posttoday

ครั้งแรกในโรงเรียนแพทย์!! ‘กัลฟ์’ สนับสนุนอุปกรณ์มูลค่า 12 ล้าน

16 พฤศจิกายน 2562

หนุนม.มหิดล นำนวัตกรรมการเรียนการสอนปั้น นศ.แพทย์ยุคดิจิทัล

หนุนม.มหิดล นำนวัตกรรมการเรียนการสอนปั้น นศ.แพทย์ยุคดิจิทัล

ปัจจุบันในแวดวงสาธารณสุขและการแพทย์นั้น มีความตื่นตัวอย่างมากในด้านการใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี (Technology Disruption) เพื่อยกระดับความรวดเร็วในการวินิจฉัยและเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการพัฒนาเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าขึ้น ช่วยให้เกิดการพัฒนาเครื่องมือแพทย์ที่ยังคงมาตรฐานด้านความแม่นยำ แต่อยู่ในดีไซน์ที่พกพาได้ สามารถเชื่อมต่อแบบไร้สาย ช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์เพิ่มขีดความสามารถในการช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว

ล่าสุด คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ก้าวสู่การเป็น “โรงเรียนแพทย์แห่งแรก” ในประเทศไทย ที่นำนวัตกรรมอุปกรณ์ “Ultrasound พกพาชนิดไร้สาย” มาใช้ในการเรียนการสอนทางการแพทย์แก่นักศึกษา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการวินิจฉัยรักษาให้ทันท่วงที โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ในการจัดซื้อเครื่องอัลตร้าซาวด์พกพาดังกล่าว จำนวน 200 เครื่อง รวมมูลค่า 12 ล้านบาท

ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวระหว่างการแถลงนวัตกรรมการเรียนการสอนทางการแพทย์: “Ultrasound พกพาชนิดไร้สายสำหรับนักศึกษาแพทย์ยุคดิจิทัล” ว่า การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์ในยุคดิจิทัลนั้น มีความสำคัญต่อพันธกิจในฐานะของการเป็นโรงเรียนแพทย์ ทั้งพันธกิจด้านการรักษาพยาบาลผู้ป่วย พันธกิจด้านการทำวิจัยให้เกิดนวัตกรรมอย่างยั่งยืน และพันธกิจด้านการศึกษาที่มีระบบการเรียนการสอนเป็นจุดเด่นเฉพาะให้แก่นักศึกษาแพทย์ นักศึกษาพยาบาล นักศึกษาวิทยาศาสตร์สื่อความหมาย และนักศึกษาปฏิบัติการฉุกเฉิน

ทั้งนี้ เครื่องอัลตร้าซาวด์พกพาชนิดไร้สาย (Portable Wireless Ultrasound) จะสนับสนุนการพัฒนาระบบการเรียนการสอนให้แก่นักศึกษาแพทย์ด้วยการนำนวัตกรรมมาใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวินิจฉัยรักษาในเบื้องต้นแก่ผู้ป่วยทางรังสีวินิจฉัย ซึ่งเครื่องมือแพทย์ที่ได้รับการสนับสนุนมาครั้งนี้ สามารถเป็นเครื่องมือในการตอบโจทย์ปัญหาได้ เพราะสามารถนำติดตัวไปได้ทุกที่เพื่อให้สามารถวินิจฉัยผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็วทันท่วงที และในด้านการเรียนการสอน โดยการนำเครื่อง Ultrasound พกพาชนิดไร้สาย มาใช้สอนแก่นักศึกษาแพทย์ในชั้นปรีคลินิก (Pre-Clinic) โดยเริ่มกับนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 2 และชั้นปีที่ 6

“อย่างที่ทราบกันว่า ระบบการให้บริการรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยในปัจจุบัน ค่อนข้างมีความรวดเร็วและมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น หากเราสามารถพัฒนาจากจุดบกพร่องที่เกิดขึ้นจริงในระหว่างการให้บริการรักษาพยาบาล ต่อยอดให้เกิดเป็นผลงานนวัตกรรมที่นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ป่วยได้อย่างเต็มประสิทธิภาพได้ ก็จะทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้มาก” ศ.นพ.ปิยะมิตรกล่าว

รศ.นพ.สิทธิ์ พงษ์กิจการุณ หัวหน้าภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึง เครื่องอัลตร้าซาวด์ เพื่อการเรียนรู้ในชั้นปรีคลินิก ว่า ท่ามกลางยุคแห่ง Technology Disruption ที่หลายภาคส่วนต้องเร่งปรับตัวเพื่อความอยู่รอดและเติบโต แต่สำหรับการดูแลสุขภาพ การเปลี่ยนแปลงของระบบดิจิทัลแบบฉับพลันนี้ ได้ผลักดันให้เทคโนโลยีทางการแพทย์มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด การศึกษาเรียนรู้ทางการแพทย์ก็มีความจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยน เพื่อให้สอดคล้อง ตอบโจทย์ และเท่าทันต่อบริบทของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

โดยที่หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อาศัยโอกาสที่มี New (Disruptive) Technology อันได้แก่ เครื่องอัลตร้าซาวด์พกพาชนิดไร้สาย มาสร้างให้เกิด “นวัตกรรมในกระบวนการเรียนการสอน” ให้แก่ “นักศึกษาแพทย์ยุคดิจิทัล” โดยได้นำอุปกรณ์ดังกล่าว มาใช้ร่วมในการเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์ชั้นปรีคลินิก เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ ความเข้าใจในเนื้อหาด้านกายวิภาค สรีรวิทยา และพยาธิสภาพ รวมถึงกระตุ้นให้เกิดความคิดเชิงสร้างสรรค์ของนักศึกษาได้อย่างลึกซึ้งและผสมผสาน สร้างแรงบันดาลใจในการต่อยอดการเรียนรู้ในระดับสูงขึ้น

นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทั้งโดยส่วนตัวและบริษัทฯ มีความมุ่งมั่นช่วยเหลือสังคมในสองด้านหลักๆ ด้วยกัน คือทางด้านการศึกษา และทางด้านเกี่ยวกับเครื่องมือทางการแพทย์ โดยที่ผ่านมาได้บริจาคเครื่องมือทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลรัฐหลายแห่ง ขณะที่ การบริจาคเครื่องมืออัลตร้าซาวด์ชนิดพกพาแบบไร้สายครั้งนี้ เรียกได้ว่าเป็นการผสมผสานกันระหว่างทั้งด้านการศึกษาและเรื่องการแพทย์ ทำให้นักศึกษาแพทย์รุ่นใหม่ๆ ที่ได้รับเครื่องมือนี้ไป จะได้ฝึกฝนและเกิดความชำนาญในการใช้เครื่อง ซึ่งความชำนาญนี้ก็จะไปช่วยรักษาคนไข้ในห้องฉุกเฉินให้มีโอกาสที่จะมีชีวิตรอดมากขึ้น

รศ.ดร. นายแพทย์ไชยพร ยุกเซ็น หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันห้องฉุกเฉินทุกโรงพยาบาลมีการใช้เครื่องอัลตร้าซาวด์ เพื่อช่วยในการวินิจฉัย แต่จากความก้าวหน้าของเวชศาสตร์ฉุกเฉินในประเทศไทย ซึ่งได้พัฒนาไปถึงการดูแลผู้ป่วยที่บ้านและก่อนมาถึงโรงพยาบาลให้เทียบเท่ากับการดูแลผู้ป่วยในห้องฉุกเฉินด้วยบุคลากรกลุ่มที่เรียกว่า Paramedic ขณะที่ เครื่องอัลตร้าซาวด์ ก็อาจเป็นเป็นเหมือนตาคู่ที่ 2 ของ Paramedic ที่จะนำมาใช้ในการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตินอกโรงพยาบาลเช่นกัน

ทั้งนี้ เครื่องอัลตร้าซาวด์พกพาชนิดไร้สาย สามารถนำมาใช้ได้ทั้งในห้องฉุกเฉินและการดูแลผู้ป่วยก่อนมาถึงโรงพยาบาล การนำเครื่องมือนี้มาใช้ในการเรียนการสอนของหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิตและหลักสูตรฉุกเฉินการแพทย์ นับว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของการฝึกอบรมด้านการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศและจะเป็นต้นแบบการฝึกอบรมของสถาบันอื่นในประเทศไทยต่อไป

นศพ. พรลภัส เชนวรรณกิจ นักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 6 บอกเล่าประสบการณ์ใช้งานอุปกรณ์นี้ว่า ครั้งแรกที่ได้สัมผัสเครื่องอัลตร้าซาวด์ชนิดพกพา ก็ทำให้รู้สึกได้ว่า เป็นเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยมาก เป็นนวัตกรรมที่จะเป็นประโยชน์ในการวินิจฉัยรักษาผู้ป่วย ซึ่งจากประสบการณ์การใช้งานมาแล้ว 1 เดือนในแผนกฉุกเฉิน ทำให้มีความสะดวกขึ้นมากในการวินิจฉัยอาการ โดยไม่ต้องรอคิวเข็นเตียงผู้ป่วยเพื่อใช้เครื่องอัลตร้าซาวด์ขนาดใหญ่ที่มีใช้กันอยู่ และทำให้ไม่ต้องเสียเวลาในขั้นตอนนี้เป็นเวลานาน ผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุมา เก็สามารถใช้อัลตร้าซาวด์ เพื่อหาสาเหตุต่าง ๆ ที่สงสัยได้รวดเร็ว เช่น ภาวะปอดรั่ว-แตก ภาวะน้ำในเยื่อหุ้มหัวใจ ที่อาจทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งเมื่อทำการวินิจฉัยได้รวดเร็วและแม่นยำก็สามารถทำหัตถการช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ทันท่วงที

“ประโยชน์จากการได้ใช้เครื่องอัลตร้าซาวด์ชนิดพกพา ยังทำให้ได้ฝึกฝนการทำอัลตร้าซาวด์ได้มากขึ้น เนื่องจากมีเครื่องอยู่ในมือเรา สามารถทำในเวลาใดก็ได้ ค่อนข้างมีความสะดวก และจะเป็นประโยชน์อย่างมากเมื่อเรียนจบไปเป็นแพทย์อยู่ต่างจังหวัดที่อาจไม่มีคนคอยดูแลตลอดเวลา ทั้งยังช่วยเพิ่มความมั่นใจได้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งเครื่องนี้ยังสามารถบันทึกเป็นวิดีโอหรือรูปภาพไว้บนโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ต ทำให้สามารถเรียกดูได้สะดวก เหมาะแก่การเรียนรู้และฝึกฝนเป็นอย่างยิ่ง การนำนวัตกรรมดังกล่าวนี้มาใช้ในการเรียนการสอนนับว่าเป็นประโยชน์อย่างมากในด้านการศึกษาของนักศึกษาแพทย์ ที่สามารถเพิ่มความรู้ความสามารถและใช้ประโยชน์กับผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี” นศพ. พรลภัสกล่าว