posttoday

“ไดกิ้น” ผนึกพันธมิตรร่วมสร้างห้องความดันลบสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 มอบให้ “สถาบันบำราศนราดูร” เพิ่มความปลอดภัยแก่บุคลากรทางการแพทย์

02 มิถุนายน 2563

พันธมิตร 4 บริษัท พีเซค-ผาตูบ-ไดกิ้น-น่ำเชียงหลี และสมาคมวิศวกรรมปรับอากาศแห่งประเทศไทย รวมพลังจิตอาสาสร้างห้องผู้ป่วยรวม ระบบปรับอากาศความดันลบ ขนาด 4 เตียง ให้ “สถาบันบำราศนราดูร” รองรับผู้ป่วยไวรัสโควิด-19 และโรคติดต่อทางเดินหายใจ ลดความเสี่ยงผู้ป่วยรายอื่น พร้อมเพิ่มความปลอดภัยแก่บุคลากรทางการแพทย์ ดูแลผู้ป่วยไวรัสโควิด-19

ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 “ห้องความดันลบ” (Negative Pressure Room) ที่ใช้สำหรับแยกผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จากผู้ป่วยรายอื่นๆ ในโรงพยาบาล เป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงอย่างมาก เพราะช่วยลดความเสี่ยงให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ป่วยอื่นๆ จากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19

นำมาสู่ความร่วมมือครั้งสำคัญของ 4 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท พีเซค จำกัด บริษัท ผาตูบ จำกัด บริษัท สยามไดกิ้นเซลส์ จำกัด และ หจก.น่ำเชียงหลี โดยมีสมาคมวิศวกรรมปรับอากาศแห่งประเทศไทย เป็นผู้ให้คำปรึกษาและทำหน้าที่ประสานกับกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันสร้างห้องผู้ป่วยรวม ระบบปรับอากาศความดันลบ (Negative Pressure Cohort Ward) ขนาด 4 เตียง สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และโรคติดต่อทางเดินหายใจ ซึ่งล่าสุดได้มีการส่งมอบให้แก่ “สถาบันบำราศนราดูร” เป็นที่เรียบร้อย

สำหรับห้องความดันลบ เป็นห้องที่มีความดันอากาศภายในห้องต่ำกว่าภายนอก ดังนั้น เมื่อมีการเปิด-ปิดประตูห้อง อากาศภายในห้องผู้ป่วยซึ่งถูกทำให้มีความดันต่ำกว่า ก็จะไม่ไหลออกจากห้อง ซึ่งจะช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคในห้องไปสู่บริเวณอื่นๆ ในสถานพยาบาล ซึ่งใช้กับโรคที่ติดต่อทางอากาศอย่างเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่จะมีโอกาสติดผู้ป่วยคนอื่นๆ และบุคลากรของโรงพยาบาลได้ง่าย หากไม่มีการแยกห้องที่ถูกต้อง

นายปานชัย ศิริวิมลมาส กรรมการผู้จัดการ บริษัท พีเซค จำกัด เปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นของความร่วมมือดังกล่าว เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงไวรัสโควิด-19 เริ่มระบาด ขณะนั้นตนได้ประสานไปที่สมาคมวิศวกรรมปรับอากาศแห่งประเทศไทย เพื่อต้องการเข้าไปช่วยเหลือในด้านต่างๆ ก่อนจะสรุปลงตัวที่การสร้างห้องความดันลบ เพื่อมอบให้แก่สถาบันบำราศนราดูร ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการดูแลผู้ป่วยไวรัสโควิด-19 เพื่อต้องการสร้างเป็น Prototype หรือต้นแบบ เป็นประโยชน์แก่สถานพยาบาลอื่นๆ และสังคมในอนาคต

นายปานชัย กล่าวว่า สำหรับรูปแบบการสร้างห้องความดันลบในครั้งนี้ เลือกใช้ห้องสำเร็จรูปที่เป็นตู้คอนเทนเนอร์ โดยทำการออกแบบ ประกอบ และทดลองระบบจากภายนอก ก่อนจะนำมาติดตั้งที่สถาบันบำราศนราดูร ซึ่งได้รับการบริจาคตู้คอนเทนเนอร์จาก บริษัท ผาตูบ จำกัด เป็นผู้ติดตั้งห้องและปรับปรุงห้องแบบโมดูล่า และ หจก.น่ำเชียงหลี โรงงานประกอบหลังคารถยนต์ ที่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ในโรงงานสำหรับประกอบและจัดทำอุปกรณ์ ประตู และซีลกันการรั่วของอากาศ และทดสอบระบบต่างๆ โดยระบบที่สำคัญมากคือ ระบบปรับอากาศ เนื่องจากการทำห้องความดันลบจำเป็นต้องใช้เครื่องปรับอากาศที่เป็น Outside Air Unit (OAU) จึงได้ติดต่อไปยัง บริษัท สยามไดกิ้นเซลส์ จำกัด ซึ่งได้รับการตอบรับในทันที

