posttoday

ปฏิรูปการศึกษาไทย เพิ่มโอกาสสร้างรายได้ให้หลุดพ้นจากความยากจน

17 กรกฎาคม 2563

การปฏิรูประบบการศึกษาถือเป็นกุญแจสำคัญของรัฐบาลในการผลักดันประเทศไทยให้หลุดออกจากการติดกับดักของ การมีรายได้ในระดับชนชั้นกลางและบรรลุเป้าหมายในการไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 อย่างเต็มตัว นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ จึงเป็นผู้รับบทบาทสำคัญในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาในระหว่างการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงศึกษาธิการมาตลอด 1 ปีที่ผ่านมา โดยได้ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวอย่างเจาะลึกถึงปัญหา 4 ข้อที่เป็นอุปสรรคของการศึกษาไทย

มุ่งแก้ไขความเหลื่อมล้ำ ย้ำสร้างฐานการศึกษาให้ดีเลิศ

“ความไม่เท่าเทียมกันในระบบการศึกษาไทยคือปัญหาหลักที่จะพัฒนาระบบ โรงเรียนในถิ่นทุรกันดารต่างต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการขาดแคลนทุนทรัพย์ ทรัพยากร หรือครูที่มีคุณภาพเปี่ยมประสบการณ์ และเทคโนโลยีทางการศึกษาที่ทันสมัย”  

ปฏิรูปการศึกษาไทย เพิ่มโอกาสสร้างรายได้ให้หลุดพ้นจากความยากจน

จากสถิติพบว่า โรงเรียนในเขตกรุงเทพมหานครหรือพื้นที่เขตเมืองมีคะแนนในการสอบ O-Net มากกว่าพื้นที่ในเขต ห่างไกลทั่วประเทศ โดยการสอบ O-Net เป็นการสอบคัดเลือกนักเรียนประจำปี ซึ่งจัดโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ เป็นองค์การมหาชนในการจัดสอบให้กับนักเรียนในระดับชั้น ป.6 ม.3 และ ม.6 ในประเทศไทย

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจึงเล็งเห็นว่าการเข้าถึงทรัพยากรทางการศึกษาเป็นสาเหตุหลักที่ส่งผลให้นักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กในชนบทไม่สามารถทำคะแนนได้ดี เท่ากับโรงเรียนในเขตเมือง บางโรงเรียนในชนบทมีครูเพียง 1 คนในการสอนทุกวิชาและดูแลนักเรียนทุกระดับชั้นในโรงเรียน ซึ่งมีความแตกต่างทั้งด้านวัยวุฒิและคุณวุฒิ  

“โรงเรียนกว่า 20,000 แห่งในประเทศไทยมีนักเรียนเพียง 20 คนในหนึ่งระดับชั้น หากเรายังคงมีครูและทรัพยากรอื่นๆที่ไม่เพียงพอกับปริมาณนักเรียน การให้การศึกษาอย่างมีคุณภาพจะไม่มีทางเกิดขึ้น ดังนั้นหนึ่งในทางออกก็คือการรวมโรงเรียนเหล่านี้ไว้ด้วยกัน เพื่อรวบรวมทรัพยากรบุคคลและอุปกรณ์การศึกษาไว้เป็นแหล่งเดียวกัน หากในกรณีที่มีข้อจำกัดด้านภูมิประเทศหรือโรงเรียนบางแห่งมีบทบาทสำคัญในท้องถิ่น รัฐบาลจะมีการอัดฉีดงบประมาณในการช่วยเหลือตามศักยภาพของโรงเรียนนั้นๆ เช่นการมอบห้องทดลองให้กับโรงเรียนที่โดดเด่นด้านวิทยาศาสตร์ มอบเครื่องดนตรีให้กับโรงเรียนที่โดดเด่นในเรื่องของดนตรี หรือมอบอุปกรณ์กีฬาให้กับโรงเรียนที่โดดเด่นในด้านการกีฬา”  

ครูต้องไม่ใช่แค่ดี แต่ต้อง “ดีเยี่ยม”

“ครูกว่า 400,000 คนทั่วประเทศต้องการการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงในระบบการทำงาน ที่ผ่านมาครูต่างต้องรับผิดชอบกับกิจกรรมอื่นๆ ในโรงเรียน เช่นงานธุรการ การเข้ารับการประเมินประสิทธิภาพและมาตรฐานการสอน การแข่งขันที่ไม่จำเป็น รวมไปถึงการเข้าอบรมมากกว่าการช่วยเหลือนักเรียนด้านการเรียนโดยตรง”     

