posttoday

เตรียมดัน TWA ขึ้นแท่นแผนปฏิรูปประเทศด้านแรงงาน เน้นพัฒนาทักษะยกระดับกำลังคนให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน

25 กันยายน 2563

นายนคร ศิลปอาชา กรรมการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในฐานะประธานอนุกรรมการฯ ด้านแรงงาน เปิดเผยแนวทางการปฏิรูปประเทศด้านแรงงานหลังเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากหลายภาคส่วนต่อการเตรียมแผนการปฏิรูปฯ เป็นครั้งแรก

ซึ่งมีตัวแทนจากทั้งภาคการศึกษา แรงงาน และภาคอุตสาหกรรม อาทิสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย กรมการจัดหางาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวประเทศไทย สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หลังคณะกรรมการปฏิรูปเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนต่อแผนการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงานฯ มาแล้วก่อนหน้านี้

นายนคร กล่าวว่าการประชุมครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นการหารือแนวทางการบูรณาการขับเคลื่อน Thailand Workforce Agency (TWA) ที่จะเป็นศูนย์กลางการบริหารจัดการกำลังคนของประเทศให้ตอบโจทย์สอดรับกับทิศทางการพัฒนาประเทศ และตรงตามความต้องการกำลังคนในตลาดแรงงานให้นำไปปฏิบัติได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นการเตรียมความพร้อมดำเนินการตามแผนปฏิรูปด้านแรงงานที่กำลังจะเกิดขึ้น

โดยที่ผ่านมาไทยประสบปัญหาการผลิตกำลังคนในประเทศทั้งการพัฒนาทักษะ และการศึกษา ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการ ซึ่ง TWA จะเป็นกลไกขับเคลื่อนที่เชื่อมโยงและกระจายข้อมูลให้กับทุกหน่วยงานร่วมปฏิรูปด้านแรงงานไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งเป็นเครื่องมือช่วยให้เกิดการปฏิบัติงานด้านการฝึกอบรม ส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานทุกระดับ ขยายความช่วยเหลือผู้ที่ต้องการหางาน และสะดวกต่อนายจ้างที่ต้องการหาคนทำงาน เป็นการตอบสนองทั้ง 2 ฝ่าย และยังจะเป็นการให้ความช่วยเหลือด้านการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะและประสิทธิภาพให้กำลังคน เพื่อความก้าวหน้าในการจ้างงาน ทั้งความสามารถพื้นฐานและเฉพาะทาง ซึ่งจะเป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมด้วย 

นายนคร ยังเปิดเผยว่าการหารือมีการแสดงความเห็นที่หลากหลาย ส่วนใหญ่มองว่าการปฏิรูปประเทศด้านแรงงานจะต้องเป็นที่พึ่งพาของกำลังคนได้ หาวิธีจัดการข้อมูลด้านแรงงานที่มีอยู่จำนวนมากไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม สามารถวางแผนไปสู่อนาคตได้ เพราะวิกฤตโควิด-19 ทำให้เรียนรู้ว่าจะไม่สามารถใช้วิธีการเดิมๆ ได้อีกต่อไป แต่ต้องขับเคลื่อน หามาตรการต่างๆ มาใช้เพื่อให้เกิดการพัฒนา และอยู่รอดได้ไม่ว่าจะเกิดอีกกี่วิกฤตก็ตาม ซึ่งตลาดด้านอาหาร และบริการทางการแพทย์ เป็นจุดแข็งสำคัญที่หากสามารถดำเนินงานในเชิงรุก พัฒนากำลังคนในแรงงานให้เพียงพอกับความต้องการ แรงงานพึ่งพาตัวเอง และต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มได้ ก็จะเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้ประเทศได้

ขณะที่ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่ามีคนที่อยู่ในกลุ่มแรงงานถึง 38 ล้านคน เป็นแรงงานในระบบ 16 ล้านคน แรงงานนอกระบบ 18 ล้านคน ในจำนวนนั้นเป็นกลุ่มงานอิสระ 3 ล้านคน ลูกจ้าง 2 ล้านคน เกษตรกร 13 ล้านคน และแรงงานนอกระบบว่างงาน 3 แสนคน ทำให้เห็นภาพชัดว่าหากเกิดการปฏิรูปประเทศตามเป้าหมายของ TWA จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยนำคนกลุ่มนี้เข้าสู่แรงงานในระบบ การเสริม เพิ่มทักษะให้กับเขา จะทำให้เพิ่มโอกาสการมีงานทำได้ในอนาคตด้วย หรือแม้กระทั่งการสร้างโอกาสให้กับคนที่อยู่นอกระบบอย่างกลุ่มเกษตรกรสามารถที่จะพัฒนาตัวเอง เป็นเกษตรแนวใหม่ สามารถเพิ่มมูลค่าให้ผลิตผลทางการเกษตรของตัวเองได้ และภาคเอกชนจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาคนให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้ ยิ่งถ้าหากใช้กรอบคุณวุฒิวิชาชีพในการนำทาง ก็จะช่วยให้เกิดการพัฒนาแรงงานใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นได้ โดยแต่ละหน่วยงานต้องสามารถเชื่อมโยง และกระจายข้อมูล เพื่อให้เกิดการวิเคราะห์และหามาตรการช่วยเหลือได้อย่างเป็นรูปธรรม

เตรียมดัน TWA ขึ้นแท่นแผนปฏิรูปประเทศด้านแรงงาน เน้นพัฒนาทักษะยกระดับกำลังคนให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน

เตรียมดัน TWA ขึ้นแท่นแผนปฏิรูปประเทศด้านแรงงาน เน้นพัฒนาทักษะยกระดับกำลังคนให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน

เตรียมดัน TWA ขึ้นแท่นแผนปฏิรูปประเทศด้านแรงงาน เน้นพัฒนาทักษะยกระดับกำลังคนให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน