posttoday

จัดใหญ่ งานมุสลิมไทยแฟร์ครั้งที่ 5 “รวมพลังความดี ซับน้ำตาผู้ลี้ภัย”

26 ตุลาคม 2562

 

 

นางสุภัชชา สุทธิพล รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานกล่าวเปิดงานมุสลิมไทยแฟร์ ครั้งที่ 5 พร้อมมอบโล่และเกียรติบัติแก่ผู้สนับสนุนการจัดงาน บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ กล่าวต้อนรับโดยนายสามารถ มะลูลีม ประธานมูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย โดยมีนายแพทย์อนันต์ชัย ไทยประทาน เป็นประธานจัดงานมุสลิมไทยแฟร์ครั้งที่ 5 ซับน้ำตาผู้ลี้ภัย และนายบัญญัติ ทิพย์หมัด ประธานอำนวยการจัดงาน นายอรุณ บุญชม รองประธานผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรีและประธานคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร ผู้แทนจุฬาราชมนตรี มอบโล่รางวัล เพชรมือบน ให้แก่องค์กรและบุคคลดีเด่นที่เป็นผู้บำเพ็ญสาธารณประโยชน์

จัดใหญ่ งานมุสลิมไทยแฟร์ครั้งที่ 5 “รวมพลังความดี ซับน้ำตาผู้ลี้ภัย”



งานมุสลิมไทยแฟร์ครั้งที่ 5 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-27 ตุลาคม 2562 ณ บริเวณลานพลาซ่า อินดอร์สเตเดียม หัวหมาก ถนนรามคำแหง การกีฬาแห่งประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์หลักของการจัดงานดังนี้

1. เพื่อหารายได้เข้ากองทุนของสภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมไปช่วยภัยพิบัติทางธรรมชาติภายในประเทศ
2. เพื่อส่งเสริมให้เกิดความรัก ความสามัคคี ของคนทุกหมู่เหล่าโดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ และศาสนาซึ่งจัดเป็นงานใหญ่ประจำปีของทุกปี
3. เพื่อส่งเสริมพันธกิจของสภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
4. เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของการจัดงานให้เป็นงานที่จัดแล้วมีคุณค่าต่อสังคมและประเทศชาติ และอื่นๆ

จัดใหญ่ งานมุสลิมไทยแฟร์ครั้งที่ 5 “รวมพลังความดี ซับน้ำตาผู้ลี้ภัย”

ด้าน นายแพทย์อนันต์ชัย ไทยประทาน ประธานจัดงานมุสลิมไทยแฟร์ และรองประธานสภาเครือข่ายด้านมนุษยธรรมเผยถึงที่มาว่า “สภาเครือข่ายมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรี โดยมี ดร.วิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะ เป็นประธาน ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัย และได้รับโอกาสจากมุสลิมไทยโพสต์ให้มีส่วนร่วมจัดงานในครั้งนี้ โดยมุ่งหวังที่จะได้รับการตอบรับจากประชาชนในประเทศไทยและนำน้ำใจจากพี่น้องประชาชนสู่ผู้ลี้ภัยที่รอคอยการช่วยเหลือจากทุก ๆ ท่าน”

“นับตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประมาณปี พ.ศ. 2488 โลกของเราก็เผชิญกับปัญหาผู้ลี้ภัย ครั้งใหญ่อีกครั้งในปี 2558 เท่าที่มีการเก็บข้อมูลของสหประชาชาติพบว่า ปลายปี 2558 มีผู้คนจำนวนกว่า 65 ล้านคนที่ถูกบังคับให้ต้องพลัดพรากจากบ้านของพวกเขาด้วยเหตุแห่งความขัดแย้ง การถูกประหัตประหาร ความรุนแรงที่ทำในวงกว้าง และการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ จากข้อมูลของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัย แห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Refugees หรือ UNHCR) ระบุว่า ปัจจุบันโลกเรามีผู้ลี้ภัยถึง 21.3 ล้านคน และ 49% ในจำนวนนี้เป็นผู้หญิงและเด็กผู้หญิง ซึ่งมีความเปราะบางมากกว่า ผู้ลี้ภัยอื่น ๆ 57% ของผู้ลี้ภัยทั่วโลกมาจาก 5 ประเทศหลัก คือ 1. ผู้ลี้ภัยที่มาจากประเทศซีเรียจำนวน 6.3 ล้านคน 2. ผู้ลี้ภัยที่มาจากประเทศอัฟกานิสถานมีจำนวน 2.6 ล้านคน 3. ผู้ลี้ภัยที่มาจากประเทศซูดานใต้มีจำนวน 2.4 ล้านคน 4. ผู้ลี้ภัยที่มาจากประเทศพม่าจำนวน 1,391,000 คน 5. ผู้ลี้ภัยที่มาจากประเทศโซมาเลียมีจำนวน 1,091,270 คน ซึ่งมากกว่า 80% เป็นมุสลิมในประเทศไทยเองมีผู้ลี้ภัยกว่าหนึ่งแสนคนอาศัยอยู่ในค่ายพักพิง 9 แห่งในจังหวัดชายแดน ระหว่างไทยและพม่า โดยผู้ลี้ภัยเหล่านี้ส่วนมากเป็นชนกลุ่มน้อยที่หนีการสู้รบมาจากประเทศพม่า นอกจากนี้ ยังมีผู้ลี้ภัยในเขตเมืองที่พักพิงอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลอีกกว่า 9,000 คน ซึ่งประกอบด้วยชนชาติต่าง ๆ ไม่น้อยกว่า 30 ประเทศ”

จัดใหญ่ งานมุสลิมไทยแฟร์ครั้งที่ 5 “รวมพลังความดี ซับน้ำตาผู้ลี้ภัย”

ทั้งนี้ ประเทศไทยไม่ได้อยู่ในภาคีหรืออนุสัญญาว่าด้วยเรื่องผู้ลี้ภัยใด ๆ อีกทั้งยังไม่มีกฎหมายที่จะให้ความคุ้มครองแก่กลุ่มคนดังกล่าว ดังนั้นสถานะของพวกเขาจึงถือว่าเป็น “คนเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย” ต้องใช้ชีวิตด้วยความหวาดกลัวต่อการโดนจับกุม กักกัน หรือผลักดันกลับไปสู่ประเทศของตน อีกทั้งยังตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ ที่ต้องการใช้ประโยชน์จากผู้ลี้ภัย จากนโยบายการกวาดล้างจับกุมผู้ลี้ภัยในปีที่ผ่านมายิ่งทำให้มีจำนวนผู้ต้องกักกันในห้องกักตรวจคนเข้าเมืองจำนวนมาก สภาพความเป็นอยู่อย่างแออัด ไม่ถูกสุขลักษณะ ทำให้ผู้ต้องกักเจ็บป่วยและล้มตายลง โดยเฉพาะชาวอุยกูร์และชาวโรฮิงยาที่กระจายไปอยู่ในห้องกักตามภูมิภาคต่าง ๆ มานานกว่า 5 ปี

สภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรี ตระหนักในปัญหาดังกล่าว จึงจัดให้มีการดำเนินกิจกรรม การสัมมนาเรื่อง “ชะตากรรมของผู้ลี้ภัยที่ไร้รัฐ” (Stateless People, Nowhere to Go ) ขึ้นในวันที่ 27 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา ณ มูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย และรณรงค์ช่วยเหลือกิจกรรมดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง จนถึงการจัดงานมุสลิมไทยแฟร์ นั้นเอง

