posttoday

ปลุกพลัง “วัยเก๋า” เปลี่ยน “ภาระ” เป็น “พลัง” สูงวัยอย่างสตรอง

21 พฤศจิกายน 2562

 

 

โครงสร้างประชากรไทยกำลังจะเปลี่ยนโฉมในระดับที่ประวัติศาสตร์ต้องจารึก! เพราะ ในปี 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์” นั่นหมายความว่า คนสูงวัยจะครองสัดส่วนเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ขณะที่กลุ่มเจนวายเป็นต้นไป เรื่อยมาถึงเจนแซด และเจนอัลฟ่าจะต้องกลายเป็นพลเมืองกลุ่มน้อยในสังคมไทย อีกเพียง 12 ปี ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอดในปี 2574 !!!ที่มีผู้สูงอายุ

การเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญที่กำลังจะมาถึงอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงนี้ ส่งผลให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องเร่งหาทางรับมือกับโครงสร้างทางสังคมที่หันเหทิศทางการขับเคลื่อนใหม่ ผลักดันสังคมไทยก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน ผู้คนทุกวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดี อยู่ร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หนึ่งในหน่วยงานผู้ขับเคลื่อนกระตุ้นเตือนสังคมคือ สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ที่มุ่งทำงานเชิงรุก เพื่อจุดประกาย กระตุ้น สานและเสริมพลังบุคคลและองค์กรทุกภาคส่วนให้มีขีดความสามารถและสร้างสรรค์ระบบสังคมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี

 

ปลุกพลัง “วัยเก๋า” เปลี่ยน “ภาระ” เป็น “พลัง” สูงวัยอย่างสตรอง ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สะท้อนถึง สถานการณ์ผู้สูงอายุที่เหล่าเจนวายต้องรับฟังอย่างเข้าใจว่า ภาวะซึมเศร้าและติดบ้าน เป็นปัญหาใหญ่ของผู้สูงอายุในปัจจุบัน จากสถิติพบว่า 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุไทยมีความเปราะบางทางจิตใจ เนื่องมาจากหลากหลายปัจจัย ทั้งความเสื่อมถอยของร่างกายจนส่งกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ภาวะการพึ่งพาตัวเองลดลง จากเคยเป็นผู้นำครอบครัวกลับกลายเป็นเพียงสมาชิกในบ้านที่ต้องพึ่งลูกหลาน รู้สึกว่าตัวเองเป็นภาระจึงนำมาซึ่งความวิตกกังวลต่างๆ เริ่มมองว่าตัวเองด้อยค่า โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่ใช้ชีวิตเพียงลำพัง เนื่องจากไม่ได้แต่งงาน (ประมาณ 13.8%) และกลุ่มที่แต่งงานแต่ไม่มีบุตร (23.3 %) เป็นกลุ่มที่ต้องเผชิญหน้ากับความโดดเดี่ยว ขาดหลักหลักประกันในชีวิต โดยเฉพาะหากไม่มีการเตรียมพร้อมเพื่อเข้าสู่วัยเกษียณที่ดีพอ อาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า และการฆ่าตัวตายได้ในที่สุด

เพื่อเปลี่ยนความรู้สึกเป็น “ภาระ” ของกลุ่มผู้สูงอายุให้เป็น “พลัง” จึงกลายเป็นที่มาแห่งภารกิจของสสส.ในปีนี้ที่เน้นส่งเสริมคุณภาพชีวิตกลุ่มผู้สูงอายุวัย 60-72 ปีที่ยังแอคทีฟสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ให้แข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ ห่างไกลจากภาวะซึมเศร้าและติดบ้าน ด้วยการให้การสนับสนุนกลุ่ม Young Happy ธุรกิจเพื่อผู้สังคมที่มุ่งส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้ผู้สูงวัย ก่อตั้งโดยสตาร์ทอัพรุ่นใหม่แต่เข้าใจหัวอกของผู้สูงอายุอย่างถึงแก่น ภายใต้กิจกรรมดีดีชื่อ แอคทีฟ ซิกตี้ (Active 60)

“แม้ Young Happy จะก่อตั้งโดยคุณรุ่นใหม่แต่กลับออกแบบแพลตฟอร์มและกิจกรรมที่เข้าใจหัวอกของผู้สูงอายุอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นการจัดกิจกรรมให้ความรู้ เพื่อให้ผู้สูงอายุได้ค้นพบความสามารถที่ซ่อนอยู่ของตัวเอง ได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ หรือ กิจกรรมเวิร์กช็อปเก๋ๆที่เป็นสะพานลดช่องว่างแห่งวัยในการใช้ชีวิตในสังคมยุคดิจิทัล ตั้งแต่เรียนรู้การใช้โซเชียลมีเดีย การถ่ายภาพ ตลอดจนกิจกรรมที่ช่วยสร้างคอมมูนิตี้ให้ผู้สูงอายุได้พบปะกับเพื่อนใหม่กับหลากหลายกิจกรรมที่ไม่จำเจ สอดคล้องกับวิถีความเป็นคนเมือง เช่น ชวนกันไปดูหนัง ลงคอร์สเรียนภาษาใหม่ รวมถึงการพัฒนาแอพพลิเคชั่น การใช้ช่องทางออนไลน์เป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่ให้ข้อมูลข่าวสาร ทั้งหมดนี้นอกจากจะทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตัวเองยังมีคุณค่า ไม่ใช่ภาระของลูกหลานแล้ว แต่ยังสามารถออกมาใช้ชีวิต มีสังคม พบปะเพื่อนใหม่ๆ และ ยังมีไฟที่จะทำประโยชน์ให้กับสังคมต่อไป”

ทั้งนี้ เพื่อให้เห็นภาพของผู้สูงวัยที่ยังมีไฟ และเห็นคุณค่าของตัวเองโดยไม่ปล่อยให้ร่างกายที่ร่วงโรยมาบั่นทอนจิตใจ จากนี้คือ 2 ตัวแทนวัยเกษียณที่จะมาปลดล็อกความรู้สึกเปลี่ยน ภาระ ให้เป็น พลัง

ปลุกพลัง “วัยเก๋า” เปลี่ยน “ภาระ” เป็น “พลัง” สูงวัยอย่างสตรอง อุษาวดี สินธุเสน อดีตบรรณาธิการบริหารคนแรกของ Secret

เริ่มจากอุษาวดี สินธุเสน อดีตบรรณาธิการบริหารคนแรกของ Secret วัย 60 ปี และ ยังเป็นคุณแม่ของขุนเขา สินธุเสน เขจรบุตร นักจิตวิทยาพัฒนาสมองและนักเขียนชื่อดัง เจ้าของหนังสือ Best Seller มากมาย ได้มาร่วมสะท้อนมุมมองแห่งวัย และ สวมหัวใจความเป็นแม่มาเตือนสติมนุษย์ลูกได้อย่างถึงแก่นว่า เกษียณตั้งแต่อายุ 55 ปี เพราะอยากใช้ชีวิตที่เหลืออยู่อย่างมีความสุขทำในสิ่งที่ชอบ ช่วงปีแรกๆ ที่เกษียณออกมา ก็ได้ทำสมใจ จนเมื่อปีที่แล้ว เริ่มรู้สึกว่าง เพราะสิ่งที่อยากทำก็ได้ทำหมดแล้ว เลยเริ่มหาคอร์สเรียนต่างๆ ไปเรื่อยๆ เพราะเราไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองแก่ หรือ ไม่มีคุณค่าจนทำอะไรไม่ได้ เพียงแต่เราอาจจะไม่มีเวทีที่ให้ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเหมือนสมัยก่อน แต่เรายังยังเชื่อเสมอว่าคุณค่าเรายังมีอยู่เสมอ อยู่ที่ว่าใช้มันตรงไหน

“พอได้มารู้จักกับกลุ่ม Young Happy ก็รู้สึกประทับใจเพราะนอกจากจะนำเสนอคอนเทนต์ที่ตรงกับวัย ยังมีกิจกรรมที่ออกแบบมาอย่างเข้าใจผู้สูงอายุอย่างแท้จริง อย่างกิจกรรมไปดูหนัง เพื่อสร้างคอมมูนิตี้ใหม่ๆให้คนวัยเดียวกัน ยิ่งตอนนี้ได้มีโอกาสเข้ามาช่วยทำคอนเทนต์ให้ทาง Young Happy ยิ่งดีใจ เพราะได้กลับมาทำสิ่งที่รักอีกครั้ง และยังได้ใช้ความสามารถที่มีสร้างประโยชน์ให้กับคนวัยเดียวกันและขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสังคมของกลุ่มคนรุ่นใหม่”

ทั้งนี้ อุษาวดี ยังฝากถึงมนุษย์ลูกทั้งหลายที่มักหงุดหงิด หัวเสียเวลาเห็นผู้สูงวัยในบ้านก้าวไม่ทันโลก ว่า ก่อนจะโกรธหรือหงุดหงิด ให้ลองจินตนาการว่า ถ้าวันหนึ่งคุณต้องเป็นผู้สูงวัยที่ไม่เพียงร่างกายจะเสื่อมถอยแต่ความสามารถในการคิด การตัดสินใจยังช้าลง คุณจะรู้ว่าการที่ลูกหลานแสดงความหงุดหงิด หรือ รำคาญในสิ่งที่ผู้สูงวัยเป็นนั้นโหดร้ายกับจิตใจพวกเขาขนาดนั้น

“พูดในฐานะคนเป็นแม่ ถึงพี่จะไม่เคยโดนลูกชายพูดจาแบบนี้ แต่พี่เข้าใจดีว่า คำพูดที่เจ็บปวดที่คนเป็นพ่อเป็นแม่ไม่อยากได้ยิน คือ ทำไมไม่รู้เรื่อง สอนตั้งหลายครั้งแล้วทำไมไม่จำ อย่างที่บอก ทุกคนเคยผ่านช่วงเวลาเป็นเด็ก ถึงจะสอนยากแค่ไหน แต่ทุกคนเคยอาบน้ำร้อนมาก่อนเลยเข้าใจความเป็นเด็กเป็นอย่างดี แต่ไม่ใช่ทุกคนจะเคยแก่ เลยนึกภาพไม่ออก ฉะนั้นจึงต้องอาศัยความเข้าใจผู้สูงวัยให้มาก อย่ารอให้ถึงวันที่ตัวเองแก่ถึงจะเข้าใจหัวอกพ่อแม่ เพราะถึงตอนนั้นท่านก็อาจไม่อยู่แล้ว เช่นเดียวกับผู้สูงวัยทุกคน อย่าท้อแท้มองว่าตัวเองไร้ค่า เก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน เพราะสุดท้ายแล้วคุณค่าในตัวเองไม่ได้ต้องรอให้ใครมาชื่นชม และค้นหา แต่สามารถค้นหาหรือสร้างได้ด้วยตัวเอง”

ปลุกพลัง “วัยเก๋า” เปลี่ยน “ภาระ” เป็น “พลัง” สูงวัยอย่างสตรอง คเณศร์ เจริญจิตต์ อดีตพนักงานไทยออยล์ กรุ๊ป

ปิดท้ายด้วยคเณศร์ เจริญจิตต์ อดีตพนักงานไทยออยล์ กรุ๊ปที่ดูแลเกี่ยวกับระบบการสื่อสารขององค์กรมาก่อน ปัจจุบันเกษียณมาใช้ความรู้ความสามารถเดิม ต่อยอดสู่อาสาสมัคร “ตากล้องวิดีโอ” บันทึกกิจกรรมผู้สูงวัยต่างๆ ของกลุ่ม Young Happy บอกเล่าด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้มถึงบันทึกหน้าใหม่ของชีวิตว่า ก่อนจะเริ่มต้นชีวิตครอบครัว เขาไม่ได้วางแผนชีวิตวัยเกษียณเอาไว้เลย จนกระทั่งมีภรรยาและมีลูกคนแรกตอนอายุ 34 ปี ทำให้ต้องเร่งวางแผนชีวิตเกษียณเพื่อไม่ให้เป็นภาระกับลูก คเณศร์ เปลี่ยนภาระเป็นพลังด้วยการวางแผนตั้งแต่การดูแลสุขภาพ และการเงิน จนเมื่อถึงวันเกษียณ แม้ร่างกายจะร่วงโรย ไม่ต้องแบกรับความรับผิดชอบและความเครียดจากการทำงานเหมือนเก่า แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนไปเลย คือ คุณค่าในตัวเอง

“ผมวาดภาพชีวิตเกษียณไว้แล้วว่า คงไม่อยู่เฉยๆ ทำให้ตัวเองไร้ค่า ผมเลือกที่จะเลือกทำในสิ่งที่ผมยังทำได้ เช่น เป็นที่ปรึกษาในโครงการต่างๆ ตลอดจนเข้าร่วมเป็นคณะทำงานในกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวกับผู้สูงวัย บางครั้งก็ไปเป็นจิตอาสา เทกคอร์สเสริมความรู้ต่างๆ ที่จะทำไห้ไม่ตกยุค เพราะถึงสมัยทำงานผมจะคุ้นกับโซเชียลมีเดียมาบ้าง แต่ก็ไม่ได้คล่องแคล่ว ก็อาศัยฝึกฝน จนเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ผมได้พบกับกลุ่ม Young Happy ผมชอบกระบวนการออกแบบเวิร์กช็อปของเขาที่ไม่ได้แค่สอนให้ผู้สูงอายุมีความรู้ แต่เขาออกแบบเครื่องมือ และกระบวนการสอนที่เข้าใจผู้สูงอายุอย่างแท้จริง ผมเองเข้ามาเรียน มาช่วยสอนเพื่อนร่วมชั้นบ้างตามกำลังที่จะทำได้” คเณศร์เล่าด้วยใบหน้าเปี่ยมสุข ก่อนถือโอกาสใช้พื้นที่ตรงนี้ จูนความคิดของเด็กรุ่นใหม่ที่มองว่าผู้สูงอายุเป็นภาระว่า

“จริงอยู่พอแก่ตัว การเรียนรู้ การตัดสินใจก็ช้าลง บางครั้งคนที่ไม่ได้อยู่ในวัยเดียวกับเราก็ไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมอยากบอกกับเพื่อนวัยเดียวกัน รวมถึงเจนวาย รุ่นลูกรุ่นหลานคือ คนเราก็เปรียบเหมือนซีพียู คนแก่ก็เหมือนซีพียูที่ไม่ได้ผ่านการอัพเกรด ถึงจะยังใช้งานได้ แต่พอมาเจอกับระบบปฏิบัติการใหม่ๆ ก็ย่อมใช้งานสะดุด ช้าบ้าง เออเร่อบ้างเป็นธรรมดา ทางเดียวที่จะอัพเกรดซีพียูนี้ คือ หาอินเตอร์เฟซที่เชื่อมระบบเก่าเข้ากับระบบใหม่ ซึ่งอินเตอร์เฟซระหว่างวัยรุ่นกับคนสูงวัย คือ ความเข้าใจในความแตกต่างของวัยนั่นเอง” คเณศร์ทิ้งท้ายอย่างอารมณ์ดี

ปลุกพลัง “วัยเก๋า” เปลี่ยน “ภาระ” เป็น “พลัง” สูงวัยอย่างสตรอง

ปลุกพลัง “วัยเก๋า” เปลี่ยน “ภาระ” เป็น “พลัง” สูงวัยอย่างสตรอง

ปลุกพลัง “วัยเก๋า” เปลี่ยน “ภาระ” เป็น “พลัง” สูงวัยอย่างสตรอง