“ผมติดต่อไปที่ ผอ.สถาบันบำราศนราดูร และได้เข้าไปดูสถานที่ที่สถาบันฯ ตอนนั้นเป็นต้นเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นช่วงพีคของไวรัสโควิด-19 ผมเห็นหมอ พยาบาล ที่ต้องรับมือกับไวรัสโควิด-19 และผู้ป่วยอื่นๆ ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ ก็เกิดแรงบันดาลใจว่า ต้องสร้างห้องความดันลบ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้พวกเขา” นายปานชัย กล่าว

นายปานชัย กล่าวว่า หลังจากนี้ ยินดีที่จะเผยแพร่โนฮาว รวมถึงการออกแบบต่างๆ ในการสร้างห้องความดันลบในครั้งนี้ให้กับหน่วยงาน หรือองค์กรอื่นๆ ที่สนใจ เพื่อนำไปสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมต่อไป

มร.อาคิฮิสะ โยโคยามา ผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามไดกิ้นเซลส์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างห้องความดันลบ เพื่อดูแลผู้ป่วยไวรัสโควิด-19 โดยมอบเครื่องปรับอากาศไดกิ้น พร้อมติดตั้งระบบปรับอากาศความดันลบ สำหรับห้องผู้ป่วยรวมที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และโรคติดต่อทางเดินหายใจ ซึ่งบริษัทฯ จะนำโนฮาวและสิ่งที่ได้รับจากความร่วมมือครั้งนี้ไปปรับปรุงให้เกิดประโยชน์เพื่อช่วยเหลือส่วนอื่นๆ ในสังคมต่อไป

“ประเทศไทยมีระบบสาธารณสุขที่ดีเยี่ยม ทุกวันนี้คนติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ลดลงอย่างชัดเจน มาจากความทุ่มเทของทุกคน ต้องขอขอบคุณทางสถาบันฯ ที่ดูแลผู้ป่วยไวรัสโควิด-19 อย่างดี ตามเป้าหมายที่ได้วางไว้” มร.โยโคยามา กล่าว

นพ.อภิชาต วชิรพันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันบำราศนราดูร กล่าวว่า ปัจจุบัน ในพื้นที่กรุงเทพฯ เฉพาะโรงพยาบาลในเครือข่าย มีห้องความดันลบอย่างน้อย 70 ห้อง ในส่วนของสถาบันฯ มี 15 ห้อง ซึ่งการมีห้องความดันลบในโรงพยาบาลจะช่วยให้แพทย์และพยาบาลที่ทำการรักษาและดูแลผู้ป่วยในห้องนี้มีความปลอดภัยสูงขึ้น

“วันนี้ ประเทศไทยมีกำลังในการต่อสู้ไวรัสโควิด-19 อย่างมาก ซึ่งเกิดจากความร่วมแรงร่วมใจกันของทุกฝ่าย ทางสถาบันฯ เริ่มเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับโรคติดเชื้อตัวนี้ตั้งแต่ปลายธันวาคมปีที่แล้ว ซึ่งเริ่มมีกลุ่มโรคปอดอักเสบเกิดขึ้น พอในเดือนมกราคม ได้เตรียมพร้อมทั้งคน อุปกรณ์ และปรับทัศนคติบุคลากรของเรา ให้พร้อมรับมือกับโรคติดเชื้อใหม่ตัวนี้ ซึ่งวันนี้เรียกว่า สถาบันฯ สามารถรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ดีมาก ถึงวันนี้ยังไม่มีบุคลากรของสถาบันฯ ติดเชื้อแม้แต่คนเดียว ขณะที่ผู้ป่วยโดยรวมของประเทศก็ลดลงต่อเนื่อง” นพ.อภิชาต กล่าว

ความร่วมมือของทั้ง 4 พันธมิตร และสมาคมวิศวกรรมปรับอากาศแห่งประเทศไทย ไม่เพียงสะท้อนถึงความร่วมมือของภาคเอกชน ในการสร้างห้องระบบปรับอากาศความดันลบ (Negative Pressure Cohort Ward) สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และโรคติดต่อทางเดินหายใจเท่านั้น โครงการนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึง “พลังของทุกภาคส่วน” ที่ผนึกกำลังในการต่อสู้กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พร้อมส่งต่อความห่วงใยไปยังกลุ่มอื่นๆ ในสังคม ขณะเดียวกัน ยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับกลุ่มจิตอาสาอื่นๆ ร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือให้คนไทยผ่านพ้นวิกฤตไวรัสโควิด-19 ไปด้วยกัน