posttoday

สสจ.ตรัง ตั้งเป้าปี 2563 ลดสิงห์อมควันเหลือร้อยละ 21 เน้นป้องกันนักสูบหน้าใหม่ สนับสนุนการบำบัดเพื่อช่วยเลิกบุหรี่ เสริมพลังเครือข่ายประชาชนเข้มแข็ง

10 ตุลาคม 2562

จากการสำรวจข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2560 พบว่าประชาชนในจังหวัดตรังสูบบุหรี่ประมาณ 120,000 คน โดยผู้ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป

 

จากการสำรวจข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2560 พบว่าประชาชนในจังหวัดตรังสูบบุหรี่ประมาณ 120,000 คน โดยผู้ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป สูบบุหรี่ ร้อยละ 24.23 สูงกว่าระดับประเทศประมาณ ร้อยละ 5 ซึ่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง ได้กำหนดเป้าหมายว่า ภายในปี 2563 จะลดอัตราการสูบบุหรี่ให้เหลือ ร้อยละ 21 ผ่านการดำเนินนโยบายที่เข้มแข็งทั้งเชิงรุกและเชิงรับ ป้องกันนักสูบนักหน้าใหม่ สนับสนุนการบำบัดเพื่อช่วยเลิกบุหรี่ สร้างชุมชนปลอดบุหรี่ ควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด

ขณะที่ ข้อมูลในระบบ 43 แฟ้มมาตรฐานด้านการแพทย์และสุขภาพ (Health Data Center : HDC) ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง พบว่า ในปีงบประมาณ 2562 มีจำนวนประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ได้รับการคัดกรองการติดบุหรี่ จำนวน 127,114 คน พบว่าสูบบุหรี่ 32,118 คน สูบบุหรี่แต่เลิกแล้ว 4,181 คน ได้รับการบำบัด 30,231 คน เลิกบุหรี่ได้ 1 เดือน 252 คน เลิกได้ 3 เดือน 318 คน เลิกได้ 6 เดือน 1,714 คน  (ข้อมูล ณ วันที่  7 ตุลาคม 2562)

นางณินท์ญาดา รองเดช นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ ผู้รับผิดชอบงานควบคุมการบริโภคยาสูบ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง กล่าวถึงภาพรวมมาตรการควบคุมยาสูบของจังหวัดว่า สสจ.ตรัง ได้สนับสนุนกลไกการดำเนินงานควบคุมการบริโภคยาสูบ ด้วยการพัฒนาศักยภาพบุคคลากรที่เกี่ยวข้อง การป้องกันนักสูบหน้าใหม่ การบำบัดช่วยเลิก การทำให้สิ่งแวดล้อม ชุมชนปลอดบุหรี่ และการบังคับใช้กฎหมาย

สำหรับกลไกในการดำเนินงานระดับจังหวัดนั้น นางณินท์ญาดา เล่าว่า ก่อนหน้านี้ดำเนินการผ่านคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของจังหวัด แต่เมื่อมีพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ที่มีการกำหนดว่าในระดับพื้นที่จะต้องมีคณะกรรมการควบคุมยาสูบระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการจัวหวัดเป็นประธาน มีตัวแทนจากหน่วยงานราชการ 16 หน่วยงาน เป็นกรรมการ และมีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เป็นเลขานุการ มีผู้ทรงคุณวุฒิอีก 6  คนเป็นกรรมการ เพื่อขับเคลื่อนงานควบคุมยาสูบตามแผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตาม ตาม พ.ร.บ.ควบคุมยาสูบฯ และแผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบฯ สสจ.ตรัง ได้มีนโยบายในการผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนการควบคุมยาสูบไปทุกอำเภอ โดยตั้งคณะทำงานระดับอำเภอ มีนายอำเภอเป็นประธาน สาธารณสุขในอำเภอเป็นเลขานุการ ผลการดำเนินงานในภาพรวมพบว่าอัตราการสูบลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ยังอยู่ในระดับที่ไม่น่าพอใจ พร้อมตั้งเป้าจะลดการสูบบุหรี่ให้เหลือ ร้อยละ 21 ภายในปี 2563

“เมื่อมีกฎหมายใหม่ มีงบประมาณสนับสนุนจาก สสส. ทำให้มีการประชุมคณะกรรมการระดับจังหวัดมากขึ้น เห็นการเปลี่ยนแปลงในการดำเนินนโยบายมากขึ้น ซึ่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ให้ความสำคัญ และเห็นว่าทุกหน่วยงานพยายามทำงานช่วยเลิกอย่างเต็มที่ ทั้งการทำให้สถานที่ราชการปลอดบุหรี่ โดยเฉพาะศาลากลางจังหวัดจะต้องทำให้เป็นสถานที่ปลอดบุหรี่ พร้อมทั้งมีการประชุมติดตามผลอย่างต่อเนื่อง” นางณินท์ญาดา กล่าว

ส่วนจุดเด่นของจังหวัดตรัง คือ การมีภาคประชาชนที่เข้มแข็งเข้ามาเสริมทัพ ทำให้เข้าถึงชุมชนอย่างตรงจุด ประกอบกับผู้นำชุมชนที่มีบทบาทสำคัญในการชวนช่วยเลิกบุหรี่  ทำให้ชาวบ้านเห็นความสำคัญและเข้าร่วมโครงการมากขึ้น

ด้านนายวาที ศิริสวัสดิ์ศิลป์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานสุขศึกษา โรงพยาบาลตรัง กล่าวว่า  โรงพยาบาลตรังเป็นโรงพยาบาลปลอดบุหรี่ตามกฎหมาย 100 % ผู้ที่เข้ามารับบริการต้องเข้าใจกฎเกณฑ์นี้ และเมื่อเข้ามาในพื้นที่ต้องไม่สูบบุหรี่ ทำให้สามารถยับยั้งตนเองได้ในระดับหนึ่ง ส่วนการดำเนินงานคลินิกเลิกบุหรี่ในขณะนี้ ได้ขยายการทำงานเป็นเชิงรุกมากขึ้น โดยประสานกับสถานประกอบการในพื้นที่ เพื่อเข้าถึงผู้สูบบุหรี่ที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่ได้มากขึ้น ถือเป็นการทำงานเชิงรุก เนื่องจากสถานประกอบการอาจติดปัญหาเรื่องการเดินทางเข้ามารับบริการที่โรงพยาบาล จึงมีการจัดทีมสหวิชาชีพที่ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล จากคลินิกฟ้าใส นักวิชาการสาธารณสุข กลุ่มงานสุขศึกษาเวชกรรมสังคม กลุ่มงานอาชีวะอนามัย ออกมาให้บริการนอกพื้นที่ รวมทั้งช่วยปรับสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการเลิกบุหรี่ด้วย โดยออกหน่วยให้บริการในสถานประกอบการหลายแห่ง เป็นการบูรณาการเข้ากับงานส่งเสริมสุขภาพและสภาพแวดล้อมด้านความปลอดภัย ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เพราะสถานประกอบการไม่ต้องส่งตัวพนักงานที่สูบบุหรี่มารับบริการที่คลินิกฟ้าใส

สำหรับปัจจัยความสำเร็จในการทำงานร่วมกับภาคเอกชนเพื่อขับเคลื่อนงานเลิกบุหรี่ นั้น นายวาที ระบุว่า ผู้บริหารองค์กรจะต้องมองเรื่องสุขภาพของพนักงานเป็นสิ่งที่สำคัญอันดับแรก เพราะถ้าพนักงานมีสุขภาพที่ดี ผลงานก็จะออกมาดีตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

ด้านนายวิโรจน์ วงศ์รักษา ผู้จัดการอาวุโส ส่วนทรัพยากรบุคคลและธุรการ บริษัท แปลน ครีเอชั่นส์ จำกัด ตำบลทุ่งกระบือ อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง กล่าวว่า บริษัท แปลน ครีเอชั่นส์ จำกัด เป็นสถานประกอบการที่มีการดำเนินการเกี่ยวกับการลด ละ เลิกบุหรี่ โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผ่านโครงการส่งเสริมการขยายฐานการสร้างเสริมสุขภาพในสถานประกอบการ สมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม จากความร่วมมือกับ สสส. และสมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทำให้ในปีที่ผ่านมามีพนักงานเลิกบุหรี่ได้เด็ดขาด 3 คน จากผู้ที่เข้าร่วมโครงการ 50 คน วิธีการดำเนินงาน คือ มีคลินิกลดละเลิกบุหรี่ที่ห้องพยาบาล จัดสถานที่สูบบุหรี่ให้อยู่ในจุดที่ห่างไกล นอกจากนี้ ยังมีทีมวิทยากรจากโรงพยาบาลตรังมาอบรมให้ความรู้ และเข้ามาติดตามผลอย่างต่อเนื่อง และเพื่อผลักดันให้เป็นโรงงานปลอดบุหรี่ 100% ทางโรงงานได้พยายามควบคุมช่วงเวลาในการสูบบุหรี่ โดยบริษัทยังสร้างแรงจูงใจให้พนักงานด้วยการให้เงินรางวัล และสำรวจพนักงานทุกปี ว่ายังมีใครสูบบุหรี่อยู่บ้าง หากพบก็จะเข้าไปช่วยให้คำแนะนำ พร้อมย้ำว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ บริษัทจะต้องช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้พนักงานอยากเลิกก่อน หากใช้แต่มาตรการบังคับ เมื่อพนักงานกลับไปบ้านก็จะสูบบุหรี่เช่นเดิม ดังนั้นเมื่อทำให้พนักงานมีแรงบันดาลใจก็จะมีความมุ่งมั่นที่จะเลิกได้อย่างเด็ดขาด

สสจ.ตรัง ตั้งเป้าปี 2563 ลดสิงห์อมควันเหลือร้อยละ 21 เน้นป้องกันนักสูบหน้าใหม่ สนับสนุนการบำบัดเพื่อช่วยเลิกบุหรี่ เสริมพลังเครือข่ายประชาชนเข้มแข็ง

ขณะที่พนักงานต้นแบบของบริษัท แปลนครีเอชั่นส์ จำกัด ทั้ง 3 คน ที่สามารถเลิกบุหรี่ได้ คือ นายวิโรจน์ สันเพชร นายทัสนัย เทียมสอน และนายกมล บริสุทธิ์ บอกตรงกันว่า เมื่อเลิกบุหรี่ได้แล้ว รู้สึกร่างกายแข็งแรงขึ้น ปฏิบัติงานได้ดีขึ้น สังคมรอบข้างให้การตอบรับที่ดี แม้แต่ละคนจะมีรูปแบบในการเลิกและวิธีการที่แตกต่างกันก็ตาม พร้อมย้ำว่า การที่บริษัทให้ความสำคัญในเรื่องการสร้างแรงจูงใจให้พนักงานเลิกบุหรี่ ทั้งในรูปแบบของเงินรางวัลและการอบรมให้ความรู้ รวมถึงการจัดสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เลิกบุหรี่ได้อย่างทุกวันนี้