ปฏิรูปการศึกษาไทย เพิ่มโอกาสสร้างรายได้ให้หลุดพ้นจากความยากจน

“กระทรวงฯโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ดำเนินการปรับลดภาระงาน รวมไปถึงผ่อนปรนระเบียบการต่างๆ ที่ซ้ำซ้อน ช่วยเข้าแก้ไขปัญหาหนี้สินเพื่อลดความกังวล ให้ครูสามารถมุ่งมั่นกับการสอนได้อย่างเต็มที่ ที่สำคัญครูต้องการการพัฒนาในด้านอาชีพในองค์รวม เพราะการมีครูที่เก่ง เราก็จะมีนักเรียนที่เก่งตามไปด้วย การจัดตั้งศูนย์ Human Capital Excellence Center หรือ HCEC กว่า 185 แห่งทั่วประเทศจึงเป็นหนึ่งในทางเลือกในการจัดอบรมพัฒนาครูและให้ความรู้ที่กำลังเป็นที่ต้องการในปัจจุบัน”

พลิกโฉมอาชีวศึกษา มุ่งหน้าเข้าสู่ S-curve

“การปรับมุมมองของนักเรียน ผู้ปกครอง และสังคม ที่มีต่อการศึกษาในภาคอาชีวศึกษาเป็นเรื่องที่เราไม่อาจมองข้าม กระทรวงศึกษาฯ ได้วางแผนในการปรับปรุงการเรียนการสอนเพื่อตอบรับกับตลาดแรงงาน และยกระดับคุณภาพของนักเรียนที่จบการศึกษาด้านอาชีวะ สร้างแรงกระตุ้นให้รับการอบรมด้านอาชีพที่ตรงสาย เพื่อตอบรับการลงทุนจากต่างชาติ สร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพของแรงงาน และเพื่อให้มั่นใจว่านักเรียนอาชีวะจะจบมาพร้อมกับมีงานรองรับ”  

ปฏิรูปการศึกษาไทย เพิ่มโอกาสสร้างรายได้ให้หลุดพ้นจากความยากจน

การก้าวสู่ยุคอุตสาหกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ได้สร้างโอกาสในการจ้างงานด้านใหม่ๆ มากขึ้น โดยสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษาได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาฯ ในการจัดการวิชาที่เปิดสอนให้สอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรม S-Curve และเทคโนโลยีระดับสูง เช่น ยานยนต์หรือหุ่นยนต์ ที่สร้างรายได้สูง   

โดยสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษาจะมีการจัดตั้งศูนย์ HCEC เพื่อให้นักเรียนได้เข้ารับการฝึกอบรมที่ทัดเทียมกับมาตรฐานโลกในสายงานต่างๆ โดยเป็นการร่วมมือกันกับองค์กรระดับโลกที่มีชื่อเสียงต่างๆ มากมาย เพื่อสร้างการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศที่แท้จริง

กระตุ้นการใช้ภาษาต่างประเทศ อัปเกรดนักเรียนให้เท่าเทียม

“สภาฯ ได้อนุมัติงบประมาณในการจ้างครูเจ้าของภาษามาสอนภาษาอังกฤษกว่า 10,000 คน และสอนภาษาจีนอีก 10,000 คนให้มาสอนในโรงเรียนไทยเป็นระยะเวลา 3 ปี แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด จึงทำให้การจัดจ้างต้องชะลอลงชั่วคราว”

ปฏิรูปการศึกษาไทย เพิ่มโอกาสสร้างรายได้ให้หลุดพ้นจากความยากจน

ในภาคการศึกษาหน้า กระทรวงศึกษาธิการได้เตรียมพร้อมในการเปิดตัวโปรแกรมการเรียนการสอนในรูปแบบสองภาษา ณ โรงเรียนกว่า 2,000 แห่งทั่วประเทศ โดยจะเริ่มจากโรงเรียนในระดับอำเภอ ซึ่งประสบการณ์จากการเรียนการสอนทางไกลในช่วงโควิดที่ผ่านมา ถือเป็นโอกาสหนึ่งที่ทำให้บุคลากรทางด้านการศึกษาและนักเรียนทั่วประเทศได้ปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีแล้วระดับหนึ่ง ซึ่งท้ายสุดแล้วจะนำพาการศึกษาไทยไม่ว่าจะในระดับใดเข้าสู่การผสมผสานการเรียนการสอนแบบเก่าเข้ากับเทคโนโลยีใหม่ๆ และจะทำให้เราก้าวข้ามความเหลื่อมล้ำได้ในที่สุด