posttoday

กรมปศุสัตว์ ร่วมกับสมาคมกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทย นำเข้า “วัคซีน AHS” สกัดการแพร่ระบาด “กาฬโรคแอฟริกาในม้า”

22 เมษายน 2563

กรมปศุสัตว์ ร่วมกับสมาคมกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทย นำเข้าวัคซีนป้องกันและสกัดการแพร่ระบาดของ “กาฬโรคแอฟริกาในม้า” (AHS) คุมเข้มมาตรการ “ล็อกดาวน์” กักกัน ห้ามเคลื่อนย้ายม้า พร้อมเพิ่มระบบป้องกันแมลงดูดเลือดที่เป็นพาหะนำโรค

จากสถานการณ์แพร่ระบาดของ “กาฬโรคแอฟริกาในม้า” หรือ African Horse Sickness (AHS) ซึ่งทำให้เกิดการล้มตายของม้าอย่างเฉียบพลันเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา โดยมีแมลงดูดเลือดอย่าง ยุง ริ้น เหลือบ เป็นพาหะ พื้นที่แพร่ระบาดในแถบจังหวัดนครราชสีมา และเริ่มกระจายไปสู่พื้นที่อื่นๆ  

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ตั้งแต่เกิดการล้มตายของม้าอย่างเฉียบพลันในแถบจังหวัดนครราชสีมา กรมปศุสัตว์ได้ส่งชุดปฏิบัติการสอบสวนและควบคุมโรคลงพื้นที่อย่างเร่งด่วน ซึ่งผลตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันว่าเป็น “กาฬโรคแอฟริกาในม้า” หรือ African Horse Sickness (AHS) โรคอุบัติใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย และพบได้ในทวีปแอฟริกาเท่านั้น

จากการสันนิษฐานคาดว่า มีการแพร่ระบาดมาจากสัตว์ที่นำเข้ามาจากประเทศแอฟริกา ซึ่งได้กำหนดมาตรการการนำเข้าและการเคลื่อนย้ายให้เป็นไปตามมาตรฐานการป้องกันและควบคุมโรคระบาดสัตว์ โดยดำเนินการอย่างมีขั้นตอน จึงต้องขอความร่วมมือจากเจ้าของม้าอย่างเร่งด่วนให้ช่วยติดตั้งมุ้งป้องกันแมลงดูดเลือด เพื่อลดการแพร่ระบาดโรคดังกล่าวสู่ม้าทั่วไปในพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อลดการตายของม้าให้น้อยที่สุดในขณะนี้

กรมปศุสัตว์ ร่วมกับสมาคมกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทย นำเข้า “วัคซีน AHS” สกัดการแพร่ระบาด “กาฬโรคแอฟริกาในม้า”

ที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์สั่งการให้เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ลงพื้นที่ชี้แจงให้ความรู้ สร้างความเข้าใจแก่เจ้าของฟาร์มเลี้ยงม้าและคนเลี้ยงม้าอย่างต่อเนื่อง พร้อมออกมาตรการต่างๆ เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโรค โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

สัตว์ที่นำเข้ามาจากทวีปแอฟริกา ต้นตอของโรคระบาด

1. กักกันพื้นที่ งดการเคลื่อนย้ายออกนอกพื้นที่โดยเด็ดขาด

2. ป้องกันแมลงดูดเลือด โดยการติดตั้งมุ้งและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์แมลงดูดเลือดในพื้นที่

3. กรณีไม่มีงบประมาณในการสร้างมุ้ง กรุณาติดต่อสมาคมกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทย ขอรับความช่วยเหลือ เพื่อให้ลดการระบาดของโรคให้ได้มากที่สุด

ม้าทั่วไปในประเทศ

1. กักกันพื้นที่ งดการเคลื่อนย้ายม้าออกนอกพื้นที่โดยเด็ดขาด

2. ป้องกันแมลงดูดเลือด โดยการติดตั้งมุ้งและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์แมลงดูดเลือดในพื้นที่

3. วัคซีน (Vaccine) กรมปศุสัตว์จะเป็นผู้ดูแล รับผิดชอบ และดำเนินการแต่เพียงผู้เดียว

ล่าสุดกรมปศุสัตว์ได้นำเข้าวัคซีนในการป้องกัน “กาฬโรคแอฟริกาในม้า” (AHS) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดย Maxwin เป็นผู้บริจาควัคซีนชนิดรวม 1 3 4 จำนวน 4,000 โดส

หลักเกณฑ์การฉีดวัคซีน มีขั้นตอน ดังนี้

1. ตรวจเลือดม้า และป้องกันแมลงดูดเลือดโดยอยู่ในมุ้ง

2. ติดไมโครชิพประจำตัวม้า

3. จัดทำ ID หรือ Passport เพื่อเก็บข้อมูล

4. ฉีดวัคซีนฟรี พร้อมกักกันพื้นที่ให้อยู่ในคอกเท่านั้น เป็นเวลา 28 วัน

5. ตรวจเลือดอีกครั้ง เพื่อติดตามผล

ประเภทวัคซีน AHS มีทั้งหมด 9 ชนิด (Zero Type) ซึ่งโรคที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นชนิดที่ 1

1. วัคซีนรวม 1 3 4 จำนวน 4,000 โดส เป็นการสั่งเข้ามาใช้ในกรณีฉุกเฉิน จะฉีดให้กับม้าที่มีผลเลือดเป็นลบ คือยังไม่เป็นโรค เฉพาะในพื้นที่เสี่ยง ระยะทางจากจุดเกิดเหตุ 50 กิโลเมตร

2. วัคซีนเดี่ยว เฉพาะชนิดที่ 1 จะนำเข้ามาในประเทศไทย ภายในต้นเดือนพฤษภาคมนี้

มร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม ในฐานะนายกสมาคมกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สมาคมกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทย มีนโยบายที่จะให้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงเพื่อลดความวิตกกังวล และเพื่อไม่ให้ข้อมูลบิดเบือน พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือในทุกด้านอย่างเต็มความสามารถ ที่ผ่านมา สมาคมกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทยได้มีการประชุมหารือกับกรมปศุสัตว์เกี่ยวกับแนวทางป้องกันการแพร่ระบาดของ “กาฬโรคแอฟริกาในม้า” อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการยับยั้งการแพร่ระบาดจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนปฏิบัติตามข้อแนะนำของกรมปศุสัตว์อย่างเคร่งครัด

กรมปศุสัตว์ ร่วมกับสมาคมกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทย นำเข้า “วัคซีน AHS” สกัดการแพร่ระบาด “กาฬโรคแอฟริกาในม้า”