ด้าน นายบัญญัติ ทิพย์หมัด ประธานอำนวยการจัดงาน และนายกสมาคมสื่อมุสลิมไทย เผยถึงแนวคิดการจัดงานในครั้งนี้ว่า “ด้วยคณะกรรมการจัดงานมุสลิมไทยแฟร์ นำโดย สมาคมสื่อมุสลิมไทย สำนักข่าวมุสลิมไทยโพสต์ ร่วมกับ องค์กรชั้นนำในสังคมมุสลิม อาทิ สมาคม ชมรม โรงเรียน มูลนิธิ รวมตัวกันจัดให้มีงานนี้ขึ้นเป็นประจำทุก ๆ ปีอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 5 ปี การจัดงานเพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ในมิติต่าง ๆ ทางด้านข่าวสาร การศึกษา ศาสนา สังคม และวัฒนธรรม โดยมีหน้าที่เผยแผ่ความรู้ ความเข้าใจในสังคมยุคปัจจุบัน ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา รวมถึงการพัฒนาศักยภาพเยาวชน บุคลากร ในมิติต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างและมุ้งเน้น ความเข้าใจอันดีต่อกัน โดยมีการประสานความร่วมมือระหว่างองค์กรต่าง ๆ ในส่วนของภาครัฐและเอกชน เพื่อส่งเสริมกิจกรรมที่ทำให้เกิดประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติ”

จัดใหญ่ งานมุสลิมไทยแฟร์ครั้งที่ 5 “รวมพลังความดี ซับน้ำตาผู้ลี้ภัย”

การจัดงานในครั้งนี้ นอกจากจะสร้างความตะหนักรู้ในมิติต่าง ๆ แล้ว ยังเห็นถึงความสำคัญของสุขภาพ และการออกกำลังกาย เพื่อให้การจัดงานในครั้งมีความหลากหลายและมีกิจกรรมที่สามารถสร้างความรัก ความสามัคคี และเป็นที่ชื่นชอบของสังคมทั่วไป คณะผู้จัดงานฯ จึงจัดให้มี โครงการมุสลิมไทยแฟร์ ฟุตซอลคัพ (MTF2019 FUTSAL CUP) ชิงถ้วยนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และได้มีกำหนดการแข่งขันรอบคัดเลือกไปแล้วเมื่อวันที่ 14 กันยายน ณ สนามนาซีฮ่าตุดดีน ฟุตซอลคัพ และจะมีการจัดรอบชิงชนะเลิศในวันที่ 25-27 ตุลาคม ณ สนามกีฬาหัวหมาก กรุงเทพฯ มีการจัดการแข่งขัน 3 รุ่น ได้แก่ รุ่นเยาวชน อายุ 12 ปี มีทั้งหมด 8 ทีม รุ่นเยาวชน อายุ 16 ปี 8 ทีม รุ่นผู้ใหญ่ 32 ทีม โดยรางวัลชนะเลิศ แต่ละรุ่น และรางวัลดาวซัลโว จะได้รับถ้วยรางวัลจากนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และรายได้ส่วนหนึ่งจากการแข่งขัน มอบให้โรงเรียนนาซีฮ่าตุดดีน (ทับช้างนาลุ่ม) กรุงเทพฯ เพื่อเป็นทุนบำรุงการศึกษาและกิจการของโรงเรียนต่อไป

ภายในงานมุสลิมไทยแฟร์ครั้งที่ 5 “รวมพลังความดี ซับน้ำตาผู้ลี้ภัย” มีกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจ ดังนี้
1.?ครบรอบ 4 ปี สภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
2.?มนุษยธรรม รวมพล คนทำดีทั่วประเทศ
3.?รางวัลเพชรมือบน
4.?ให้ความรู้ผู้สนใจหรือผู้มีจิตใจดีงามที่ต้องการช่วยเหลือเพื่อนมนุษยธรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ
5.?น้ำชาการกุศล เพื่อช่วยภัยพิบัติธรรมชาติ และผู้ลี้ภัย
6.?เสวนานิยามคำว่า “มนุษยธรรม”
7.?โต๊ะจีนการกุศล “ราตรีแห่งมิตรภาพ”
8.?การแสดงชุดแต่งกายมุสลิมผ้าสะระบัน
9.?MTF2019 FUTSAL CUP การแข่งขันฟุตซอลชิงถ้วยนายกรัฐมนตรี
10.?การออกร้านเพื่อจำหน่ายสินค้า ทั้งอาหาร เสื้อผ้า และของใช้