posttoday

โพลระบุคนไทยเชื่อมั่นกฟผ.หากนำเข้าก๊าซมาผลิตพลังงานไฟฟ้า

22 ตุลาคม 2562

โพลชี้คนไทยเชื่อมั่น หาก กฟผ.นำเข้าก๊าซเพื่อความมั่งคงในการผลิตไฟฟ้า แสดงให้เห็นว่า กฟผ. เริ่มมีภาพลักษณ์ใหม่ที่ชัดเจนมากขึ้นในอีกด้านหนึ่ง

โพลชี้คนไทยเชื่อมั่น หาก กฟผ.นำเข้าก๊าซเพื่อความมั่งคงในการผลิตไฟฟ้า แสดงให้เห็นว่า กฟผ. เริ่มมีภาพลักษณ์ใหม่ที่ชัดเจนมากขึ้นในอีกด้านหนึ่ง

พลังงานไฟฟ้าถือเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยในประเทศไทยมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นหน่วยงานภาครัฐที่มีบทบาทหลักในการผลิตไฟฟ้า เพื่อรักษาความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า และแม้ว่าในปัจจุบัน กฟผ. จะมีการผลิตพลังงานไฟฟ้าโดยใช้การกระจายสัดส่วนของเชื้อเพลิงประเภทต่างๆ แต่ก๊าซธรรมชาติยังคงเป็นเชื้อเพลิงหลักที่ใช้ในการผลิตเพราะเป็นเชื้อเพลิง สามารถใช้ผลิตไฟฟ้าได้ต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง ซึ่งก๊าซธรรมชาติที่ กฟผ. นำมาใช้มีทั้งการซื้อจากอ่าวไทย และการนำเข้าจากต่างประเทศ จนกระทั่งในปี 2560 มีนโยบายจากภาครัฐให้ กฟผ. เปิดประมูลนำเข้าก๊าซธรรมชาติ

สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (Super poll) ได้สำรวจความเห็นของประชาชนซึ่งสะท้อนให้เห็น ถึงความเชื่อมั่นที่มีต่อ กฟผ.ในการนำเข้าก๊าซธรรมชาติมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า โดย ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล ได้เปิดเผยถึงผลโพลสำรวจความคิดเห็นว่า ประชาชนร้อยละ 31.78 มีความเชื่อมั่นมากถึงมากที่สุดหาก กฟผ. จะเข้าไปดำเนินธุรกิจนำเข้าก๊าซ และน้ำมันเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้า ในขณะที่ประชาชนร้อยละ 53.48 มีความเชื่อมั่นปานกลาง และมีเพียงร้อยละ 1.08 เท่านั้นที่ไม่เชื่อมั่น

โพลระบุคนไทยเชื่อมั่นกฟผ.หากนำเข้าก๊าซมาผลิตพลังงานไฟฟ้า

ด้าน ดร. อัจฉรา ปัณฑรานุวงศ์ นักวิชาการด้านการประชาสัมพันธ์ และการสื่อสารองค์กร คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อ กฟผ. หากดำเนินธุรกิจนำเข้าก๊าซ และน้ำมันเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้า มีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นจากผลโพลในปัจจุบันที่ประชาชนมีความเชื่อมั่นระดับปานกลางไปจนถึงระดับมากที่สุดถึงร้อยละ 85 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า กฟผ. เริ่มมีภาพลักษณ์ใหม่ที่ชัดเจนมากขึ้นในอีกด้านหนึ่ง คือ ด้านการดำเนินธุรกิจดังกล่าว เพราะที่ผ่านมา กฟผ. มีภาพลักษณ์ด้านการรักษาความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าของประเทศ และการอนุรักษ์พลังงานไฟฟ้าเป็นหลัก

ขณะที่ กลุ่มตัวอย่างได้แสดงความเห็นว่า หากไม่มี กฟผ.ชาวบ้านก็มองไม่เห็นว่า จะมีผู้ผลิตไฟฟ้ารายใดที่จะสร้างความเชื่อมั่นได้มากกว่า กฟผ. โดยเชื่อว่าถ้า กฟผ. เข้าไปดำเนินธุรกิจนำเข้าก๊าซ และน้ำมันเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้า น่าจะส่งผลดีต่อการผลิตไฟฟ้าในอนาคต เพราะจะทำให้ กฟผ. มีตัวเลือกของแหล่งก๊าซธรรมชาติที่อาจมีต้นทุนถูกกว่าในปัจจุบัน รวมทั้งหากมีรูปแบบการซื้อขายก๊าซล่วงหน้าก็จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายหากราคาก๊าซเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต