posttoday

ผนึกกำลังลดเหลื่อมล้ำทางการศึกษาหวังยกระดับครูและร.ร.ในชนบท

29 ตุลาคม 2562

สพฐ.จับมือ กสศ. เดินหน้าลดเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ยกระดับคุณภาพครูและโรงเรียนในชนบท เริ่มต้นปีแรก 288 โรงเรียน ใน 35 จังหวัด ครอบคลุมทุกภูมิภาค

สพฐ.จับมือ กสศ. เดินหน้าลดเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ยกระดับคุณภาพครูและโรงเรียนในชนบท เริ่มต้นปีแรก 288 โรงเรียน ใน 35 จังหวัด ครอบคลุมทุกภูมิภาค

เมื่อวันที่ 29 ต.ค. กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดประชุมเรื่อง "ยกระดับคุณภาพโรงเรียน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ" และลงนามความร่วมมือการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา ภายใต้โครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (Teachers & School Quality Program : TSQP) โดยมี ผู้แทนโรงเรียน ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ผู้บริหารสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด เข้าร่วมกว่า 1,000 คน ที่โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ

ผนึกกำลังลดเหลื่อมล้ำทางการศึกษาหวังยกระดับครูและร.ร.ในชนบท

ดร.อัมพร พินะสา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า การขจัดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ผ่านมาคุณภาพการศึกษาของประเทศไทยยังมีความเหลื่อมล้ำด้านความรู้ระหว่างนักเรียนในเมืองกับนักเรียนในชนบทที่ต่างกันเกือบ 2 ปีการศึกษา สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากคุณภาพหรือมาตรฐานของสถานศึกษา รวมถึงคุณภาพและประสิทธิภาพครู ซึ่งส่งผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียนโดยตรง

ทั้งนี้ สพฐ.และกสศ. จึงได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (Teachers & School Quality Program : TSQP) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาโรงเรียนประถมศึกษา และมัธยมศึกษาขนาดกลางสังกัด สพฐ.ในชนบทที่มีเด็กและเยาวชนซึ่งขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส และผู้ด้อยโอกาสอยู่หนาแน่น ให้เป็นโรงเรียนที่สามารถพัฒนาคุณภาพต่อเนื่องอย่างเป็นระบบ หรือ Whole School Approach

ดร.อัมพร กล่าวว่า กลุ่มเป้าหมายสำคัญของโครงการนี้ ได้แก่ กลุ่มโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาขนาดกลางที่มีศักยภาพจะเป็นโรงเรียนแกนนำของชุมชน (hub-schools) ที่สำคัญคือ ผู้บริหารและครูมีความพร้อมในการพัฒนาด้วยความสมัครใจ ซึ่งหากโรงเรียนแกนนำเหล่านี้ได้รับการยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนได้ทั้งระบบโรงเรียน โดยมีครูเป็นผู้ขับเคลื่อนที่สำคัญจะส่งผลให้ประสิทธิภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนสูงขึ้นได้

"ในอนาคตจะบูรณาการกับโรงเรียนคุณภาพประจำตำบลทั่วประเทศของทาง สพฐ.ระยะยาวโครงการนี้จะทำให้เกิดโมเดลสำหรับการปฏิรูปคุณภาพสถานศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ขอให้ทุกโรงเรียน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับ กสศ. และภาคีเครือข่าย ในการพัฒนาครูและโรงเรียนตามแนวทางของโครงการฯ" ดร.อัมพร กล่าว

ด้าน นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) กล่าวว่า หัวใจสำคัญของโครงการนี้ต้องเริ่มต้นจากผู้บริหารและครูผู้สอน มีความเชื่อว่าเราสามารถพัฒนาตนเองและโรงเรียนได้ แม้จะเป็นโรงเรียนที่อยู่ห่างไกล หรือไม่ใช่โรงเรียนขนาดใหญ่ ก็สามารถพัฒนาจนเจริญก้าวหน้าได้ โดยไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากภายนอกหรือต้องรอนโยบาย จึงจะส่งผลให้เกิดการปฏิรูปการบริหารจัดการ และการเรียนการสอนในโรงเรียนทั้งระบบ

ทั้งนี้ การทำงานในปีแรกจะมีโรงเรียนขนาดกลางที่ผู้บริหารและครูผู้สอนสมัครใจ และตั้งใจเข้าร่วมจำนวน 288 แห่งในพื้นที่ 35 จังหวัด ทุกภูมิภาค ครอบคลุมครูกว่า 5,700 คน การพัฒนาแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ ระดับชั้นเรียนและระดับโรงเรียน เน้นกระบวนการสร้างให้นักเรียนเป็นคนรุ่นใหม่ที่ทันต่อโลกในศตวรรษที่ 21 โดยการทำงานจะไม่หยุดอยู่แค่ห้องเรียนห้องเดียว แต่ต้องทำทั้งโรงเรียน เป็นการสร้างวัฒนธรรมใหม่ให้กับองค์กร ด้วยการใช้พลังร่วมของครูและบุคลากรทุกคนในโรงเรียนพัฒนาการเรียนการสอนที่มุ่งเปลี่ยนแปลงกระบวนการคิดของนักเรียน

นพ.สุภกร กล่าวว่า กสศ.จะนำผลการวิจัยและเครื่องมือสนับสนุนการทำงานของครูและสถานศึกษาจากการทำงานวิชาการร่วมกับองค์การความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) มาสนับสนุนกระบวนการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนแบบ Active Learning โดยใช้การสร้างบรรยากาศในห้องเรียนให้เป็นห้องเรียนประสิทธิภาพสูง (High functioning Classroom) จากสถาบันความคิดสร้างสรรค์แห่งสหราชอาณาจักร (CCE) รวมถึงการใช้เครื่องมือส่งเสริมทักษะความคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณจากองค์การ OECD เพื่อพัฒนานักเรียนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ กสศ.ยังสนับสนุนให้โรงเรียนใช้ระบบ Q-Info

นพ.สุภกร กล่าวว่า กสศ.ยังสนับสนุนให้ทั้ง 288 โรงเรียนทำงานร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยใกล้พื้นที่จำนวน 10 สถาบัน เพื่อวิจัยและพัฒนากระบวนการเรียนการสอน/หลักสูตรที่สอดคล้องกับบริบทท้องถิ่น การถ่ายทอดทักษะความรู้ไปยังนักศึกษาครู นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้องค์กรที่มีประสบการณ์ด้านการศึกษาระดับแถวหน้าของประเทศไทย 5 เครือข่าย ได้แก่ 1.มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี

2.สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น 3.มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 4.มูลนิธิลำปลายมาศพัฒนา และ5.มูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม ร่วมเป็นโค้ช สนับสนุนเทคนิคการบริหารจัดการและวิชาการ ต่อยอดจากประสบการณ์ทำงานของแต่ละองค์กรเพื่อให้ทั้ง 288 โรงเรียนเกิดการพัฒนาขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานอนุกรรมการโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง กสศ. กล่าวตอนหนึ่งในการบรรยายพิเศษ เรื่อง "ยกระดับคุณภาพโรงเรียน ลดความเหลื่อมล้ำ :เปลี่ยน ครู-ห้องเรียน" ว่า การแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาแต่เพียงอุดหนุนงบประมาณยังไม่เพียงพอ แต่จะต้องปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอนของโรงเรียนในชนบทให้สูงขึ้นด้วย จากรายงานของ World Development Report 2018 : Learning to Realize Education’s Promise

นอกจากนั้น พบว่าหากจะให้ผลลัพธ์การเรียนรู้ในภาพรวมของประเทศไทยยกระดับขึ้น ครู โรงเรียน พ่อแม่ และผู้นำชุมชน ต้องร่วมมือกันเอาใจใส่ให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษแก่เด็กที่ขาดแคลนหรือเด็กที่เรียนอ่อน ไม่ใช่มุ่งเอาใจใส่เฉพาะเด็กเก่ง และขยันเรียน ซึ่งมีอยู่เพียงร้อยละ 10-20 แต่อีกร้อยละ 80-90 จะถูกทิ้ง ความร่วมมือระหว่างสพฐ.และกสศ.ในครั้งนี้จะทำให้เด็กอีกร้อยละ 80-90 ได้รับโอกาสในการพัฒนาและบรรลุเป้าหมายในชีวิตได้เช่นกัน

"นักเรียนที่แม้จะยากจนอย่างไรทุกคนล้วนสามารถบรรลุการเรียนรู้คุณภาพสูงได้ โดยเริ่มจากครูพ่อแม่ และตัวนักเรียนเองเชื่อมั่นร่วมกันที่จะมีอนาคตที่ประสบความสำเร็จ ครูต้องชวนเด็กตั้งเป้าหมายสูง และพยายามทำให้สำเร็จให้ได้ เพราะครูและพ่อแม่จะเป็นตัวช่วยสำคัญให้เด็กเกิดการพัฒนา สร้างความเชื่อมั่นให้เห็นความหวังดีว่าครูเอาใจใส่เด็กทั้งห้องเรียน" ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร กสศ. กล่าว