชำนาญพิเศษ สำนักงาน ป.ป.ช. ส่วนกลางจะเป็นผู้ดำเนินการ หรือส่งผู้ที่มีความชำนาญลงไปช่วยในพื้นที่”

ในส่วนของการเร่งรัดการดำเนินงานนั้น ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ. 2561 ได้กำหนดเงื่อนไขระยะเวลาในการไต่สวนของคดีที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี แต่หากมีกรณีจำเป็นสามารถขยายเวลาได้อีก 1 ปี โดยรวมแล้วไม่เกิน 3 ปี ซึ่งในปี 2564 สำนักงาน ป.ป.ช. จะเร่งรัดคดีค้างเก่าที่รับไว้ดำเนินการ ก่อน พ.ร.บ. ดังกล่าวใช้บังคับให้เสร็จสิ้น ส่วนในปี 2565 เป็นต้นไป การปฏิบัติหน้าที่ของ ป.ป.ช. จะเป็นไปตามกรอบระยะเวลาตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด

สำหรับขั้นตอนการดำเนินงานนั้น หลังจากที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดทางอาญากับเจ้าพนักงานของรัฐแล้ว จะส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาฟ้องคดีภายใน 180 วัน หากอัยการสูงสุดเห็นว่ายังมีข้อไม่สมบูรณ์พอที่จะดำเนินคดีได้ ก็จะตั้งคณะกรรมการร่วม เพื่อดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานให้สมบูรณ์และดำเนินการฟ้องคดีต่อไป โดยใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 7 เดือนครึ่ง แต่หากคณะกรรมการร่วมไม่อาจหาข้อยุติได้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะต้องดำเนินการฟ้องคดีเอง โดยใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 1 ปี ทั้งนี้ กรณีที่อัยการสูงสุดเห็นว่าพยานหลักฐานไม่สมบูรณ์ และคณะกรรมการร่วมไม่อาจหาข้อยุติเพื่อฟ้องคดีได้ และอัยการสูงสุดมีความเห็นไม่ฟ้องคดี คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ยื่นฟ้องคดีเอง จำนวน 69 เรื่อง โดยคดีถึงที่สุดแล้ว 20 คดี และศาลพิพากษาลงโทษตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูล จำนวน 11 เรื่อง และยกฟ้อง 9 เรื่อง จึงถือว่าสำนักงาน ป.ป.ช. ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการทำคดีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ได้มุ่งจะให้ผู้ถูกกล่าวหาถูกลงโทษ ถูกยึดทรัพย์เพียงอย่างเดียว แต่ความปรารถนาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. คือ การป้องปรามเพื่อให้ประชาชนได้เห็นว่า การทุจริตจะต้องได้รับโทษ ถูกยึดทรัพย์ และให้เห็นว่าการกระทำอาชญากรรมนั้น ไม่คุ้มค่ากับผลลัพธ์ที่ได้ โดยการทำงานในมิติด้านการปราบปรามการทุจริตสำนักงาน ป.ป.ช. จึงเน้นที่การป้องปราม เพื่อเป็นการสร้างวัฒนธรรมใหม่ในการต่อต้านการทุจริต

“21 ปี ป.ป.ช. สร้างสังคมยุติธรรม รวมพลังคนไทย ไม่ทนทุจริต”

ด้านการป้องกันการทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ในการทำหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา และได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (คณะกรรมการ สปท.) อีกทั้งยังได้จัดทำโครงการ STRONG จิตพอเพียงต้านทุจริต ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการส่งเสริมเครือข่ายภาคประชาชนให้เข้ามามีส่วนในการต่อต้านการทุจริต รวมถึงจัดให้มีการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) และการจัดตั้งกองทุนป้องกันและปราบปราม การทุจริตแห่งชาติ เพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และสนับสนุนภาคเอกชนในการรณรงค์ป้องกันการทุจริต เป็นต้น

ส่วนด้านการตรวจสอบทรัพย์สินนั้น กฎหมายกำหนดให้เจ้าพนักงานของรัฐจะต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยในเดือน ธ.ค. 2563 จะมีการเลือกตั้งนายก อบจ. และสมาชิกสภา อบจ. สำนักงาน ป.ป.ช. ได้เตรียมความพร้อมในการรับยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ที่จะพ้นจากตำแหน่งและเข้ารับตำแหน่งดังกล่าว จำนวนกว่า 6,000 บัญชีแล้ว นอกจากนี้ ในอนาคต เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคนจะต้องยื่นบัญชีฯ ต่อหัวหน้าหน่วยงานที่ตนสังกัด ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ร่วมกับสำนักงาน ก.พ. เพื่อวางแนวทางในการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินดังกล่าวแล้ว

“21 ปี ป.ป.ช. สร้างสังคมยุติธรรม รวมพลังคนไทย ไม่ทนทุจริต”

ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวในตอนท้ายว่า ประชาชนมีส่วนสำคัญในการแจ้งเบาะแสการทุจริตให้สำนักงาน ป.ป.ช. ทราบ โดยคนไทยทุกคนต้องไม่ทำ ไม่ทน ไม่เฉย ต่อการทุจริต โดยสำนักงาน ป.ป.ช. จะปกปิดข้อมูลของผู้แจ้งเบาะแสเป็นความลับ เพราะนอกจากจะเป็นการช่วยประเทศชาติในการขจัดการทุจริตแล้ว ในคดีร่ำรวยผิดปกติเมื่อคดีถึงที่สุดและมีการยึดทรัพย์ผู้กระทำความผิดแล้ว ผู้แจ้งเบาะแสยังจะได้รับเงินรางวัลอีกด้วย ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. ได้รณรงค์ให้ทุกภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อนให้ประเทศไทยได้คะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ซึ่งจัดทำโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (TI) ให้ได้ 50 คะแนน ในอีก 2 ปีข้างหน้าด้วย