นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งของประเทศไทยในช่วงต้นปีที่ผ่านมา นับว่าเป็นปัญหาใหญ่และส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง รัฐบาลได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการบริหารจัดการน้ำของประเทศ ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตรให้แก่ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ แม้ว่าขณะนี้ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนแล้วก็ตาม รัฐบาลก็ยังต้องคิดค้นเพื่อหาวิธีกักเก็บน้ำฝนให้ได้มากที่สุด เพื่อรองรับกับฤดูแล้งหน้าที่จะมาเยือนในปีต่อไป ดังนั้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้รับมอบหมายร่วมกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการ ขับเคลื่อนภารกิจด้านการเติมน้ำใต้ดิน โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำรูปแบบและวิธีการเติมน้ำใต้ดินที่ถูกต้องตามหลักวิชาการไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้ หลักการเติมน้ำใต้ดิน เป็นการนำน้ำที่เหลือใช้ในช่วงน้ำท่วมหลากหรือจากน้ำฝนที่ตกลงมาเติมลงสู่ชั้นน้ำบาดาลด้วยวิธีการที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และนำกลับมาใช้ใหม่ในช่วงเวลาที่ต้องการ เป็นการช่วยธรรมชาติฟื้นฟูชั้นน้ำบาดาล แก้ไขปัญหาการลดระดับลงของชั้นน้ำบาดาลให้กลับคืนสู่สภาพเดิม ช่วยระบายน้ำและลดภาวะน้ำท่วมขัง ที่สำคัญพื้นที่ที่มีชั้นใต้ดินที่เหมาะสมจะเพิ่มความคุ้มค่าและประหยัดงบประมาณ สำหรับแผนงานโครงการเติมน้ำใต้ดินในปีงบประมาณ 2563 ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล อยู่ระหว่างดำเนินการมีจำนวนทั้งสิ้น 530 แห่ง ขณะนี้ดำเนินการเสร็จแล้ว จำนวน 300 แห่ง และคาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในเดือนสิงหาคม 2563 นี้
พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เนื่องจากพื้นที่ทุ่งบางระกำ เป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขังเป็นประจำทุกปี รัฐบาลจึงได้มอบหมายให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดทำโครงการเติมน้ำใต้ดิน ซึ่งการเติมน้ำใต้ดินสามารถทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับลักษณะพื้นที่ที่จะทำการเติมน้ำ ดังนั้น จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานท้องถิ่น และผู้ที่เกี่ยวข้อง ช่วยกันดูแลและกำชับควบคุมการเติมน้ำใต้ดินให้ทำอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ และจะต้องทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด