posttoday

‘Independent Artist Management’ จับมือ ‘Universal Music Group (Thailand)’ รุกหนัก! สร้าง T-POP ลุยตลาดเอเชียด้วยพลัง Thailand Soft Power

07 สิงหาคม 2563

นาย พอล สิริสันต์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูนิเวอร์ซัล มิวสิค กรุ๊ป (ประเทศไทย) หรือ “UMG” ค่ายเพลงสากลที่ใหญ่ที่สุด เจ้าของศิลปินระดับโลกอย่าง เทย์เลอร์ สวิฟต์, จัสติน บีเบอร์, เลดี้ กาก้า, เดรก, มารูนไฟว์ ฯลฯ

“เปิดเผยว่า รายได้ของอุตสาหกรรมเพลงในประเทศไทยมีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา รายได้จากอุตสาหกรรมเพลงในไทยโตขึ้นถึง 17% แม้ภาวะเศรษฐกิจจะอยู่ในช่วงขาลงจากผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ปัจจุบันประเทศไทย ถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้นในการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล หากมองจากตลาดที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของธุรกิจสตรีมมิ่งในไทย คิดเป็นจำนวนผู้บริโภคประมาณ 15 ล้านคน ซึ่งพบว่ามีเพียง 5% เท่านั้นที่ใช้บริการของสตรีมมิ่ง ดังนั้นอนาคตของธุรกิจนี้ในประเทศไทยยังมีโอกาสอีกมหาศาล ซึ่งถือเป็นโอกาสของยูนิเวอร์ซัล มิวสิค กรุ๊ป ในประเทศไทย ที่จะเพิ่มส่วนแบ่งตลาดในธุรกิจนี้ สร้างรายได้ และขยายฐานกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ เพิ่มขึ้น

ยูนิเวอร์ซัล มิวสิค เป็นผู้นำตลาดสตรีมมิ่งในประเทศไทย ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาด (Market Share) ถึง45% ของตลาดเพลงสากลทั้งหมด โดยในปี 2561 ยูนิเวอร์ซัล มิวสิค ประเทศไทย มีรายได้จากการสตรีมมิ่ง และ Subscription สูงถึง 70% ของรายได้ทั้งหมด ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการสร้างรายได้ของบริษัทไปอย่างสิ้นเชิง

สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือเป็นภูมิภาคที่อุตสาหกรรมดนตรีมีโอกาสการเติบโตสูง โดยยูนิเวอร์ซัล มิวสิค กรุ๊ป โฟกัสในการสร้างศิลปินไทยคลื่นลูกใหม่เพื่อก้าวสู่ระดับโลก โดยร่วมกับพันธมิตรหลักที่หลากหลายในภูมิภาคนี้เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว จึงเป็นที่มาของความร่วมมือกับ iAM (Independent Artist Management) ที่ต่างมีวิสัยทัศน์แบบเดียวกัน คือ ยกระดับศิลปินเพลงป๊อปของไทยก้าวสู่เวทีในระดับสากล

‘Independent Artist Management’ จับมือ ‘Universal Music Group (Thailand)’ รุกหนัก! สร้าง T-POP ลุยตลาดเอเชียด้วยพลัง Thailand Soft Power

นาย ณัฐพล บวรวัฒนะ” กรรมการบริหารฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท อินดิเพนเด้นท์ อาร์ทิสท์ เมเนจเม้นท์ จำกัด หรือ “iAM” ค่ายเพลงเจ้าของกลุ่มศิลปินที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ นั่นคือ BNK48 ซึ่งมีเมมเบอร์มากกว่า 78 คนในปัจจุบัน กล่าวว่า ในส่วนของ BNK48 นั้น ถือเป็นไอดอลเกิร์ลกรุ๊ป ที่ประสบความสำเร็จที่สุดในประเทศไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดย UMG และ iAM ได้ทำการคัดเลือกสมาชิก 6 คน จากกลุ่ม BNK48 นี้ ซึ่งได้ผ่านการออดิชั่นอย่างเข้มข้นเมื่อปลายปี 2562 ที่ผ่านมา และสมาชิกทั้ง 6 คนนี้ ได้ทำการฝึกซ้อมอย่างหนักมาตลอดเกือบ 1 ปี เพื่อเป็นตัวแทนของคนไทยรุ่นใหม่ เพื่อพุ่งชนเป้าหมายการสร้างตลาด T-POP ให้เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรม

โดยปัจจุบัน ธุรกิจดนตรีในประเทศไทย ถือว่ามีความสนใจในการสร้าง T-POP เป็นอย่างมาก เนื่องจากการเล็งเห็นโอกาสและช่องทางในการขยายฐานผู้ฟังและผู้ชมไปสู่ต่างประเทศได้ง่ายดายกว่าในสมัยก่อน ด้วยเทคโนโลยีของอินเทอร์เน็ตที่รวดเร็วขึ้น และที่สำคัญคือ เครื่องมือหลักที่เป็นตัวขับเคลื่อนคอนเทนต์ไปสู่มือผู้บริโภคอย่างไร้พรมแดน นั่นก็คือ “มิวสิคและวิดีโอสตรีมมิ่งแพลตฟอร์ม” ที่มีให้เลือกอย่างหลากหลายไม่ว่าจะเป็น Spotify, Apple Music, JOOX, QQ, KKBOK, TikTok, Netflix, WeTV, V Live หรือแม้กระทั่ง YouTube เป็นต้น ซึ่งตัวเลขการเจริญเติบโตของผู้ใช้งานสตรีมมิ่งแพลตฟอร์มทั้งหมดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คิดเป็น 24% ต่อปี และในไทยคือ 20% ต่อปี

‘Independent Artist Management’ จับมือ ‘Universal Music Group (Thailand)’ รุกหนัก! สร้าง T-POP ลุยตลาดเอเชียด้วยพลัง Thailand Soft Power

กลยุทธ์ต่อจากนี้ คือ การเดินหน้าเข้าถึงกลุ่มลูกค้าในหลากหลายช่องทาง (Multi Channel Approach) ด้วยหลักการ ‘Soft Power’ นั่นคือ วิธีการอย่างหนึ่งที่สามารถดึงดูดและสร้างการมีส่วนร่วมจากผู้ชม/ผู้ฟังได้มากกว่าการบังคับ* ซึ่งครอบคลุมทั้งการขายสินค้า (Merchandise) ของศิลปิน, การถ่ายทอดสดผ่านออนไลน์ (Live) การไลฟ์สตรีม (live streams) และที่กำลังจะเกิดขึ้น คือ การเปิดตัวสารคดีของโปรเจกต์ LYRA ภายใต้ชื่อ “LYRALITY SHOW” ที่บันทึกเรื่องราว การฝึกซ้อมและการใช้ชีวิตร่วมกันหลายเดือนของสมาชิกทั้ง 6 คน ก่อนปล่อยเพลงซิงเกิ้ลแรก ในต้นเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ โดยบริษัทได้ร่วมกับ AIS เปิดให้รับชม Episode 1 และ 2 เป็นครั้งแรกในวันศุกร์ที่ 7 สิงหาคมนี้ เวลา 20.00 น. ทาง AIS PLAY รับชมได้ฟรีทุกเครือข่าย หลายช่องทาง ทั้งเว็บไซต์ aisplay.ais.co.th, Application บนมือถือ, กล่อง AIS PLAYBOX, Apple TV และช่องทางใหม่ล่าสุด Samsung Smart TV โดยเรียลลิตี้โชว์ดังกล่าว ถือเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ ในการเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายมากขึ้น

“แรกเริ่มนั้นโปรเจกต์ LYRA จะต้องไปฝึกกันที่ L.A. สหรัฐอเมริกา ความท้าทายก็เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ต้องปรับแผนมาจัดการฝึกซ้อมและทำเพลงร่วมกับทีมงานที่ L.A. ผ่านทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์มาตั้งแต่ต้นปี 2563 ก่อนที่จะปรับแผนให้สมาชิกทั้งหมดมาใช้ชีวิตอยู่ในบ้านเดียวกัน เพื่อฝึกฝนกับโค้ชจากแขนงต่างๆ จนนำมาสู่คอนเทนต์เรียลลิตี้โชว์ ซึ่งเรามีความเชื่อว่า วิธีนี้จะเป็นการถ่ายทอดกระบวนการ การสร้างกลุ่ม T-POP ที่เกิดจากการค้นหาเอกลักษณ์ความเป็นตนเองของสมาชิกแต่ละคนออกมาให้ชัดเจนที่สุด ซึ่งเราหวังว่า สิ่งนี้จะช่วยสร้างฐานแฟนคลับที่แข็งแรง และขยายผู้บริโภคของเราให้กว้างขึ้น” นายพอล กล่าวทิ้งท้าย