posttoday

"ธณิกานต์" ร่วมรณรงค์วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล วอน หยุดมองผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ

25 พฤศจิกายน 2562

“ส.ส. ธณิกานต์ ”ร่วมรณรงค์หยุดมองผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ กระตุ้นสังคมฉุกคิดคุณค่าของมนุษย์ และความเป็นผู้หญิงในยุค Global Digital ในวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล

“ส.ส. ธณิกานต์ ”ร่วมรณรงค์หยุดมองผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ กระตุ้นสังคมฉุกคิดคุณค่าของมนุษย์ และความเป็นผู้หญิงในยุค Global Digital ในวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล

เมื่อวันที่ 25 พ.ย. น.ส.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.กทม. เขตบางซื่อ-ดุสิต พรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า เนื่องด้วยองค์การสหประชาชาติประกาศให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล ในฐานะที่เป็นสตรีคนหนึ่งจึงขอร่วมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรี โดยเห็นว่าสังคมไทยต้องตื่นตัวในประเด็นนี้ หลังจากที่ผ่านมามีข่าวการใช้ความรุนแรงกับสตรี โดยเฉพาะสถิติองค์การอนามัยโลกเมื่อปี 2561 ที่สำรวจพบปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิง ใน 10 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย มีผู้หญิงอายุระหว่าง 15-19 ปี มีความเสี่ยงที่จะถูกกระทำรุนแรงทางร่างกายหรือทางเพศ โดยคู่รักหรือแฟนมากที่สุด และ พบว่าผู้หญิงถูกละเมิดทางเพศ ถูกกระทำความรุนแรงทางร่างกาย จิตใจ วันละไม่น้อยกว่า 7 คน และมีตัวเลขของผู้หญิงที่เข้ารับการบำบัดรักษา และแจ้งความร้องทุกข์ สูงถึงปีละ 30,000 คน

น.ส.ธนิกานต์ กล่าวต่อว่า จากข้อมูลข่าวตามสื่อต่างๆในรอบปีที่ผ่านมา ที่น่าเป็นห่วงคือ การดิ้นรนเพื่อหาทางดำรงชีพของสตรีที่ถูกกระทำให้เป็น “วัตถุทางเพศ” จากคดีการเสียชีวิตของพริตตี้สาวคนดัง และคดีบ่อตกกุ้งที่ใช้โคโยตี้เต้นยั่วยวนลูกค้า นอกจากแลกกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แล้ว ยังเสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ยาเสพติด หรืออาจถึงขั้นเสียชีวิตอย่างที่เป็นข่าว แม้จะเป็นเสรีภาพในการเลือกทำงานของสตรีแต่ละคน แต่ก็มีการพูดถึงสวัสดิภาพของบรรดาสตรีที่อยู่ในแวดวงดังกล่าว ที่ยังคงเป็นช่องว่าง และอาจเกิดอาชญากรรม ที่สำคัญคือมโนธรรมสำนึกของผู้ว่าจ้าง ซึ่งเป็นภาวะที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง จึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องตื่นตัวและหาแนวทางในการป้องกันปัญหา ไม่ใช่ปล่อยให้กลายเป็นคลื่นกระทบฝั่ง และเกิดซ้ำขึ้นอีก แม้การปลูกจิตสำนึกจะเป็นเรื่องของนามธรรม ที่จับต้องได้ยากและชี้วัดได้ลำบาก แต่หากทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญ และร่วมมือกันรณรงค์อย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดก็เชื่อว่าจะสามารถป้องกันและแก้ไขปัญหานี้ได้

“ร่วมกันผลักดันให้สังคมเริ่มฉุกคิดในคุณค่าของมนุษย์ และความเป็นผู้หญิงในยุค Global Digital ที่ส่งเสริมความเท่าเทียมของมนุษยุ์ทุกเพศ” น.ส.ธนิกานต์ กล่าว